ย้อนคดีรถหรูเลี่ยงภาษีฉาวในมือ ‘ป.ป.ช.-ดีเอสไอ’ ผ่านมา 4 ปีไม่ถึงไหน?
ย้อนคดีนำเข้ารถหรูเลี่ยงภาษีฉาวในมือ ป.ป.ช.-ดีเอสไอ สอบสวนผ่านไป 4 ปียังไม่ถึงไหน หลังผลประชุมชุด ‘บิ๊กต๊อก’ มีมติทางการ ‘ปัดฝุ่น’ อีกครั้ง ชี้เป็นเรื่องสำคัญ เข้าข่ายอาชยากรรมข้ามชาติ พบยอดล่าสุด 7 พันคัน ล่าสุดยังเอาผิดใครไม่ได้
“ถือว่าเป็นคดีสำคัญและเป็นคดีที่มีลักษณะของการกระทำความผิดซับซ้อน มีผลกระทบรุนแรงต่อความมั่นคงของประเทศ และระบบเศรษฐกิจ หรือการคลังของประเทศ รวมถึงเป็นคดีที่มีลักษณะเข้าข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ”
เป็นมติจากที่ประชุมหน่วยงานรัฐที่มี ‘บิ๊กต๊อก’ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เป็นประธานเพื่อเร่งรัดคดีการนำเข้ารถจดประกอบจำนวนกว่า 7 พันคันเลี่ยงภาษี คดีดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นที่จับตาของสาธารณชนและสื่อมวลชนแทบทุกสำนัก
(อ่านประกอบ : แพร่ทางการ! มติ ยธ.เร่งคดีรถเลี่ยงภาษี 7 พันคัน เข้าข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ)
หากใครยังจำกันได้ กรณีนี้ปฐมบทเกิดขึ้นจากที่รถบรรทุกรถหรูนำเข้าเกิดเหตุไฟไหม้ ทำให้ตำรวจและหลายหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบ จึงพบว่า รถคันดังกล่าว รวมถึงอีกหลายคันที่ถูกบรรทุกนั้น มีการจดทะเบียนประกอบขึ้นที่ประเทศไทย โดยนำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่จากต่างประเทศ และเมื่อสาวให้ลึกลงไปอีกพบว่า เป็นขบวนการใหญ่ในการเลี่ยงภาษีกรมศุลกากร
ขณะที่ดีเอสไอยืนยันว่า กรณีนี้เกิดขึ้นในห้วงปี 2553-2556
ปัจจุบันมีอยู่ 2 หน่วยงานหลักที่รับหน้าเสื่อเข้าไปดำเนินการ ได้แก่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ปัจจุบันคดีนี้อยู่ตรงไหน ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมข้อมูลที่ผ่านมาให้สาธารณชนรับทราบกัน ดังนี้
ดีเอสไอ
เข้าไปดำเนินการตรวจสอบภายหลังเรื่องแดงขึ้นมาเมื่อปี 2556 1 ปีถัดมา ช่วงปี 2557 เปิดเผยความคืบหน้าเบื้องต้นว่า พบมีรถจดประกอบราคาเกิน 4 ล้านบาท จำนวน 548 คัน (ขณะนั้น) โดยพบว่ามีรถที่กรมศุลกากรต้องจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีศุลกากร พ.ศ.2530 รวมเป็นวงเงินประมาณ 1,800 ล้านบาท
ขณะที่ข้อมูลขณะนั้นจากกรมการขนส่งทางบกพบว่า มีรถจดประกอบประมาณ 6,575 คัน แต่ดีเอสไอพบมีรถที่หายไปจากสารบบ 1,350 คัน ซึ่งเชื่อว่าเป็นรถที่นำเข้าทั้งคัน ไม่ใช่รถจดประกอบคิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 2 พันล้านบาท
สำหรับรถหรูที่ถูกไฟไหม้ 6 คัน ซึ่งเป็นชนวนเหตุให้ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้ มีหลักฐานชัดเจนว่า เป็นขบวนการที่นำรถทั้งคันเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย ก่อนนำสำแดงเอกสารเท็จว่าเป็นรถจดประกอบเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี และมีอย่างน้อย 2 คัน ที่เป็นรถขโมยมาจากมาเลเซียด้วย หลังจากนั้นจึงได้อนุมัติหมายจับผู้ต้องหาชาวมาเลเซีย 2 ราย
