จากภาพถ่ายสู่งานศิลป์...สัมพันธภาพ 2 ศาสนิก ณ สถานีรถไฟยะลา
ต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีการแชร์ภาพประทับใจในโลกออนไลน์ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เป็นภาพชายหนุ่มมุสลิมสองคนกำลังช่วยพระสงฆ์รูปหนึ่งถือถุงย่ามสัมภาระขึ้นรถไฟที่สถานียะลา มุ่งหน้าไปยังสถานีสุไหงโก-ลก
เป็นการแชร์ภาพท่ามกลางกระแสความหวาดระแวง แตกแยก แบ่งฝ่ายระหว่างคนพุทธกับพี่น้องมุสลิมทั้งในและนอกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นกระแสที่กำลังลุกลามออกไป เกิดขึ้นทั้งจากความจงใจ เข้าใจผิด และรู้เท่าไม่ถึงการณ์
แต่ภาพถ่ายทั้งชุดจำนวน 6 ภาพ ช่วยทำหน้าที่ยืนยันว่าสถานการณ์ในพื้นที่ปลายด้ามขวานไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด
ผ่านมาเกือบ 2 เดือน ภาพถ่ายชุดนี้ได้แปรมาเป็นภาพศิลปะแนว stencil art บนผนังขนาดใหญ่ของสถานีรถไฟยะลา ในเขตเทศบาลนครยะลา ใช้ชื่อว่า peace begins with you หรือ พลังสันติภาพอยู่ในมือคุณ
stencil art คือการรังสรรค์งานศิลปะจากการพ่นผนังด้วยสีสเปรย์ โดยมีบล็อกกั้นสีที่ออกแบบเป็นลายฉลุบนแผ่นพลาสติกหรือกระดาษแข็ง ถือเป็นศิลปะข้างถนน หรือ street art แขนงหนึ่ง
วันที่ 29 พ.ค. นายดลเดช พัฒนรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมด้วย นายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ รองผู้ว่ากลุ่มธุรกิจการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันเป็นประธานในพิธีเปิดภาพศิลปะชิ้นนี้ โดยมี นายเชาวนะ ชุมนุมพันธ์ นายสถานีรถไฟยะลา และคนยะลาที่ให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นสักขีพยานอย่างเนืองแน่น
ภาพศิลปะชิ้นนี้ สร้างสรรค์โดยกลุ่มศิลปินจิตอาสา นำโดย เพาซี พะยิง และ สุไลมาน ยาโม ศิลปินจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ "กลุ่มเฌอบูโด" มีเป้าหมายเพื่อสื่อและสะท้อนถึงความเป็นพหุวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข รวมทั้งการช่วยเหลือเอื้ออาทรกันในการใช้บริการรถไฟ
มุสลิมกับหลวงพ่อ @ สถานีรถไฟยะลา
ภาพต้นฉบับของงานศิลปะบนผนังสถานีรถไฟยะลา เป็นภาพถ่ายของ บุษยมาศ หรือ แอน อิศดุลย์ ชาวจังหวัดยะลา ที่บันทึกจากเหตุการณ์จริงเมื่อวันที่ 2 เม.ย. ขณะมีชายหนุ่มมุสลิม 2 คนกำลังช่วยกันหิ้วสัมภาระและถือย่ามให้พระภิกษุขณะกำลังจะโดยสารรถไฟที่สถานียะลา
"ความรู้สึกที่มีต่อภาพนี้คือชื่นใจมาก จึงอดไม่ได้ที่จะยกไอแพดขึ้นมาถ่ายไว้ในทุกอิริยาบถของการปฏิบัติต่อกันระหว่างน้องๆ มุสลิมกับหลวงพ่อ ซึ่งเป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติมากๆ หลวงพ่อมาถึงสถานีรถไฟด้วยรถแท็กซี่พร้อมสัมภาระพะรุงพะรังมากมายหลายย่าม เกินกว่าที่ท่านจะหอบหิ้วด้วยสองมือของท่านได้ แต่สัมภาระเหล่านั้นก็ไม่เกิดปัญหาเลย เมื่อท่านจะขึ้นรถไฟไปต่อยังจุดหมายปลายทางของท่าน...มันไหลลื่นไป ไม่มีแม้แต่คำขอร้องให้ช่วย"
