ปรากฏการณ์‘คนดัง-นักการเมืองใหญ่’ พาเหรดเข้าคุก-จ่อคิวอีกเพียบ?
“…มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจเข้ามาบริหารประเทศในช่วงกลางปี 2557 เป็นต้นมา กระบวนการยุติธรรมไทยเริ่มจะรุดหน้าไปได้เร็วมากขึ้น รวมถึงศาลมีคำพิพากษาออกมาค่อนข้างรุนแรง นับเป็นบรรทัดฐานใหม่ ที่ทำให้นักการเมือง-ข้าราชการ-เอกชน ในปัจจุบันและในอนาคต จะต้อง ‘พึงระวัง-ตระหนัก’ ว่า ไม่ควรทำอะไรที่ลึกลับซับซ้อน-ไม่ชอบมาพากลอีก…”
ปิดฉากเส้นทางการเมืองไปอีก 2 ราย !
สำหรับ ‘ชูชีพ หาญสวัสดิ์’ อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ ยุค ‘ทักษิณ ชินวัตร’ และ ‘วิทยา เทียนทอง’ น้อง ‘ป๋าเหนาะ’ นายเสนาะ เทียนทอง อดีตเลขานุการ รมว.เกษตรฯ (สมัยนายชูชีพ) ภายหลังถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษา ‘จำคุก’ คนละ 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา
ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และร่วมกับฮั้วประมูลการจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์เพื่อแจกเกษตรกรที่เดือดร้อนเมื่อปี 2544-2545 กว่า 1.3 แสนตัน รวมวงเงินกว่า 367 ล้านบาท
(อ่านประกอบ : จำคุกคนละ 6 ปี! ศาลฎีกาฯฟัน‘ชูชีพ-วิทยา’ทุจริตจัดซื้อปุ๋ย 1.3 แสนตันปี’ 44)
สำหรับนายชูชีพ และนายวิทยา ไม่ใช่เป็นกรณีแรกที่นักการเมืองชื่อดัง ถูกศาลฎีกาฯพิพากษา แล้วต้องไปชดใช้กรรมในคุก แต่ยังมีนักการเมืองระดับชาติอีกไม่น้อยที่เคยเข้าไปนอนในคุกเนื่องด้วยกระทำความผิดฐานทุจริต ?
ใครเป็นใคร ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ย้อนข้อมูลนักการเมืองระดับชาติ-บุคคลดังที่เคยต้องคำพิพากษาจากศาลให้จำคุกมานำเสนอ ดังนี้
เบื้องต้น สามารถแบ่งการพิจารณาได้ 2 ส่วน คือ คำพิพากษาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลอาญา (ศาลชั้นต้น) ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา
หนึ่ง คดีในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
เชื่อหรือไม่ ศาลฎีกาฯ เคยไต่สวนนักการเมืองระดับชาติตั้งแต่ ‘อดีตนายกฯ-รัฐมนตรี’ จนถึงอดีต ส.ส. มาจำนวนหลายสิบราย ในคดีที่เกี่ยวกับการทุจริต แต่มีเพียงนักการเมืองเพียง 4 รายเท่านั้นที่เคยได้ลิ้มรส ‘ติดคุก’ แบบจริง ๆ ไม่ทันได้หลบหนีไปไหน !
