สังคมสูงวัยอยู่ดีมีสุข ความท้าทายของรัฐไทยที่ต้องรับมือ
ปัญหาความยั่งยืนของกองทุนบำเหน็จทุกๆ กองทุน เป็นสิ่งที่ภาครัฐควรกำกับดูเเลอย่างเข้มข้น การหาแนวทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อการแก้ปัญหาเป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนและไว้ใจรัฐในการให้ความร่วมมือด้านการออมมากขึ้น
รายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ. 2558 โฉมหน้าครอบครัวไทย ยุคเกิดน้อยอายุยืน ซึ่งจัดทำโดยกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานว่า ครัวเรือนไทยโดยเฉลี่ยมีขนาดเล็กลง แต่มีรูปแบบครอบครัวที่หลากหลายมากขึ้น
กล่าวคือ สังคมไทยของเราวันนี้มีครอบครัวที่ไม่มีบุตรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บวกกับทัศนคติของคนยุค GEN Y ที่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางหน้าที่การงานและทรัพย์สินมากกว่า ส่งผลให้การสร้างครอบครัวจึงชะลอตัว
และจากการศึกษายังพบด้วยว่า การศึกษาที่สูงขึ้นมีส่วนทำให้ผู้หญิงชะลอการสร้างครอบครัวรวมถึงมีบุตรช้าลงไปด้วย
ในขณะที่แนวโน้มของประชากรไทย ซึ่งสำรวจในปี 2557 ระบุว่าไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ในอีก 5 ปีข้างหน้า หมายความว่า เราจะมีสัดส่วนของประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 หรือ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่วัยแรงงานอายุ 15-59 ปีเริ่มมีจำนวนที่ลดลงจาก 43 ล้านคน เหลือ 40.7 ล้านคน ในอีก 10 ปี และจะลดเหลือ 35.1 ล้านคนในปี 2583
การเพิ่มขึ้นของคนสูงวัยและการลดลงของวัยแรงงาน ทำให้อัตราที่วัยแรงงานซึ่งดูเเลเกิ้อหนุนผู้สูงอายุลดลงจากเดิมที่ วัยแรงงาน 4 คนดูเเล คนแก่ 1 คน จะกลายเป็น 1.7 คน ต่อ 1 คนภายในปี 2583
นี่คือความท้าทายของสังคมไทยต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า สังคมสูงวัยนำไปสู่ความท้าทายต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 3 ประเด็น ที่สำคัญ คือ 1.) การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว 2.) ความมั่นคงทางรายได้เพื่อการเกษียณอายุ 3.) ความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวไทย
หากลองมองในความท้าทายที่กล่าวมาข้างต้น หนึ่งในเรื่องที่ถูกพูดถึงและหลายฝ่ายค่อนข้างกังวลคือ เรื่องของการเงิน ความมั่นคงของรายได้เพื่อการเกษียณ รวมไปถึงเมื่อเข้าสู่วัยชรา
จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีผู้สูงวัยถึงร้อยละ 36.7 ต้องพึ่งพิงเงินเกื้อหนุนจากบุตร หรือญาติพี่น้องในการดำรงชีพ รองลงมาร้อยละ 33.9 มีเงินเลี้ยงชีพด้วยตัวเองจากการทำงาน ร้อยละ 14.8 ยังชีพจากเบี้ยเลี้ยงรายเดือน ร้อยละ 4.9 จากเงินบำนาญ ร้อยละ 4.3 จากคู่สมรส ส่วนที่เหลือเป็นการพึ่งพารายได้จากดอกเบี้ยเงินออม และการขายทรัพย์สินที่มีอยู่
อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุที่พึ่งพาเบี้ยเลี้ยงยังชีพเพียงอย่างเดียว หรือกรณีลูกจ้างเอกชนบางแห่งที่ยังไม่มีระบบการออมยามชราภาพในรูปแบบของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทำให้รายได้ของสองกลุ่มนี้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในปัจจุบัน
ดร. วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ความมั่นคงของชีวิตเป็นความตัองการพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน หลายคนที่ต้องการปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้ จนวันหนึ่งเขาไม่สามารถรอให้รัฐเข้ามาจัดการได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคลัง การจัดการสวัสดิการสังคมให้ครอบคลุมเป็นไปได้ยาก
จากข้อจำกัดของภาครัฐที่จัดให้ไม่ทั่วถึงนั่นเอง ทำให้กลุ่มคนลุกขึ้นมาจัดการตัวเอง
หากลองมองบทบาทที่ชุมชนลุกขึ้นมาเติมในความต้องการพื้นฐาน วันนี้ชุมชนต่างๆ ในประเทศไทยทำอะไรบ้าง เพื่อจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ และเพื่อการพัฒนาต่อไป
ดร.วรวรรณ บอกว่า การที่ชุมชนดูเเลกันเองในสเกลระดับชุมชน ซึ่งถือเป็นระดับกลางของสังคมใหญ่ เราอาจจะเห็นภาพเหล่านี้ในอดีตที่ชุมชน บ้านใก้ลเรือนเคียงเเลกเปลี่ยน ดูเเลเกื้อกูลกัน สังคมไทยมีวัฒนธรรมในลักษณะแบบนี้มานาน แต่หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เราเริ่มมีกองทุนที่เข้ามากระตุ้น มีชุมชนลุกขึ้นตั้งกลุ่ม เช่น สัจจะออมทรัพย์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น จากตรงนั้นก็ค่อยๆ เบ่งบานขึ้นเรื่อยๆ จะมีหลักคิดของเขา ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิศรี ไม่ได้เหมือนกันกับการไปรองรับสวัสดิการจากภาครัฐอย่างเดียว เป็นคอนเซ็ปต์การช่วยเหลือของชุมชน
มีคนให้คำจำกัดความสวัสดิการชุมชนมากมาย เช่น การห่วงใยซึ่งกันเเละกัน เป็นหลักประกันในระดับชุมชน การกินอยู่แต่พอดี และมีความสุขร่วมกัน
"ในระยะหลังมีนโยบายส่งเสริมมากขึ้น ทั้งจากส่วนราชการ ก็เห็นความสำคัญในการรวมตัวลักษณะนี้ ตัว พอช. ก็เป็นแกนหลักในการตั้งสวัสดิการชุมชน” ดร.วรวรรณ กล่าวและอธิบายเพิ่มเติมว่า โดยหลักคิดแล้วจะเป็นลักษณะร่วมสามขาที่ว่า ชุมชนไหน คิดกองทุนขึ้นมา อปท. คอยช่วย ภาครัฐที่สนับสนุน โดยบทบาทของสมาชิกซึ่งคือคนในชุมชน จะจัดการเรื่องของสมาชิกเป็นแหล่งงบประมาณหลักของกองทุน เงินสมทบประกอบไปด้วยเงินค่าธรรมเนียมรายปีและเงินสมทบ
ด้านองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. มีพ.ร.บ.ส่งเสริมสวัสดิการสังคม 2550 มาตรา40/1 หน่วยงานรัฐ อปท.หรือองค์การสาธารณประโยชน์อาจให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรสวัสดิการชุมชนตามสมควรแก่กรณี
ส่วนรัฐบาล มี พ.ร.บ.ส่งเสิรมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ.2540 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2550 ให้จัดตั้งกองทุนส่งเสิรมสวัสดิการชุมชน เพื่อส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน
ดร.วรวรรณ กล่าวว่า เมื่อทางภาครัฐเข้ามาสนับสนุนชุมชนตั้งกองทุนสวัสดิการ จะมีในส่วนของสมาชิกอปท.และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือพอช. หรือภาคส่วนอื่นๆ เข้ามา ในระดับพื้นที่ก็จัดการให้เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ คิดสวัสดิการตามความต้องการของคนในชุมชน