"น้องๆ มุสลิมสองคนนี้นอกจากของส่วนตัวของตนเองแล้ว เขายังยื่นมือออกมาหยิบฉวยสารพัดย่ามของหลวงพ่อไว้ได้จนหมด แล้วคอยดูแลให้หลวงพ่อได้ขึ้นรถไฟไปก่อนจนเรียบร้อย แล้วจึงค่อยขึ้นตามไป มันงดงามมาก ชื่นใจ สุขใจ อยากให้คนทั้งโลกเห็นภาพนี้ด้วยว่าเราอยู่ด้วยกันแบบนี้จริงๆ"
เธอตัดสินใจโพสต์ภาพทั้งหมด 6 ภาพขึ้นเฟซบุ๊คของเธอที่ใช้ชื่อว่า Ann Issadul พร้อมบรรยายความรู้สึกว่า "พระคุณเจ้าจะขึ้นรถไฟไปไหนไม่ทราบ... แต่เห็นกับตาคือมีน้องๆ วัยรุ่นมุสลิม 2-3 คนช่วยกันหอบหิ้วย่ามให้พระคุณเจ้าอย่างน่ารักที่สุด ยะลาบ้านฉันยังคงงดงามเสมอด้วยมิตรภาพ..."
จากนั้นก็มีการแชร์ภาพในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง รวดเร็ว กระทั่งเพาซีได้ดูภาพนี้ด้วยความประทับใจ จึงติดต่อ บุศยมาศ เพื่อขอถ่ายทอดภาพนี้เป็นงานศิลปะแบบ stencil art ที่เขาถนัด
แง่งามของความต่าง
"ดีใจมากๆ ตอนเพาซีโทรมาบอกว่าจะวาดภาพนี้ ภูมิใจที่มีส่วนทำให้คนหันมามองเห็นแง่มุมที่งดงามในพื้นที่บ้านเรา ระหว่างคนต่างศาสนาที่มีน้ำใจเอื้ออารีย์ต่อกัน อยากให้ภาพแนวนี้ปรากฏไปทั่วทุกพื้นที่ในบ้านเราและทั่วโลก คงนั่งอมยิ้มถ้าจะเห็นภาพในเฟซบุ๊คที่ใครต่อใครมาถ่ายแล้วโพสต์และแชร์ภาพนี้กัน ให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของคนบ้านเราที่มีมิตรภาพต่อกันตราบนานเท่านาน จากอดีตจนถึงปัจจุบันก้าวผ่านไปถึงในอนาคต ต่อไปภาพนี้จะกลายเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ในยะลาบ้านเรา รู้สึกอิ่มเอมและมีความสุขจริงๆ"
"พื้นที่ของเราไม่ได้เป็นไปตามที่เขาเล่าว่า หรือที่มีกระแส หรือข่าวลือต่างๆ ในทางที่เป็นความแตกแยก ทุกอย่างที่เป็นประเด็นของสถานการณ์ความรุนแรง พวกเราล้วนรับและยอมจำนนกันตลอดมาต่อประเด็นที่ถูกจัดใส่ลงมาในผู้คนหรือพื้นที่ของพี่น้องมุสลิม...ใครจะสร้างอะไรที่เป็นประเด็นขึ้นมาอย่างไร แต่โดยเนื้อแท้แล้ว เรามีมิตรภาพที่ดีงามต่อกันตลอดมาและตลอดไป ขอให้มีภาพแบบนี้เกิดขึ้นทุกวัน และภาพความรุนแรงจงหมดไปจริงๆ เสียที"
มุมเล็กๆ ที่มีพลัง
เพาซี ศิลปินผู้รังสรรค์ภาพนี้ เล่าถึงที่มาของภาพและแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาตัดสินใจสร้างสรรค์งานศิลปะชิ้นสำคัญ
"ผมได้ภาพต้นฉบับจากการโพสต์แชร์ในโซเชียลมีเดีย เหตุการณ์การเกื้อกูลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เรื่องราวในมุมเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ในความรู้สึกของพื้นที่ชายแดนใต้ ขอบคุณภาพถ่ายต้นฉบับ ภาพน้องๆ วัยรุ่นมุสลิม 2 คน ช่วยถือย่ามให้พระสงฆ์ขึ้นรถไฟ ได้เห็นภาพชุดนี้แล้วมันติดตามาก ได้อารมณ์ความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่ เหมือนมีพลังบางอย่างในมุมนั้น ถึงแม้ว่ามีผู้คนเดินไปมาอย่างขวักไขว่ แต่ภาพนี้มันสะกดนิ่งในสายตาเรา เป็นแรงบันดาลใจ"