รายแรกไม่เอ่ยถึงไม่ได้ เพราะถือเป็นนักการเมืองระดับ ‘รัฐมนตรี’ คนแรกที่ถูกคำพิพากษาให้จำคุกนั่นคือ ‘รักเกียรติ สุขธนะ’ อดีต รมว.สาธารณสุข สมัยรัฐบาล ‘ชวน หลีกภัย’ และนายจิรายุ จรัสเสถียร อดีตที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข (นายรักเกียรติ) พร้อมพวกอีก 4 ราย ฐานทุจริตรับสินบน 5 ล้านบาท โดยนายจิรายุ ถูกพิพากษาให้จำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วนนายรักเกียรติได้หลบหนีไม่ยอมมาฟังคำพิพากษาจากศาลฎีกาฯ กระทั่งมีผู้พบเห็นกำลังออกกำลังกายอยู่ที่สวนธารณะ จึงแจ้งตำรวจ และนำตัวมาฟังคำพิพากษาเมื่อปี 2547 จะถูกพิพากษาให้จำคุก 15 ปี ไม่รอลงอาญา แต่ต่อมาได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ กระทั่งได้รับการพักโทษ และถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำช่วงปี 2552
ถัดจากนั้นต้องรออีกยาวนานกว่า 12 ปี จึงจะมีนักการเมืองระดับ ‘อดีตรัฐมนตรี’ ติดคุกจริงอีกครั้ง นั่นคือกรณีล่าสุดที่ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุกนายชูชีพ กับนายวิทยา ฐานทุจริตฮั้วประมูลซื้อปุ๋ย 1.3 แสนตัน ช่วงปี 2544-2545 ในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร โดนโทษเข้าไปอยู่ในซังเต 6 ปี ไม่รอลงอาญา
นอกจากนั้นแล้ว มีอดีตนักการเมืองระดับชาติจำนวนมากที่หลบหนีไม่ยอมมาฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ในคดีที่เกี่ยวกับการทุจริต ได้แก่ช่วงปี 2551 มีนักการเมืองระดับ ‘นายกรัฐมนตรี’ ถูกศาลฎีกาฯพิพากษาให้จำคุกคือ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรีผู้อื้อฉาวที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในคดีทุจริตการซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก พิพากษาให้จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา
ถัดจากนั้นไม่กี่เดือนในปี 2551 ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาให้จำคุกนักการเมืองระดับ ‘รัฐมนตรี’ อีกรายหนึ่ง คือ ‘วัฒนา อัศวเหม’ นักการเมืองชื่อดังย่านปากน้ำ-สมุทรปราการ อดีต รมช.มหาดไทย 10 ปี ฐานทุจริตการก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน
หลังจากนั้นช่วงปี 2556 ศาลฎีกาฯ ได้พิพากษาจำคุกนายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย ยุครัฐบาล ‘ทักษิณ’ 12 ปี ไม่รอลงอาญา และ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีต ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. 10 ปี ไม่รอลงอาญา ฐานทุจริตจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง กทม.
(อ่านประกอบ : หนีทั้งคู่!! ศาลฎีกาฯ จำคุก "ประชา" 12 ปี "อธิลักษณ์" 10 ปี คดีรถดับเพลิง 6 พันล้าน)
อย่างไรก็ดีนักการเมืองทั้งสี่รายข้างต้น ได้หลบหนีคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศเสียก่อนที่จะชดใช้กรรมที่ก่อไว้ในคุก !
กระทั่งล่าสุด เมื่อปี 2558 ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดามหานครโดยทุจริต ซึ่งปรากฏชื่อของ ‘ทักษิณ’ เป็นจำเลยที่ 1 โดยมี 2 อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย และนายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย ร่วมเป็นจำเลยด้วย
