ผบ.ทบ.อ้างรักษาเกียรติกองทัพ แจ้งจับ 3 นักสิทธิฯเปิดรายงานซ้อมทรมาน
โฆษก กอ.รมน.ออกมาชี้แจงเหตุผลที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งจับนักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อธำรงเกียรติของกองทัพ หลังมีการเปิดรายงานกล่าวหาทหารซ้อมผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยในพื้นที่จนทำให้เสียหาย
พ.อ.พีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) แถลงในวันที่ 10 มิ.ย.59 ว่า พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะ รอง ผอ.รมน. ได้สั่งการให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ดำเนินการฟ้องร้องผู้ที่ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 3 คน ที่กล่าวหาว่าทหารทารุณกรรมผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ถูกจับกุมได้
การแจ้งความดำเนินคดีครั้งนี้เพื่อเป็นการธำรงเกียรติของกองทัพ เนื่องจากการทำงานของเจ้าหน้าที่ยึดหลักกฎหมาย และนโยบายการแก้ปัญหาที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชนตามที่ ผบ.ทบ.เน้นย้ำเสมอให้เป็นไปตามหลักสากล
นอกจากนั้น ทั้งระหว่างการสอบสวนและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ตลอดมา กองทัพเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้าตรวจสอบได้ตลอดเวลา ฉะนั้นเมื่อมีการกล่าวหาโดยไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน จึงต้องมีการแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งขณะนี้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการต่อไป
"พรเพ็ญ"เผยโดนหมิ่นประมาทควบ พ.ร.บ.คอมพ์
ด้าน น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผย “ทีมข่าวอิศรา” ว่า เป็น 1 ใน 3 เอ็นจีโอที่ถูกแจ้งความดำเนินคดี โดยสาเหตุมาจากการเผยเเพร่รายงานการซ้อมทรมานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ทำให้กองทัพไม่พอใจ และได้มอบอำนาจให้ กอ.รมน.ภาค 4 สน.แจ้งความดำเนินคดี โดยผู้ที่ถูกแจ้งความกล่าวโทษ นอกจากตนเองแล้ว ยังมี นายสมชาย หอมลออ นักสิทธิมนุษยชนชื่อดัง และ น.ส.อัญชนา หีมมินะ จากกลุ่มด้วยใจ ในฐานะผู้ที่ทำงานภาคประชาสังคมในพื้นที่ด้วย
สำหรับข้อหาที่มีการแจ้งความ คือ ร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาโดยเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) โดยเป็นการร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองยะลา ซึ่งขณะนี้พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำพยานไปแล้ว 6 ปาก
น.ส.พรเพ็ญ บอกด้วยว่า ไม่เห็นด้วยที่มีการแจ้งความเอาผิดตามกฎหมายคอมพิวเตอร์ร่วมกับความผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะที่ผ่านมาก็เคยมีบรรทัดฐานจากคำพิพากษาของศาลบางคดีมาแล้ว
ประชาสังคมชายแดนใต้ฮือจี้ถอนแจ้งความ
หลังจากมีการแจ้งความดำเนินคดีกับเอ็นจีโอทั้ง 3 คน ปรากฏว่าองค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ทำงานในพื้นที่ชายแดนใต้ ได้พากันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ กอ.รมน.ภาค 4 สน.ถอนแจ้งความ
นอกจากนั้น สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา หรือ LEMPAR ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เครือข่ายนักสิทธิมนุษยชนทั้งในและระหว่างประเทศ ช่วยกันรณรงค์ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คน และขอให้ภาครัฐให้ความเป็นธรรมและเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนว่าด้วยสิทธิของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยจะต้องได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแห่งรัฐ
รู้จักรายงานซ้อมทรมานชายแดนใต้
สำหรับรายงานที่เป็นปัญหา ใช้ชื่อว่า “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557 – 2558” โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม พร้อมด้วยเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี และกลุ่มด้วยใจ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเปิดตัวรายงานฉบับนี้ ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เมื่อวันที่ 10 ก.พ.59
เนื้อหาในรายงาน เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างปี 2557-2558 จากผู้ร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมาน ซึ่งมีการร้องเรียนตั้งแต่ปี 47 จนถึงขณะจัดทำรายงาน รวม 54 ราย โดยข้อมูลเกือบทั้งหมดมาจากคำบอกเล่าฝ่ายเดียวของผู้ร้องเรียน
ฝ่ายความมั่นคงโดย กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้ออกมาแถลงปฏิเสธข้อมูลตามรายงานฉบับนี้อย่างสิ้นเชิง และขู่จะฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ช่วงหลังกิจกรรมเปิดตัวรายงาน
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 พ.อ.พีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษก กอ.รมน.
2 หน้าปกรายงานการซ้อมทรมานฯ ที่เป็นปัญหา
อ่านประกอบ : รายงานเปิดปากคำ 54 ผู้ร้องเรียนถูกทรมานชายแดนใต้