สำรวจจุดอ่อน-เสริมจุดแข็ง ร่างพ.ร.บ.สภาเกษตรกร
ขยับไปอีกก้าวสำหรับร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.… ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้เสนอ ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบไปเมื่อ 21 ตุลาคม ที่ผ่านมา
ทั้งนี้เมื่อพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านขั้นตอนในสภาฯ กระทั่งมีผลบังคับใช้และมีลักษณะการดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ ผลักดันจริง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อกฎหมายดังกล่าวจะช่วยสร้างมิติใหม่ให้กับสังคมเกษตรกร ไทย
หากแต่เมื่อกลับมาพิจารณาเฉพาะแต่เพียงเนื้อหาของร่างพ.ร.บ. แล้ว ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้คลุกคลีกับการเมืองภาคประชาชนและมีส่วนร่วมในการต่อต้านร่างพ.ร.บ.สภาการ เกษตรแห่งชาติ (ขณะนั้น) ในสมัยรัฐบาลพลเอกสรยุทธ์ ซึ่งมีเนื้อหาคาบเกี่ยวกันกับร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวนี้ ให้ข้อสังเกตว่า ด้วยบทบาทหน้าที่ที่ระบุไว้ในเนื้อหา อาจทำให้สภาเกษตรกรที่จะเกิดขึ้น มีลักษณะเป็นเพียงองค์กรที่ให้คำปรึกษา และจัดทำแผนแม่บทเพื่อเสนอต่อกระทรวงฯ เท่านั้น แต่มิได้มีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจ หรือดำเนินการใดๆ ที่จะเป็นการสนับสนุนส่งเสริมในด้านการเกษตรไปมากกว่านี้ โดยเฉพาะกับเกษตรกรรายย่อย ที่ควรให้ความสำคัญและพื้นที่แสดงความเห็น ความต้องการมากกว่ากลุ่มอื่นๆ
ผศ.ดร.ประภาส กล่าวต่อว่า หน้าที่ของสภาฯที่ระบุไว้ มีแนวโน้มคล้ายกับองค์กรอื่นๆ ที่เคยเกิดมาแล้ว เช่น สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาองค์กรชุมชน ฯลฯ ที่มีบทบาทหน้าที่เสนอเพียงองค์ความรู้ งานวิจัย หรือคำปรึกษาซึ่งไม่เพียงพอต่อการพัฒนาการเกษตรในประเทศอย่างแน่นอน
“เมื่อเป็นเพียงการให้คำปรึกษา นั่นเท่ากับว่า จะเอาก็ได้ไม่เอาก็ได้ ซึ่งประโยชน์ที่เกิดขึ้นมันมีน้อย ไปๆมาๆ สภาฯ ก็จะเหมือนกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เคยมีมา ไม่ได้ยกระดับหรือพัฒนาอะไรมากขึ้นเลย” ผศ.ดร.ประภาสกล่าว
นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์ฯ กล่าวอีกว่า ประเด็นเรื่องระเบียบวิธีสรรหาสมาชิกสภาฯ ก็เป็นเรื่องที่อาจจะมีปัญหา เนื่องจากเนื้อหาที่ระบุไว้ไม่คลอบคลุมมากพอ อาจทำให้ได้มาซึ่งเพียงเกษตรกรรายใหญ่ อาทิ ตัวแทนจากองค์กรที่มีการรวมตัวกันอย่างเป็นทางการและรู้จักกันดีภายในพื้นที่ ซึ่งองค์กรเหล่านี้มักมีรัฐเป็นผู้กำกับอยู่ และพื้นที่ในการแสดงความเห็นอยู่แล้ว ทำให้การดำเนินงานอาจมีลักษณะที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรรายย่อยเท่าที่ควร