ทว่าคนที่โดนโทษกลับเป็น 2 ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย คือ ร.ท.สุชาย และนายวิโรจน์ กับบรรดาเจ้าหน้าที่ในธนาคารกรุงไทย พร้อมกับนิติบุคคลเครือข่ายของบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) เท่านั้น ส่วนนายทักษิณ ศาลฎีกาฯ ได้สั่งจำหน่ายคดีออกไปก่อน เนื่องจากหลบหนี
ปัจจุบันคดีดังกล่าวถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สอบสวนในความผิดฐานฟอกเงินด้วย โดยมีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับตระกูล ‘ชินวัตร’ ถูกสอบด้วยอย่างน้อย 4 ราย ได้แก่ ‘โอ๊ค’ นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ‘ทักษิณ’ นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยานายทักษิณ นายวันชัย หงษ์เหิน สามีนางกาญจนาภา และนายมานพ ทิวารี บิดา น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย
(อ่านประกอบ : พิพากษาจำคุก “ร.ท.สุชาย-วิโรจน์” 18 ปี ทุจริตปล่อยกู้กรุงไทย ชดใช้หมื่นล., ‘พานทองแท้’ให้ถ้อยคำคดีฟอกเงินกรุงไทยแล้ว-‘กาญจนาภา’ขอเลื่อน)
ขณะเดียวกันปัจจุบันยังมีนักการเมืองระดับชาติ-อดีตข้าราชการอีกอย่างน้อย 9 รายที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของศาลฎีกาฯ ไม่ว่าจะเป็นตระกูล ‘ชินวัตร’ รายที่สอง อดีตนายกฯ ‘ยิ่งลักษณ์’ น้องสาวหัวแก้วหัวแหวนของ ‘ทักษิณ’ ในคดีปล่อยปละละเลยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว
อีกสามรายเป็นคดีที่เกี่ยวพันกัน คือ ‘บุญทรง เตริยาภิรมย์’ อดีต รมว.พาณิชย์ ‘ภูมิ สาระผล’ อดีต รมช.พาณิชย์ และ ‘หมอโด่ง’ นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ (นายบุญทรง) ในคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยทุจริต อย่างไรก็ดีสำหรับ ‘หมอโด่ง’ ปัจจุบันหลบหนีคดีไปแล้ว
อีกรายหนึ่งที่โดนอย่างน้อย 2 คดี ได้แก่ ‘หมอเลี๊ยบ’ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย และถือเป็นมันสมองให้กับ ‘ทักษิณ’ โดนไต่สวนในคดีกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คือ แทรกแซงการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และเปลี่ยนแปลงสัญญาไทยคมเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน
นอกจากนี้ยังมีคดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯเมื่อปี 2551 ที่มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดเมื่อปี 2555 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้นศาลฎีกาฯเช่นเดียวกัน
กรณีนี้ นายสมชาย พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ ได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบันที่มี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธาน เพื่อขอให้ถอนฟ้องคดีดังกล่าว ปัจจุบันเรื่องนี้อยู่ระหว่างการสรุปรายงานของคณะทำงาน ป.ป.ช. ก่อนส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติว่าจะถอนฟ้องคดีดังกล่าวหรือไม่
(อ่านประกอบ : เลื่อนรอบ 2! คณะทำงาน ป.ป.ช.ขอถกผลปมถอนฟ้องคดีสลายพธม.อีกครั้ง)
สำหรับทั้ง 7 คดี 9 นักการเมืองระดับชาติ-อดีตข้าราชการที่ตกเป็นจำเลยเหล่านี้ เท่าที่ดูบัญชีนัดความแล้ว ศาลฎีกาฯ น่าจะนัดพิพากษาคดีดังกล่าวในช่วงปี 2561-2562 ทั้งหมด ดังนั้นน่าจับตาว่าบุคคลเหล่านี้จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองในชั้นกระบวนการไต่สวนของศาลฎีกาฯได้จนหมดสิ้นข้อสงสัยหรือไม่
หรือจะมีการ ‘หลบหนี’ ไปก่อนคำพิพากษาเหมือนนักการเมือง ‘รุ่นพี่’ ที่เคยทำมาแล้วในอดีต ?
