'สวนละไม วังจันทร์' โมเดลธุรกิจหล่อเลี้ยงเกษตรกรรายย่อย กับสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร
ที่ผ่านมาการค้ำประกันสินเชื่อให้ธุรกิจภาคการเกษตรมีหลากหลาย กรณีสวนละไม คือการรับซื้อพืชผลทางการเกษตร และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้วย
“สวนละไมวังจันทร์” จังหวัดระยอง สถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร บนเนื้อที่ที่เป็นเนินเขากว่า 500 ไร่ ของ “กำนันไพโรจน์ ปิติพันธรัตน์” เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จที่ได้จากโครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร 72,000 ล้านบาท ผ่านโครงการค้ำประกัน PGS5 ที่มีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อ
การดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา กำนันไพโรจน์ บอกว่า เขาต้องใช้เงินทุนตัวเองทั้งหมด มีปัญหาเรื่องหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยเฉพาะการไปใช้สินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 5 ล้านบาท กระทั่งได้ บสย.เข้ามาช่วยค้ำประกันให้จำนวน 3.8 ล้านบาท จึงมีเงินมาเป็นทุนหมุนเวียน รับซื้อผลไม้จากเกษตรกรในเครือข่าย
“ทุเรียน” คือ หัวใจ บุฟเฟ่ต์กินไม่อั้นของสวนละไม แต่ละสัปดาห์ เขาต้องใช้เงินซื้อทุเรียนจากเกษตรกรในเครือข่ายไม่ต่ำกว่าหลักล้านบาท ยิ่งปีนี้สภาวะโลกร้อน แล้งจัด ผลผลิตออกน้อย รวมถึงการเข้ามากว้านซื้อผลไม้ของพ่อค้าคนจีน ยิ่งส่งผลให้ราคาทุเรียนพุ่งมากสุดในรอบหลายปี และราคาจะแพงแบบนี้ไปอีกไม่ต่ำกว่า 3 ปี (อ่านประกอบ:เจ้าของสวนละไม ชี้ 'ล้งจีน' เหมาสวนทุเรียน ให้ราคาดี เชื่อเกษตรกรดีใจไม่เกิน 3 ปี)
“ที่นี่ก็เป็นสวนผลไม้แห่งเดียวที่ซื้อทุเรียนไม่เคยต่อใคร คุณขายเท่าไหร่ คุณตั้งราคามา ผมไม่ต่อ แต่เกษตรกรต้องยอมรับเงื่อนไข หากทุเรียนของคุณอ่อน ตีคืนหมด และเราจะหยุดค้าขายด้วย เพราะถือว่าคุณไม่ซื่อสัตย์กับลูกค้า ผมซื้อทุเรียนราคาส่งสูงสุด 102 บาทต่อกิโลกรัม ต่ำสุด 95-98 บาทต่อกิโลกรัม หากคุณซื้อของถูกปอกทิ้ง 20-30% ก็แย่แล้ว ทุเรียนอ่อนไม่มีคุณภาพกินเข้าไปมันจืด ลูกค้าทิ้งถังขยะ แต่หากทุเรียนดี ทุเรียนเกรดเอ กินได้ทุกเม็ด”
เจ้าของสวนละไม ชี้ว่า แนวคิดการรับซื้อผลไม้ ที่มีคุณภาพ ในราคาที่เกษตรกรพอใจนั้นจะกลายเป็นแรงจูงใจให้เกษตกรสร้างคุณภาพผลิตผลทางการเกษตร
ก่อนจะมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรอย่างปัจจุบัน กำนันไพโจรน์ เล่าว่า แต่เดิมพื้นที่แห่งนี้ เคยปลูกมันสำปะหลัง อ้อย เป็นพื้นที่ปลูกพืชล้มลุก มีโรงงานเข้ามารับซื้อผลิตผล แต่เมื่อโรงงานย้ายออกไปแล้ว คนในชุมชนวังจันทร์ ก็หันมาปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน
เขาก็เช่นกันที่หันมาปลูกทั้งยาง และปาล์มไม่ได้แตกต่างจากชาวบ้านแถวนี้
แต่เมื่อมองเห็นศักยภาพของพื้นที่ ที่น่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ อีกทั้งเห็นว่า จังหวัดระยองมีจุดเด่นที่ ทะเล ภูเขา และผลไม้ กำนันไพโรจน์ จึงมีแนวคิดทำสวนผลไม้ เมื่อ 15 ปีที่แล้ว
เริ่มลงมือปลูกตั้งแต่ส้มโอ เงาะ มังคุด ชมพู่ ลองกอง ทุเรียน มะยงชิด ฯลฯ
จาก 'สวน' แบบดั่งเดิม ปลูกเอง ขายเอง พัฒนาเป็นธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตร นำระบบบริหารจัดการซัพพลายเชนมาใช้ สุดท้ายเปิดให้นักท่องเที่ยว ชม ช็อป ชิม บุฟเฟ่ต์ผลไม้ เมื่อไม่นานมานี้เอง
จากราคาบัตรเข้าชมสวนต่อหัว 250 บาท ถึงวันนี้เขาบอกว่า จำเป็นขึ้นราคาเป็น 400 บาท ด้วยราคาทุเรียนปีนี้แพง!