“มันไม่ควรมีการดีไซน์กฎหมายออกมาให้เป็นลักษณะตัวแทน ลักษณะเช่นนี้มันเหมือนกับประชาธิปไตยแบบตัวแทน ลงทะเบียนเพื่อเลือกตัวแทนเข้าไป ซึ่งก็ได้แต่พวกที่อยู่ข้างบน แต่สภาฯ ควรมีหน้าที่ส่งเสริมเครือข่ายของเกษตรกรที่อยู่ด้านล่าง เพื่อสร้างพลังอย่างไม่เป็นทางการ ให้มีการพัฒนาด้านการเกษตรอย่างเข้มแข็ง”
“นอกจากนี้เมื่อถูกระบุด้วยกลุ่มอาชีพเฉพาะด้าน เราก็อาจจะได้นายกสมาคมกล้วยไม้ นายกสมาคมเลี้ยงสุกร เลี้ยงไก่ ฯลฯ ซึ่งเขามีพื้นที่อยู่แล้ว เช่นอยู่ในระบบอุตสาหกรรม ทำให้ไม่ได้มาซึ่งตัวแทนของเกษตรกรรายย่อย แล้วถ้าเป็นแบบนี้อยากถามว่ากลุ่มสมัชชาคนจน กลุ่มสมาคมประมงพื้นบ้านจะเข้าไปอยู่นี้ส่วนนี้ได้อย่างไร”
ผศ.ดร. ประภาส กล่าวต่ออีกว่า มีบทบาทหลายประการที่สภาฯ ควรเข้ามาดูแลและส่งเสริมให้เป็นรูปธรรมให้ได้ อาทิ 1. คุ้มครองสิทธิของเกษตรกรที่จะได้รับหลักประกันและความคุ้มครองเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือความไม่เป็นธรรมในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของเกษตรกรรายย่อย 2. คุ้มครองที่ดินทำกินและการเข้าถึงทรัพยากรของชุมชนเกษตรกรรม รวมทั้งสิทธิของเกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกินที่ต้องมีสิทธิ์ขั้นต่ำเพื่อใช้ในการผลิต 3.ส่งเสริมและคุ้มครองด้านสวัสดิการของเกษตรกรในฐานะที่เป็นอาชีพที่จะต้องมีหลักประกันในการดำรงชีพทั้งก่อน ระหว่างและหลังการประกอบอาชีพเกษตรกรรม 4. ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมในการรวมตัวเพื่อสร้างอำนาจต่อรองของเกษตรกรรายย่อย 5. เป็นองค์กรของเกษตรกรรายย่อยที่สามารถเข้าไปร่วมกำหนดนโยบาย ติดตามและประเมินผลนโยบายด้านเกษตรกรรม
ด้านศาสตราภิชานแล ดิลกวิทยารัฐ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาแรงงานและจัดการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า นอกจากเนื้อหาที่จะต้องให้ความสำคัญแล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดสำคัญคือ การได้มาของตัวแทนสภาเกษตรกรซึ่งในที่นี้หมายถึงการได้มาของสมาชิก เพื่อให้เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง มิใช่เป็นเพียงกลไกทางการเมือง ซึ่งการได้มาของสมาชิกย่อมมีส่วนต่อการกำหนดทิศทางการทำงาน รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า จะมีหลักประกันเพื่อรับรองว่ากระบวนการสรรหาอันได้มาซึ่งสมาชิกของสภาฯนั้น ต้องมาจากประชาชนหรือเกษตรกรในส่วนท้องถิ่นจริงๆ รวมถึงดำเนินการอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม
“มีวิทยานิพนธ์ หรือเหตุการณ์ที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นว่า ที่มาของสมาชิกมีผลต่อการเข้าถึงแหล่งทุน หมายความว่า ฝ่ายที่เข้าไปนั่งเป็นสมาชิกได้มาก ก็มักจะเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มของตัวเอง เป็นฝ่ายได้เปรียบต่อการเข้าถึงแหล่งทุน” ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาแรงงานและจัดการ กล่าวทิ้งท้าย