ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก
กรุงเทพฯ 8 มิถุนายน 2559 – ประเทศไทยได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการว่าสามารถยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกได้สำเร็จ โดยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียและเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่สามารถลดอัตราการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ได้
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า อัตราการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกในประเทศไทยลดลงจากร้อยละ 10.3 ในปี พ.ศ. 2546 เหลือเพียงร้อยละ 1.91 ในปี พ.ศ. 2558 โดยอัตราดังกล่าวเข้าเกณฑ์การยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกขององค์การอนามัยโลก คือ อัตราการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกต้องอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าร้อยละ 2
จากการประเมินการยุติการถ่ายทอดเชื้อของทีมผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศ ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์การอนามัยโลก และการสนับสนุนจากองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ (UNICEF) โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. CDC) พบว่า ประเทศไทยได้บรรลุเงื่อนไขทั้งหมดตามเป้าหมายโลกในการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก ผลจากการประเมินของทีมผู้เชี่ยวชาญครั้งนี้ ถือเป็นการสรุปกระบวนการในการขอรับรองการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและเชื้อซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกของประเทศไทย ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 จนถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2559
นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาธร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “ความสำเร็จของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก ในการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก นับเป็นความสำเร็จของทุกคน ทุกองค์กรและหน่วยงานภาคี ประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่ได้มีผลเฉพาะกับกลุ่มเป้าหมายชาวไทยเท่านั้น แต่กับแม่และเด็กทุกคนที่อยู่ในแผ่นดินไทย ทุกคนมีสิทธิได้รับการบริการอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี เรายังคงมีความท้าทายอยู่คือ จะทำอย่างไรให้ความสำเร็จในวันนี้ยั่งยืนต่อไป และปัจจัยที่จะนำเราไปถึงจุดนั้นได้ คือ ความเป็นผู้นำ การจัดการที่มีประสิทธภาพ ความร่วมมือของทุกภาคส่วน และนโยบายรัฐบาลที่เข็มแข็ง”
นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “ความสำเร็จครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและการเป็นผู้นำของประเทศไทยในการรับมือกับโรคระบาดใหญ่ ซึ่งไทยกลายเป็นตัวอย่างสำคัญและเป็นแรงบันดาลใจให้กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียในการต่อสู้เพื่อให้เด็กรุ่นต่อๆ ไปปลอดภัยจากเอชไอวีและซิฟิลิส”
นายแพทย์แดเนียล เคอร์เตสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า “การดำเนินการเพื่อยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกของรัฐบาลไทย ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะประชาชนไทยเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมแรงงานต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่มีระบบประกันสุขภาพสำหรับแรงงานต่างชาติ ทำให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้”
นายโธมัส ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “ทุกวันนี้ ไม่เพียงแค่เด็กไทยเท่านั้นที่แทบไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่เลย แต่เด็กๆ ลูกหลานแรงงานต่างชาติที่มีประกันสุขภาพก็แทบไม่มีความเสี่ยงเช่นกัน เพราะสามารถเข้าถึงบริการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้”
นางตาเตียน่า ชูมิลินา ผู้อำนวยการโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ ประเทศไทย กล่าวว่า “เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เด็กประมาณหนึ่งในสามทั่วโลกต้องเกิดมาพร้อมเชื้อเอชไอวีเนื่องจากได้รับเชื้อมาจากแม่ ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ประสบความสำเร็จในการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลยในเวลานั้น”
นายแพทย์จอห์น แม็คอาเธอร์ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “การยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกถือเป็นความสำเร็จด้านสาธารณสุขครั้งสำคัญของประเทศไทย ซึ่งความก้าวหน้าในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเอชไอวีครั้งนี้ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคและทั่วโลก ประเทศไทยสามารถดำเนินการในการสร้างหลักประกันให้แม่และเด็กมีสุขภาพที่แข็งแรงในอนาคตได้”
ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จครั้งนี้ คือ เจตนารมณ์อันมุ่งมั่นของรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องทุกระดับ ตลอดจนระบบการดำเนินงานด้านสาธารณสุขของไทยที่มีประสิทธิภาพทั้งในระดับชุมชนและระดับชาติ โดยมีการบูรณาการบริการทางสุขภาพสำหรับหญิงตั้งครรภ์และแม่ที่ติดเชื้อในระบบบริการอนามัยแม่และเด็กในสถานพยาบาลต่างๆ ซึ่งอยู่ภายใต้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา หญิงตั้งครรภ์เกินร้อยละ 95 ได้รับการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวี ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีร้อยละ 95 ยังได้รับยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อในทารกด้วย
ทั้งนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาอัตราการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าร้อยละ 2 โดยควรเน้นการพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่องสำหรับกลุ่มที่เข้าถึงยาก เช่น แรงงานต่างชาติและกลุ่มวัยรุ่น เพื่อให้สามารถค้นหาผู้ป่วยในระยะแรกและวางแผนการรักษาได้ทันท่วงที