จากการแกะรอยของดีเอสไอ พบว่า การกระทำดังกล่าวดำเนินเป็นขบวนการ มีทั้งข้าราชการในไทย และบุคคลต่างชาติ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีการทุจริตในหลายรูปแบบ นอกเหนือจากการสำแดงเอกสารจดประกอบเท็จแล้ว ยังมีการให้ชาวต่างชาตินำรถเข้ามาใช้ในไทย แต่ทิ้งรถไว้ หรือแม้แต่การขายทอดตลาดรถยนต์ของกรมศุลกากร มีการนำรถที่สำแดงเอกสารจดประกอบมาร่วมประมูลด้วย
สำหรับขั้นตอนการทุจริตนั้น ดีเอสไอเชื่อว่า เกิดขึ้นตั้งแต่ ‘ต้นน้ำ’ ยัน ‘ปลายน้ำ’ คือ ตั้งแต่นำเข้า จัดทำเอกสารจดทะเบียน และนำเข้ามาเป็นรถจดประกอบในไทย
ปัจจุบันดีเอสไอได้ออกหมายจับบุคคลในคดีไปแล้วอย่างน้อย 5 ราย (เท่าที่ตรวจสอบพบ) คือคนไทย 3 ราย และชาวต่างชาติ 2 ราย
ที่น่าสนใจคือ ดีเอสไอ ยืนยันว่า กรณีรถที่จดทะเบียนประกอบหายไปจากระบบจำนวนมากมายขนาดนี้ เป็นไปไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่รัฐจะไม่มีส่วนรู้เห็นกรณีดังกล่าว
หลังจากนั้นเรื่องก็เงียบหายไปหลายปี กระทั่ง ‘บิ๊กต๊อก’ นำมา ‘ปัดฝุ่น’ ใหม่ในช่วงเดือน มี.ค. 2559 ที่ผ่านมา โดยพบว่า มียอดรถเลี่ยงภาษีจำนวนกว่า 7.1 พันคัน และได้เรียนให้คณะรัฐมนตรีทราบแล้ว
ป.ป.ช.
เบื้องต้น ภายหลังเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้รถหรูฉาวขึ้น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้เข้าไปตรวจสอบ พบ มีรายชื่อเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรจำนวน 108 คน (ขณะนั้น) ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการไต่สวนต่อ เพราะพบว่ามี เจ้าหน้าที่ระดับสูงในกรมศุลกากรเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
ต่อมา ช่วงปลายปี 2556 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนขึ้น โดยใช้สำนวนสอบของ ป.ป.ท. ที่มี พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ เป็นเลขาธิการฯ (ขณะนั้น) โดยในรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีการระบุถึงจุดเริ่มต้นในการตรวจสอบเรื่องนี้ มาจากผู้ร้องเรียนกล่าวหาทุจริตเจ้าหน้าที่รัฐในเรื่องดังกล่าว มีพฤติการณ์หลบเลี่ยงภาษีในการนำเข้ารถยนต์นั่งใหม่จากต่างประเทศ ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บเป็นจำนวนมาก
โดยผู้ร้องได้ให้ข้อเท็จจริงว่าผู้นำเข้ารถยนต์อิสระในประเทศไทย ได้สั่งนำเข้ารถยนต์หรูจากต่างประเทศ ซึ่งในการนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศผู้นำเข้ารถยนต์อิสระได้สำแดงเท็จเกี่ยวกับใบขนส่งสินค้ารถยนต์ โดยได้สำแดงราคานำเข้ารถยนต์ต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อให้ตนเองเสียภาษีน้อยลง
ทั้งนี้ ในการเสียภาษีเจ้าหน้าที่รัฐ ทราบดีอยู่แล้วว่ารถยนต์ดังกล่าวมีราคาเท่าใด แต่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริตต่อหน้าที่ ยอมให้ผู้นำเข้ารถยนต์อิสระสำแดงราคาเท็จทำให้ผู้นำเข้ารถยนต์อิสระสามารถนำรถเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยได้โดยเสียภาษีเพียงเล็กน้อย ทำให้รัฐสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก
หลังจากนั้นคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. ทำการรวบรวมพยานหลักฐานข้อเท็จจริงทางคดี กระทั่งในช่วง พ.ย. 2556 เว็บไซต์ ป.ป.ช. เผยแพร่รายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ ปรากฏชื่อของนายราฆพ ศรีศุภอรรถ อธิบดีกรมศุลกากร (ขณะนั้น) และนายชัยพงศ์ พิทักษ์มงคล นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ (ขณะนั้น) เป็นผู้ถูกกล่าวหา
โดยมีข้อกล่าวหาว่า ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ หรือโดยทุจริตเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการนำเข้ารถยนต์อิสระเพื่อแลกกับการไม่จับกุมดำเนินคดี กรณีหลีกเลี่ยงภาษีด้วยการสำแดงราคารถยนต์ที่นำเข้าจากต่างประเทศต่ำกว่าความเป็นจริง และมีพฤติการณ์ทุจริตรับราคารถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีการสำแดงราคารถยนต์ที่นำเข้าต่ำกว่าความเป็ฯจริง ทำให้ผู้นำเข้ารถยนต์เสียภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมน้อยกว่าที่ต้องชำระ
(อ่านประกอบ : “ภักดี”รับป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบคดีเลี่ยงภาษีรถหรูจริง -เรียก"ดุษฎี"ให้ปากคำแล้ว, ชื่ออธิบดีกรมศุลฯ ติดอยู่ในบัญชีสอบคดีหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้ารถหรู ป.ป.ช.)
หลังจากนั้นเรื่องก็เงียบหายไปประมาณ 2 ปี กระทั่งช่วงกลางปี 2558 คณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. ได้ระดมกำลังจากทุกสำนักในสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อจัดตั้งทีมเฉพาะกิจขึ้นมาตรวจสอบเรื่องนี้ โดยให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เข้าไปตรวจสอบหน่วยงานรัฐทุกแหงที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้ารถยนต์ โดยเฉพาะกรมศุลกากรที่พบว่า มีข้าราชการเกี่ยวพันเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ดีนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะอนุฯ (ขณะนั้น) ยอมรับว่า การตรวจสอบค่อนข้างเป็นไปด้วยความล่าช้า เนื่องจากเอกสารหลักฐานมีจำนวนค่อนข้างมาก
ก่อนที่เรื่องจะเงียบหายไปอีกครั้ง จนนายภักดีหมดวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. โดยปัจจุบันคดีนี้อยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ เนื่องจากมีกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่ 5 ราย เข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทน
ทั้งหมดคือความคืบหน้าในการสอบสวน-ไต่สวนของ ดีเอสไอ และ ป.ป.ช. นับตั้งแต่ช่วงปี 2556-ปัจจุบัน หรือประมาณเกือบ 4 ปีแล้ว
แต่ความคืบหน้ายังคงไม่ไปถึงไหน และยังไม่สามารถเอาผิดข้าราชการ-เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องได้แม้แต่คนเดียว !
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.รับคดีเลี่ยงภาษีรถหรูสอบยาก! เอกสารเยอะ-คนกรมศุลฯเอี่ยวเพียบ
ป.ป.ช.บี้สอบกรมศุลฯพันคดีนำเข้ารถหรู-จ่อเรียกขรก.ระดับสูงให้ปากคำ
ป.ป.ช.ฟอร์มทีมชุดใหญ่สอบลึกคดีนำเข้ารถหรู-รับมีบิ๊ก ขรก.เอี่ยว
“ภักดี”รับป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบคดีเลี่ยงภาษีรถหรูจริง -เรียก"ดุษฎี"ให้ปากคำแล้ว
ชื่ออธิบดีกรมศุลฯ ติดอยู่ในบัญชีสอบคดีหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้ารถหรู ป.ป.ช.
เส้นทางชีวิต“ราฆพ”ก่อนปรากฎชื่อในบัญชีสอบคดีภาษีรถหรู"ป.ป.ช."