“สวนละไมวังจันทร์” เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมสวนผลไม้ ครั้งแรกปี 2557 สัปดาห์แรก กำนันไพโรจน์ บอกว่า ถึงกับนั่งหาวเพราะไม่มีคนมาเที่ยวมา แต่พอผ่านไป 1 เดือน ตัวเลขนักท่องเที่ยวกระโดดพุ่งเป็น 2 หมื่นกว่าคน พอปี 2558 นักท่องเที่ยว 9 หมื่นกว่าคน ปี 2559 นี้ เชื่อว่า จำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะทะลุหลักแสนคนขึ้นไปแน่นอน
“เราไม่สามารถปลูกทุเรียนให้นักท่องเที่ยวกินเป็นแสนคนได้ หากจะมีทุเรียนรองรับนักท่องเที่ยวขนาดนี้ได้ ต้องปลูกทุเรียน ปลูกเงาะเป็นพันๆ ไร่ ผมจึงคิดโมเดลธุรกิจ จัดตั้งเป็น วิสาหกิจชุมชน กระจายรายได้สนับสนุนเกษตรกรรายย่อย 40-50 ราย ให้รวมตัวกันเป็นเครือข่าย โดยสวนละไมรับซื้อผลไม้ในพื้นที่กว่า 170 ตันต่อฤดูกาล มูลค่ารวมกว่า 11 ล้านบาท เพื่อมารองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมสวน”
ในอนาคต สวนละไมยังไม่หยุดอยู่แค่นี้ เขาวางแผนต่อยอดธุรกิจ เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เที่ยวชมสวนชาอู่หลง อุทยานดอกไม้เหมืองหนาว และสวนสตอเบอรี่
"สวนละไมไม่ได้เดินไปคนเดียว ผมมีโครงการจับมือกับชาวบ้านในพื้นที่รัศมีไม่เกิน 3.5 กิโลเมตรห่างจากสวนละไม เปิดเป็นบ้านพักโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวเข้าพัก รวมไปถึงปลูกป่าในพื้นที่ 200 ไร่ โดยให้นักท่องเที่ยวลงมือปลูกแต่ละต้นจะมีการสลักชื่อเอาไว้ด้วย"
ด้านนายนิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. ระบุถึงการเข้ามาช่วยเหลือ SME โดยเฉพาะภาคการเกษตร ผ่านโครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร เป็นการทำงานเชิงรุก เข้าไปหาลูกค้า และยังได้การทำงานเป็นพันธมิตรกับ ธ.ก.ส.เดินไปด้วยกัน จนสามารถค้ำประกันสินเชื่อให้ภาคการเกษตรได้เกือบ 2 พันล้านบาทแล้ว ดังนั้น การทำธุรกิจภาคการเกษตร หากไม่มีหลักค้ำประกัน วันนี้ไม่ต้องกลัว
ขณะที่นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บสย. กล่าวว่า ที่ผ่านมาการค้ำประกันสินเชื่อให้ธุรกิจภาคการเกษตรมีหลากหลาย กรณีสวนละไม คือการรับซื้อพืชผลทางการเกษตร และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้วย ดังนั้นการค้ำประกันของ บสย. จะพิจารณาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรเป็นหลัก
"ของสวนละไม หลักทรัพย์ซึ่งเป็นที่ดิน กสน.5 (การออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์) ไม่สามารถนำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ บสย.จึงเข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้"
นายเกรียงไกร กล่าวถึงการให้การค้ำประกันสินเชื่อ ของ บสย. สูงสุด อันดับหนึ่ง คือ กลุ่มธุรกิจภาคบริการ อนุมัติค้ำประกันไปแล้ว 7,200 ล้านบาท อันดับ 2 ธุรกิจผลิตสินค้าทั่วไป 4,5ึ70 ล้านบาท และอันดับ 3 ธุรกิจภาคเกษตร อนุมัติไป 39,000 ล้านบาท ช่วยเหลือภาคเกษตร 3,942 ล้านบาท เป็นโครงการ สินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME ประมาณ 1,600 ล้านบาท