ตรวจสอบเส้นทางจักรยานเมืองกรุง กับราคาที่ต้องจ่าย ทั้งค่าปรับปรุง-บำรุงรักษา
"กรุงเทพมหานคร" มีนโยบายที่จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งความปลอดภัย เดินทางสะดวก และรวดเร็ว ที่ผ่านมามีการจัดทำเส้นทางจักรยานเพื่อให้เป็นทางเลือกการเดินทางและให้ประชาชนหันมาใช้จักรยานแทนพาหนะส่วนตัวมากขึ้น
แต่การปั่นจักรยานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในเส้นทางจักรยาน (ไบค์เลน) วันนี้หลายแห่งกลับมีรถจักรยานยนต์เข้ามาวิ่งในเส้นทางจักรยาน บางจุดมีรถตู้ รถส่วนบุคคลเข้ามาจอดทับเส้นทาง นอกจากนี้ยังมีผู้ค้าหาบเร่เข้ามาตั้งวางสินค้า
เหล่านี้ คือปัญหาการใช้พื้นที่จักรยานผิดวัตถุประสงค์
จนเมื่อเร็วๆ นี้ พล.ต.ต.ภาณุรัตน์ มีเพียร ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกมาระบุถึงการเตรียมเสนอให้ผู้บริหารกทม.พิจารณายกเลิกเส้นทางจักรยานบางเส้นที่สำนักงานเขตสำรวจแล้วพบว่า ทางจักรยานร้าง ไม่มีผู้ใช้งาน เช่น ทางจักรยานถนนพุทธมณฑลสาย 2 และสาย 3 ทางจักรยานบริเวณถนนพระบรมราชินี-เพชรเกษม รวมถึงเส้นทางเล็กๆ อื่นๆ เพื่อประหยัดงบประมาณในการดูแล
จากข้อมูลปี 2558 ของสำนักงานวิศวกรรมจราจร สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร พบว่า กทม.มีการพัฒนาเส้นทางจักรยานสายหลักไปแล้วกว่า 30 เส้นทางทั่วกรุงเทพฯ รวมระยะทางไม่ต่ำกว่า 200 กิโลเมตร ทางจักรยานของกทม.มีหลากหลาย...
- เส้นทางจักรยาน บนผิวจราจร
- เส้นทางจักรยาน ร่วมบนทางเท้า
- เส้นทางจักรยาน บนผิวจราจร-ร่วมบนทางเท้า
- เส้นทางกระจาย บนไหล่ทาง
- เส้นทางจักรยานเฉพาะ
และ เส้นทางจักรยานในสวนสาธารณะ
สำหรับเส้นทางจักรยานที่กทม.เล็งจะยกเลิก เพราะไม่มีผู้ใช้งานนั้น เส้นทางจักรยานถนนพุทธมณฑล สาย 2 ต้นทางอยู่บนถนนพระบรมราชินี ปลายทางถนนเพชรเกษมรวมระยะทาง 8 กิโลเมตร เป็นทางจักรยานร่วมบนทางเท้า
ส่วนเส้นทางจักรยานถนนพุทธมณฑลสาย 3 ต้นทางอยู่ถนนบรมราชินี ปลายทางหมู่บ้านเทพนคร รวมระยะทาง 1 กิโลเมตร เป็นทางจักรยานโดยเฉพาะ
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง พบในแต่ละปี กทม.ต้องใช้งบประมาณมาบำรุงรักษา และปรับปรุงเส้นทางจักรยาน ไม่ใช่น้อย แม้กทม.จะมีงบประมาณด้านนี้จำกัดจำเขี่ยก็ตาม อาทิ
ปี 2548 สำนักการจราจรและขนส่ง จ้างเหมาปรับปรุงเส้นทางจักรยานถนนเพชรเกษมจากแยกกาญจนาภิเษก ถึงสุดเขตกรุงเทพมหานคร วงเงิน 1.7 ล้านบาท
ปี 2548 สำนักการจราจรและขนส่ง จ้างเหมาปรับปรุงเส้นทางจักรยานถนนนราธิวาสราชนครินทร์ จากแยกถนนสุรวงศ์ ถึงแยกถนนพระรามที่ 3 วงเงิน 1.4 ล้านบาท
ปี 2549 สำนักการจราจรและขนส่ง จ้างเหมาปรับปรุงเส้นทางจักรยานถนนลาดพร้าว จากห้าแยกลาดพร้าว ถึงถนนแฮปปี้แลนด์สาย 1 วงเงิน 2.5 ล้านบาท
ปี 2557 สำนักการโยธา ต้องใช้งบเกือบ 2 ล้านบาท งานจัดซ่อมผิวจราจร ผิวทางจักรยานและเชิงลาดสะพาน ในถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล พื้นที่เขตบางขุนเทียน
ปี 2558 สำนักการจราจรและขนส่ง จ้างเหมาปรับปรุงกายภาพเส้นทางจักรยานบริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ระยะที่1 วงเงิน 24 ล้านบาท เป็นต้น
การส่งเสริมทางจักรยานในเขตเมือง แม้หน่วยงานภาครัฐศึกษา สำรวจ และเลือกเส้นทางมาอย่างดีแล้ว แต่เมื่อเปิดใช้งานจริง กลับไม่เป็นที่นิยม ไม่มีคนใช้งาน ซึ่งมีปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบ ทั้งลักษณะทางกายภาพที่ฝืนธรรมชาติและสภาพสังคม พื้นที่ใจกลางเมือง การเชื่อมต่อพื้นที่ชานเมือง ระบบขนส่งสาธารณะ รวมถึงการเลือกทำเส้นทางจักรยานพื้นที่เหล่านี้ต้องสอดคล้องกับความต้องการเดินทางในประจำวันเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างสะดวก คล่องตัว ปลอดภัย และประหยัดด้วย
'ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์' ผู้ก่อตั้งชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพเเห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา โดยมองว่า ทางจักรยานที่ใช้งานได้จะต้องทำตามคำเรียกร้องของคนในพื้นที่ ไม่ใช่นโยบายจากภาครัฐ ซึ่งไม่ตอบโจทย์เเละมักพบเห็นในหลายประเทศไม่มีคนใช้ อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างต้องมองภาพใหญ่ว่า เเม้จะมีคนน้อย เเต่ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหรือไม่ มิใช่มองเฉพาะเศรษฐกิจที่จะได้รับกลับมาเท่านั้น เรียกว่า ผลตอบเเทนจากการลงทุนทางสังคม
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาความนิยมในการปั่นจักรยาน คงไม่ใช่เรื่องกระเเส เขาบอกว่า เราทำทางจักรยานตอบโจทย์นักปั่นระยะไกล ที่นิยมเพื่อความสนุก เเต่การจะทำให้ประเทศเป็นสังคมจักรยานหรือชุมชนจักรยานได้นั้น ต้องทำให้ชาวบ้านทั่วไปใช้ระยะใกล้ ๆ ไม่ใช่ 3-4 กม. จึงต้องคิดสนับสนุนให้ประชาชนปั่นจักรยานในชีวิตประจำวัน เเต่ไม่ใช่ก่อสร้างทางเฉพาะเพื่อกลุ่มนักปั่นอย่างเดียว .