ในมิติสวัสดิการ เมื่อเกิดกองทุนและประสบความสำเร็จมีการเรียนรู้ซึ่งกันเเละกัน ในที่สุด ก็เกิดการเลียนแบบ ที่มีกิจกรรมสวัสดิการที่คล้ายๆ กัน โดยหลักแล้วรูปแบบการจัดสวัสดิการหลักๆ ก็เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย บางกองทุนห็จะเสริมเรื่องกรณีเกิดภัยพิบัติจะช่วยเหลือกันอย่างไร กรณีที่เป็นภาษีสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน จะช่วยเหลือกันอย่างไร หรือการให้กู้ยืมเพื่อการประกอบอาชีพ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในความหลากหลายเหล่านี้ หากพิจารณาให้ดี ดร.วรรรณ ตั้งคำถามว่า เนื่องจากกองทุนนี้อยู่ในระดับชุมชน ในกรณีความเสี่ยงอย่างการเกิดภับพิบัติ หากพิจารณาในระดับประเทศ จะพบว่า มีความหลากหลาย และการเกิดความเสี่ยงก็เกิดขึ้นไม่พร้อมกัน จะเป็นสิ่งที่การกระจายความเสี่ยงเหล่านี้ให้ความมั่นคงดีที่สุด แต่ในระดับชุมชนจะมีหน้าตาคล้ายกัน ดังนั้นเมื่อเกิดภัยพิบัติระดับชุมชนมักจะเกิดพร้อมกันทุกหลังคาเรือน หมายถึงเป็นความเสี่ยงที่มาแรง
นี่คือจุดอ่อนของกองทุนเหล่านี้
ดร.วรวรรณ ชี้ให้เห็นว่า ภาพรวมที่ผ่านมา กองทุนที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เมื่อเดือนตุลาคม 2558 มีจำนวนกองทุนทั่วประเทศ 5,967 แห่ง มีจำนวนสมาชิกกว่า 5.3 ล้านคน โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนกว่า 1หมื่นล้านบาท
ในขณะที่ข้อดีการจัดสวัสดิการระดับชุมชน ดร.วรวรรณ กล่าวว่า เป็นการออกแบบสิทธิประโยชน์ ให้ตรงตามความต้องการของคนในชุมชน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทั้งประเทศ ช่วยเสริมบทบาทของรัฐ จากการที่รัฐอาจจะให้สวัสดิการที่ไม่เพียงพอ การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการจัดตั้ง และการบริหารจัดการโดยคนในชุมชน ก่อให้เกิดความเป็นเจ้าของ และอยากทำให้ดีขึ้นในระยะยาว
นอกจากนี้ กองทุนเหล่านี้ยังมีความยืดหยุ่นในการปรับตัว เมื่อเผชิญปัญหา เพราะถ้าเป็นกองทุนระดับประเทศจะต้องรอผ่านกระบวนการและขั้นตอน จนกระทั่งบางทีกองทุนก็ล้มไปแล้ว แต่ยังไม่สามารถแก้กฎหมายได้
กระนั้นความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร ซึ่งจะมากระทบสองด้านคือ ค่าใช้จ่ายของสวัสดิการ และรายรับของกองทุน ดร.วรวรรณ มองว่า ในด้านรายรับ มีการกำหนดว่า เมื่อมีสมาชิกเข้ามา ก็จะมีเงินสบทบสำหรับสมาชิกแรกเข้า แล้วเมื่อสมาชิกอายุถึงเกณฑ์ก็จะได้สิทธิตามที่กำหนด ที่นี้เมื่อสมาชิกส่วนใหญ่เริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุค่อนข้างมาก ก็เป็นความเสี่ยง จะไปกระทบกับค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะสวัสดิการค่ารักษา ในเรื่องของการเจ็บป่วยค่อนข้างสูง ค่าใช้จ่ายชราภาพ กรณีเสียชีวิต ซึ่
เมื่อค่าใช้จ่ายตรงนี้ไปในทางเดียวกัน การที่ค่าใช้จ่ายและสิทธิประโยชน์ถูกดึงไปทางเดียวกันก็ทำให้กองทุนมีความเสี่ยง
สัดส่วนการใช้สวัสดิการ 47% ใช้ในเรื่องค่ารักษาพยาบาล ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องค่าเดินทาง ค่าไปเยี่ยม หรืออาจจะมีช่วยเหลือเล็กน้อย ยอดเงินทั้งหมด กว่า 20% มีหลายชุมชนที่สมาชิกรู้สึกเป็นสิทธิ
"สมมติกำหนดว่า คุณมีสิทธิรักษาพยาบาล 2 ครั้งต่อปี พอครบปี บางคนที่ยังไม่ใช้ ก็จะหาเรื่องไปโรงพยาบาล เพื่อใช้เงินกองทุน อาจจะเข้าไปตรวจร่างกายนิดหน่อย ทำให้ทุกคนอยากรักษาสิทธิ และใช้เงินตรงนั้น" ดร.วรวรณกล่าว และว่า หากมองในส่วนของสวัสดิการกรณีเสียชีวิต แม้ว่าการใช้จะน้อยแต่เงินที่ออกไปสูงถึง 45%ของเงินกองทุนทั้งหมด เพราะฉะนั้นโครงสร้างประชากร ที่ค่าใช้จ่ายเบนไปเรื่องใดเรื่องหนึ่งจึงเป็นความเสี่ยงของกองทุนในการอยู่รอด ซึ่งแนวทางพัฒนาต่อไป ในการสนับสนุน ฝั่งรัฐก็ยังอยากหนุนให้ชุมชนอื่นที่ยังไม่มีจัดตั้งกองทุน เพิ่มความมั่นคง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ในแง่การจัดการ เราควรเรียนรู้จากที่อื่นว่าอะไรควรทำและไม่ควรทำ รวมไปถึงการสร้างแรงจูงใจ ส่งเสิรมให้เกิดการออมทรัพย์และการจัดตั้งกองทุนสวสัดิการชุมชน ส่งเสริมการมีงานทำแบบมีส่วนร่วมให้ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาท และระดับใหญ่คือการปรับปรุงกฎหมาย
