มะเร็งคร่าชีวิต 'โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์' ด้วยวัย 73 ปี
'โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์' ผู้บริหารธนาคารกรุงเทพฯ-อดีตรองนายกรัฐมนตรี ถึงแก่อนิจกรรม สิริอายุ 73 ปี กำหนดสวดพระอภิธรรม 2-4 มิ.ย. 59
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 1 มิถุนายน 2559 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคมะเร็ง ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สิริอายุ 73 ปี
โดยกำหนดการพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ จะมีขึ้นในวันที่ 2 มิถุนายน 2559 พระบรมราชานุเคราะห์ พระพิธีธรรม สวดพระอภิธรรม วันที่ 2 ถึง 4 มิถุนายน 2559 ณ ศาลา 14 สุวรรณวณิชกิจ(วรจักรยนต์) วัดเทพศิรินทราวาส
สำหรับ นายโฆสิต เกิดเมื่อวันที่28 พฤษภาคม พ.ศ. 2486 ที่ กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษา จากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2506 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาการคลัง (เกียรตินิยม) จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2508 จบปริญญาโท ด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และเข้ารับการอบรมหลักสูตรของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในปี พ.ศ. 2531
ต่อมา นายโฆสิต เริ่มทำงานเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ประจำธนาคารโลก ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา จากนั้นได้กลับมารับราชการจนได้รับตำแหน่งสูงสุดคือ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เริ่มเข้าสู่งานการเมืองโดยการรับตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (พลเอกสุจินดา คราประยูร) ในปี พ.ศ. 2535 และรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน และรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกครั้ง ในรัฐบาลของนายอานันท์ พ.ศ. 2535
ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 ได้เข้ารับตำแหน่งกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2538 จึงได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา แทนนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ และตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ แทนนายทนง พิทยะ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2542 จึงได้เข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ
นายโฆสิต กลับเข้าสู่งานการเมืองอีกครั้ง ในรัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และได้รับแต่งตั้งให้รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แทนนายสิทธิชัย โภไคยอุดม ซึ่งลาออกจากตำแหน่งจากกรณีการถือหุ้นเกินร้อยละ 5 ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550 นอกจากนี้นายโฆสิต ยังเคยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา เมื่อปี พ.ศ. 2539 อีกด้วย .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ OK Nation