"ผมเชื่อว่าศิลปะสามารถเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนได้ ภาพบางภาพสามารถสะกดจิตใจของคนได้ ยิ่งภาพมีที่มาที่ไป ประกอบกับบริบททางสังคมที่บางคนมองอีกแบบ อย่างชายแดนใต้ หลายคนมองว่าเรามีความหวาดระแวงต่อกันระหว่างไทยพุทธ-มุสลิม แต่ภาพนี้เป็นตัวชี้วัดอย่างชัดเจนว่าเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น วิถีชีวิตปกติบ้านเราก็เป็นอย่างนั้น แค่ไม่มีหลักฐานยืนยันปรากฏให้เห็นได้ชัด"
"ต้องขอบคุณเจ้าของภาพต้นฉบับ พี่แอน อิศดุลย์ ที่เอามุมมองเล็กๆ ออกมา ยิ่งในยุคปัจจุบันทุกคนมีมือถือ ต่างเผยแพร่แง่มุมดีๆ ในสังคม ผมเชื่อว่าสังคมต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะความหวาดระแวงทั้งสองศาสนา เรื่องชาติพันธุ์ ความอคติในใจบางคน เมื่อได้เห็นภาพแล้วสามารถลดสิ่งเหล่านั้นลงได้"
"บังเซ็ง"ปั่นสามล้อส่งพระ
เรื่องราวแง่งามของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีอีกมากมาย แต่ไม่ค่อยแพร่กระจายผ่านสื่อ...
เจะโก๊ะ อาแซ ชาวปัตตานี เล่าว่า สิ่งดีๆ ยังเกิดขึ้นในพื้นที่ นอกจากภาพหนุ่มมุสลิมช่วยถือของให้พระแล้ว ยังมีเรื่องของ "บังเซ็ง" หรือ นายอุเซ็ง แวหลง อายุ 79 ปี คอยปั่นจักรยานสามล้อรับส่ง พระวีระ จิตตธัมโม หรือ หลวงตาวีระ อายุ 75 ปี จากวัดตานีนรสโมสร หรือวัดกลาง ออกบิณฑบาตในเมืองปัตตานีด้วย
"เรายังสามารถอยู่ร่วมกันได้แม้จะมีคนไม่ดีพยายามมาสร้างความแตกแยก ทำให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่ แต่เรายังรักกันทุกวัน ยังพึ่งพากันเหมือนอดีต" เจะโก๊ะ บอก
ขณะที่ ดวงใจ แก้วมีนี ชาวปัตตานีเช่นกัน ยอมรับว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้มีความหวาดระแวงระหว่างกัน แต่เรายังอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้ ยังพึ่งพากันอยู่
"มันอยู่ที่ว่าเราจะมองมุมไหน มุมที่อยู่อย่างพึ่งพาก็ยังเกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ส่วนมุมที่ระแวงกัน สร้างความหวาดกลัวกันก็มีจริง ปัญหาคือเราต้องยอมรับร่วมกัน และหากทางแก้ไขมัน เพื่อให้เกิดความสงบสุขเหมือนในอดีตที่เป็นมา"
และนั่นคือทางออกของสัมพันธภาพแห่งผู้คนที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ไม่ต้องการคำอธิบายใดๆ เพิ่มอีก...
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 จากภาพถ่ายของ แอน อิศดุลย์ สู่งานศิลปะแบบ stencil
2-3 ภาพ stencil art บนผนังอาคารสถานีรถไฟยะลา
4 ภาพถ่ายต้นฉบับของ แอน อิศดุลย์
5 ภาพ stencil art
6 บังเซ็ง ปั่นสามล้อพาพระบิณฑบาต