ขัดแย้งกันเอง!!ความเห็น2หน่วยงานในอัยการสูงสุด กรณีคำชี้ขาดอนุญาโตฯ ค่าโง่ทางด่วน
จากนี้ไปต้องรอลุ้นกระบวนการยุติธรรมต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี จึงจะได้ข้อยุติที่ชัดเจน
เฉียดฉิว...สำหรับการดำเนินการยื่นเรื่องเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 กรณีบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด หรือ BEM (BECL เดิม) ที่ได้มีการ เรียกร้องให้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ชำระเงินส่วนต่างรายได้ค่าผ่านทางโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ปี 2546 โดยเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองแล้ว หลังจากนี้จะเป็นกระบวน การพิจารณาคดีของศาล
เรื่องนี้ต้องยกนิ้วให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) ที่ออกมาขับเคลื่อน ร่วมกับพนักงานคัดค้านมติบอร์ด ที่ให้ กทพ. ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ กรณีการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษตามสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ปี 2556 โดยไม่นำเข้าสู่กระบวนการศาลปกครองกลาง อันจะทำให้เกิดความเสียหายตามมาอีกจำนวนมาก
สร.กทพ.ออกแถลงการณ์ถึง 3 ฉบับ กระทั่งในที่สุดบอร์ด กทพ.มีมติการทบทวน และ ให้กทพ.แจ้งอัยการสูงสุดเพื่อเตรียมการยื่นศาลปกครองต่อไป
ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ได้รายงาน ครม.ด้วยวาจาไปแล้วเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่นายเชิดศักดิ์ หิรัญสิริสมบัติ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปกครอง มีหนังสือถึงผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
ใจความในหนังสือ ระบุ กทพ.สามารถยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเสียข้างมากต่อศาลปกครองได้ (อ่านประกอบ:อัยการยันอนุญาโตฯ วินิจฉัยข้อพิพาทขึ้นค่าทางด่วน นอกขอบเขตสัญญา)
กรณีการขอเพิกถอนคำสั่งชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ คดีข้อพิพาทค่าทางด่วน ปี 2546 นี้ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ความเห็นของส่วนราชการสำนักงานอัยการสูงสุด ก็มีความเห็นแตกต่างกัน
โดยเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2559 นางศรีนิดา พรหมหิตาธร อธิบดีอัยการ สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ เคยมีหนังสือ แจ้งผลคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ ถึงผู้ว่าการ กทพ. เช่นเดียวกัน
ใจความสรุปได้ว่า
บริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้มีสิทธิเสนอข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดได้ เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดให้เป็นไปตามกฎหมายไทยและไม่เกินขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ 2545 มา 34 วรรสอง และมาตรา 37 วรรคสอง คำวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นนี้จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เข้าเหตุที่ต้องขอให้เพิกถอน
เทียบกับหนังสือด่วนที่สุดของสำนักงานคดีปกครอง สำนักงานอัยการสูงสุด ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 ที่พิจารณาแล้วเห็นว่า
“คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมาก เป็นคำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาท ซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตสัญญาอนุญาโตตุลาการ และเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ
คำชี้ขาดนั้น เกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถจะระงับโดยการอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมาย และการยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขขาดนั้น จะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
คดีมีเหตุอันควรยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้ศาลปกครองกลางพิจารณาพิพากษาต่อไป”
นอกจากนี้ ประเด็นพิพาท กทพ.ผิดสัญญา จึงต้องชำระค่าเสียหายต่างๆ พร้อมดอกเบี้ย ให้แก่บมจ.ทางด่วนกรุงเทพฯ หรือไม่เพียงใด
ในหนังสือที่สำนักงานการยุติการดำเนินคดีทางแพ่งและอนุญาโตตุลาการ ส่งถึงผู้ว่ากทพ. เห็นว่า การปรับอัตราค่าผ่านทางตามสัญญาหลักนั้น บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ และกทพ.ตกลงกันให้มีการพิจารณาทุกๆ 5 ปี ซึ่งเป็นการพิพาทในการตีความสัญญา ว่า การขอปรับปรุงอัตราค่าผ่านทางพิเศษถูกต้องตาม บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ หรือเป็นไปตามที่ กทพ.โต้เถียงนั้น เห็นได้ว่า เป็นการพิจารณาภายในกรอบของสัญญาซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจพิจารณาได้
ดังนั้น เมื่อเป็นการพิจารณาตีความในเนื้อหาของสัญญา การปรับปรุงค่าผ่านทางพิเศษจึงเป็นอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการที่จะพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งการวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากวินิจฉัยถึงว่า การตีวามสัญญาและการเพิ่มค่าผ่านทางตามดัชนีผู้บริโภคแตกต่างจากความเห็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายข้างน้อย และข้อโต้แย้งของ กทพ.ดำเนินการแปลงความเกี่ยวกับเนื้อหาของสัญญา ดังนั้นการแปลความดังกล่าวมิได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อย เป็นอำนาจของอนุญาโตตุลาการย่อมทำได้
แม้ในส่วนการให้ค่าเสียหายให้แก่ บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ พร้อมดอกเบี้่ย ก็เป็นดุลยพินิจที่อยู่ในอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการที่ไม่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี จึงไม่มีเหตุจะเพิกถอน คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมาก
จึงเห็นว่า คำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากชอบด้วยเหตุผลและข้อกฎหมายแล้ว คดีไม่มีเหตุเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมาก
นี่คือความเห็นของ 2 ส่วนราชการสำนักงานอัยการสูงสุด ที่มองไม่ตรงกัน
แต่ในที่สุด กทพ.เลือกนำความเห็นของสำนักงานคดีปกครอง สำนักงานอัยการสูงสุด ประกอบการรายงานครม. และให้อัยการยื่นเรื่องต่อศาลปกครองทันเวลากำหนด 90 วัน ก่อนวันที่ 1 มิ.ย. จากนี้ไปต้องรอลุ้นกระบวนการยุติธรรมต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี จึงจะได้ข้อยุติที่ชัดเจน