นอกจากในการรักษากองทุน ลดอัตราความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากสังคมสูงวัย ดร.วรวรรณ แนะนำว่า ควรมีการเพิ่มจำนวนสมาชิกและเงินสมทบจากสมาชิก การแสวงหาการลงทุนเพื่อสร้างผลกำไรที่หลากหลายมากขึ้น ปรับลดสวสัดิการที่ซ้ำซ้อนกับสวัสดิการภาครัฐ กำหนดเพดานอายุของสมาชิกแรกเข้าใหม่ และจัดเก็บข้อมูลกองทุนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง การบูรณาการกองทุนสวัสดิการชุมชนเข้ากับองค์กรการเงินอื่นๆ
สำหรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุของสังคมไทยเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเพิ่มของภาระค่าใช้จ่ายในการดูเเลผู้สูงอายุและรักษาพยาบาล จากการศึกษาของ ดร.จิระวัฒน์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ นักวิจัยสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศ มองว่า การวิเคราะห์ปผลกระทบของการเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อการสนับสนุนงบประมาณผ่านกองทุนต่างๆ เพื่อให้รัฐเตรียมรับมือหาทางออกเป็นสิ่งที่ควรทำ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางร่วมจ่าย หรือการหาแหล่งงบประมาณเพิ่มเติมของภาครัฐ หรือการร่วมประกันสุขภาพกับภาคเอกชน
ส่วนการดูเเลผู้สูงอายุระยะยาวที่บ้านยังขาดความรู้ทั้งด้านกำลังคน แหล่งเงิน และการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบที่สามารถครอบคลุมผู้สูงอายุทุกคน ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของรัฐและเอกชน หรือเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม
ดร. จิระวัฒน์ ชี้ให้เห็นปัญหาความยั่งยืนของกองทุนบำเหน็จทุกๆ กองทุน เป็นสิ่งที่ภาครัฐควรกำกับดูเเลอย่างเข้มข้น การหาแนวทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อการแก้ปัญหาเป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนและไว้ใจรัฐในการให้ความร่วมมือด้านการออมมากขึ้น และยังอาจให้ความร่วมมือในกองทุนเกิดใหม่ เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ เป็นต้น
จากข้อมูลล่าสุดของ กอช. พบว่า มีผู้สูงอายุอายุตั้งแต่ 50 ปี ถึง 60 เข้ามาสมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ คิดเป็นร้อยละ 48.87 จากจำนวนสมาชิกทุกช่วงวัยกว่า 4.2 แสนราย ดร.จิรวัฒน์ มองว่า ความไม่ไว้วางใจอาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตราการสมัครสมาชิกต่ำ การกระตุ้นให้เกิดการออมมากขึ้นจะช่วยลดภาระความช่วยเหลือผู้สูงอายุยากจนได้ในอนาคต
ในภาวะที่สังคมเข้าสู่วัยคนแก่มากขึ้น วัยแรงงานน้อยลง ความกังวลทั้งในเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ความมั่นคงทางรายได้เพื่อการเกษียณอายุ และความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวไทย จึงกลายเป็นปมใหญ่ที่ท้าทายว่า รัฐจะดันนโยบายไหนออกมาเพื่อจัดการ และพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนต่อไป