สอง คดีที่ตัดสินไปแล้วในชั้นศาลอาญา (ศาลชั้นต้น) ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา นั้น มีนักการเมือง รวมถึงบุคคลชื่อดังระดับ ‘เซเล็ป’ ในสังคมหลายราย ถูกพิพากษาให้จำคุก สรุปได้ดังนี้
กรณีล่าสุดคือ ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ อดีตประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และนายปริญญา นาคฉัตรีย์ อดีต กกต. คนละ 3 ปี ลดโทษเหลือ 2 ปี ไม่รอลงอาญา ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีไม่เร่งสอบสวนข้อเท็จจริงข้อร้องเรียนกล่าวหาพรรคไทยรักไทยว่าจ้างพรรคการแผ่นดินไทย และพรรคพัฒนาชาติไทย ลงรับสมัครรับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2549
ก่อนหน้านี้ยังมีคนเด่นดังที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก ได้แก่ นายชนม์สวัดิ์ อัศวเหม อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ บุตรชาย ‘วัฒนา อัศวเหม’ ถูกพิพากษาให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน ในฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นผู้มีหน้าที่ในการเลือกตั้งหรือเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือกระทำการโดยเจตนาขัดขวางไม่เป็นไปตามกฎหมาย ปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำสมุทรปราการ
(อ่านประกอบ : ย้อนทรัพย์สินหมื่นล."ชนม์สวัสดิ์" ก่อนศาลสั่งจำคุก 1 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา)
หรือแม้แต่ ‘ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์’ อดีตเจ้าพ่ออ่าง-หัวหน้าพรรครักประเทศไทย ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 2 ปี คดีรื้อบาร์เบียร์ ซ.สุขุมวิท 10 ซึ่งเพิ่งมารับสารภาพในชั้นฎีกา ภายหลังการต่อสู้ในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ให้การปฏิเสธมาโดยตลอด
รวมไปถึง ‘เด็จพี่’ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีต ส.ส. และโฆษกพรรคเพื่อไทย พ่วงด้วยนายเกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกคนละ 1 ปี ไม่รอลงอาญา ฐานหมิ่นประมาทตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
อีกคดีหนึ่งที่ต้องรอลุ้นในวันที่ 28 มิ.ย.นี้ คือ ศาลฎีกาได้นัดอ่านคำพิพากษารอบสองในคดีกล่าวหานายขวัญชัย ไพรพนา อดีตแกนนำคนเสื้อแดงภาคอีสาน ที่ปัจจุบันถูกออกหมายจับเนื่องจากหลบหนีไม่ยอมมาฟังคำพิพากษา ในคดีทำร้ายกลุ่มพันธมิตรฯเมื่อปี 2551
ถัดมาในชั้นศาลอุทธรณ์ ปรากฏชื่อของอดีตพ่อค้าข้าวชื่อดัง ‘เสี่ยเปี๋ยง’ นายอภิชาต จันทร์สกุลพร อดีตเจ้าของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ถูกศาลอุทธรณ์จำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา ในคดียักยอกข้าวในสต๊อกของรัฐช่วงรัฐบาลนายทักษิณ ปัจจุบันติดคุกอยู่เรือนจำสมุทรปราการ แต่พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจเนื่องได้มีอาการป่วยมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2559
ทั้งนี้ ‘เสี่ยเปี๋ยง’ เป็นหนึ่งในจำเลยคดีระบายข้าวจีทูจีเก๊ ร่วมกับนายบุญทรง และนายภูมิด้วย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย
(อ่านประกอบ : ชีวิตในเรือนจำปากน้ำแดน 3 'เสี่ยเปี๋ยง' หลังเจอคุก 6 ปี ยักยอกข้าวรัฐ, เบื้องหลัง 'อิศรา' ตะลุย ‘รพ.ตำรวจ’ ค้นหาความจริง ‘เสี่ยเปี๋ยง’ ล้มป่วยจริงหรือ?)
ขณะเดียวกันยังมีสื่อมวลชนชื่อดัง ‘สนธิ ลิ้มทองกุล’ อดีตผู้บริหารกลุ่มแมเนอร์เจอร์ มีเดีย (MGR) ผู้ก่อตั้งสื่อเครือเอเอสทีวี ผู้จัดการ หนึ่งในจำเลยคดีที่ถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 20 ปี ฐานกระทำผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากนายสนธิ กับพวกร่วมกันลงข้อความเท็จในเอกสารของ MGR เมื่อช่วงปี 2540 ค้ำประกันการกู้ยืมเงินจำนวน 1,078 ล้านบาทให้แก่บริษัท เดอะ เอ็ม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ MGR โดยที่บอร์ด MGR ไม่ทราบ ต่อมาบริษัท เดอะ เอ็ม กรุ๊ปฯ ผิดนัดชำระเงินกู้ ส่งผลให้ MGR ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับภาระเป็นผู้ชำระหนี้ให้กับธนาคารกรุงไทยเป็นจำนวน 259 ล้านบาท
สำหรับคดีนี้ศาลชั้นต้นเคยพิพากษาจำคุกนายสนธิ ไปแล้วจำนวน 85 ปี แต่ให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 42 ปี 6 เดือน อย่างไรก็ดีความผิดสูงสุดในฐานความผิดดังกล่าวกำหนดให้ลงโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 20 ปี จึงลงโทษจำคุกนายสนธิคนละ 20 ปี ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ปัจจุบันคดีนี้อยู่ระหว่างฎีกา
(อ่านประกอบ : ย้อนรอยเบื้องหลังคดี "สนธิ ลิ้มฯ” ก่อนศาลอุทธรณ์ยืนโทษจำคุก 20 ปี )
ส่วนในชั้นศาลอาญา มีอดีตข้าราชการระดับสูงนั่นคือ ‘คุณหญิงเป็ด’ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และอดีตกรรมการ คตส. ถูกพิพากษาจำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันจัดสัมมนาที่ จ.น่าน เป็นเท็จ แต่กลับเป็นการไปร่วมงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน โดยเบิกค่าเดินทาง ที่พัก ตลอดจนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างอุทธรณ์
ส่วนอีกคนหนึ่งไม่เอ่ยถึงคงไม่ได้ เพราะเป็นถึง ‘อดีต’ นักเล่าข่าวชื่อดัง นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เจ้าของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ที่ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 13 ปี 6 เดือน ฐานร่วมกันสนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐ (นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด อดีตพนักงาน อสมท) ยักยอกเงินค่าโฆษณาทำให้ อสมท เสียหายกว่า 138 ล้านบาท ปัจจุบันคดีนี้อยู่ระหว่างอุทธรณ์
อย่างไรก็ดีนายสรยุทธ ยังถูกฟ้องร้องอีก 2 คดี ได้แก่ คดีฉ้อโกง ซึ่ง อสมท ฟ้องต่อศาลแขวงพระนครเหนือ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะรับฟ้องหรือไม่ และคดีปลอมแปลงเอกสารสิทธิใช้น้ำยาลบคำผิดใบคิวโฆษณา ที่ล่าสุดศาลอาญาเพิ่งประทับรับฟ้อง และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 29 ส.ค.นี้
(อ่านประกอบ : ไม่รอลงอาญา! ศาลสั่งจำคุก 'สรยุทธ-พวก' 13 ปี 4 เดือน คดีไร่ส้ม, ให้ประกันคนละ 3 แสน! ศาลรับฟ้องคดี 'สรยุทธ-พวก'ถูกกล่าวหาปลอมเอกสาร)
ทั้งหมดคือคดีความของ ‘นักการเมืองระดับชาติ-บุคคลดัง’ ที่ตกเป็นจำเลยถูกศาลพิพากษาจำคุกในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่บางรายก็อยู่ระหว่างอุทธรณ์ หรือฎีกาเพื่อสู้คดีพิสูจน์ความบริสุทธิ์กันต่อไป
อย่างไรก็ดีมีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจเข้ามาบริหารประเทศในช่วงกลางปี 2557 เป็นต้นมา กระบวนการยุติธรรมไทยเริ่มจะรุดหน้าไปได้เร็วมากขึ้น รวมถึงศาลมีคำพิพากษาออกมาค่อนข้างรุนแรง เสมือน ‘เอาจริง’ หากพบว่าบุคคลดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการทุจริต
นับเป็นบรรทัดฐานใหม่ ที่ทำให้นักการเมือง-ข้าราชการ-เอกชน ในปัจจุบันและในอนาคต จะต้อง ‘พึงระวัง-ตระหนัก’ ว่า ไม่ควรทำอะไรที่ลึกลับซับซ้อน-ไม่ชอบมาพากลอีก
เพราะไม่อย่างนั้นอาจลงเอยถึงขั้นติดคุกติดตะราง หรืออาจต้องหลบหนีไปและไม่มีโอกาสกลับประเทศอีกเลยก็เป็นได้ !