เรียกคนเข้าค่าย-ห้ามชุมนุม-ขึ้นศาลทหาร! บทเรียน คสช.ละเมิดสิทธิ์-กสม. ชงแก้
“การแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองย่อมต้องใช้มาตรการการแก้ไขปัญหาทางการเมือง ส่วนผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ไม่ว่าคดีอาญา หรือคดีความมั่นคง ก็ต้องใช้กระบวนการยุติธรรมมาเป็นเครื่องมือตัดสินวินิจฉัยดำเนินการเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษ”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาที่ถูกหลายฝ่ายตั้งเป้าโจมตีรัฐบาลทหารที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั่งหัวโต๊ะ คือประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายกรณี
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียกบุคคล/นักการเมือง เข้าปรับทัศนคติทางการเมืองในค่ายทหาร หรือการเข้าไปบุกจับกุมบุคคลต่าง ๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อย นำตัวเข้าไปอยู่ในค่ายทหารอย่างเงียบ ๆ หรือแม้แต่การนำตัวพลเรือนไปขึ้นศาลทหาร เป็นต้น
ส่งผลให้มีการร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นับตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหารเมื่อ พ.ค. 2557 เป็นต้นมา กระทั่ง กสม. ชุดที่ 2 ที่มี นางอมรา พงศาพิชญ์ เป็นประธานฯ สรุปรายงานเรื่องดังกล่าว และมีข้อเสนอแนะถึงคณะรัฐมนตรีชุดนี้ให้รับทราบปัญหาเหล่านั้นด้วย
(อ่านประกอบ : ครม.สั่งแก้ปัญหาละเมิดเสรีภาพ! กสม.ขอให้ทบทวน กม.พิเศษหลังรัฐประหาร)
ข้อเสนอแนะดังกล่าวมีอะไรบ้าง ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จำแนกให้เห็น ดังนี้
สำหรับข้อเสนอหลัก ๆ ของ กสม. แบ่งได้ 6 ประเด็น ตามข้อร้องเรียนที่ได้กลั่นกรองและเรียกหลายฝ่ายมาชี้แจง สรุปข้อเท็จจริงแล้ว ได้แก่
หนึ่ง การประกาศใช้กฎอัยการศึก และประกาศ คสช. ภายหลังการยึดอำนาจเมื่อ พ.ค. 2557 โดย กสม. เห็นว่า การยึดอำนาจที่ทำไปนั้นมีส่วนช่วยลดเหตุการณ์รุนแรง และมีประชาชนส่วนหนึ่งเห็นด้วยและยอมรับได้ แต่ภายหลังการรัฐประหารต่อเนื่องไปจนถึงมีรัฐบาลแล้ว ไม่มีภาวะฉุกเฉินซึ่ง ‘คุกคามความอยู่รอดของชาติ’ ให้เป็นที่ประจักษ์ ดังนั้นการบังคับใช้กฏอัยการศึก หรือกฎหมายอื่นที่จำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างกว้างขวาง เป็นมาตรการที่เกินแก่ความจำเป็น
สอง การเรียกบุคคลไปรายงานตัวโดยอาศัยอำนาจตามประกาศ คสช. และกฎอัยการศึก (ขณะนั้น) เพื่อควบคุมตัวใน 7 วัน ย่อมไม่เป็นการเหมาะสม และบางกรณีไม่เปิดโอกาสให้ครอบครัวทราบสถานที่ หรือความเป็นอยู่ ย่อมละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของครอบครัว นอกจากนี้กระบวนการดังกล่าวยังไม่ได้ถูกตรวจสอบโดยศาลอีกด้วย
สาม การจับกุมผู้ต้องหาในคดีอาญาหรือการควบคุมตัว ไม่พบข้อเท็จจริงทางการแพทย์และหลักนิติวิทยาศาสตร์ว่ามีการซ้อมทรมานหรือไม่ แต่พฤติการณ์ควบคุมตัวโดยไม่เปิดเผยสถานที่ หรือไม่ให้บุคคลใดเข้าพบ เสี่ยงต่อการถูกซ้อมทรมาน แม้กฏอัยการศึก หรือประกาศ คสช. จะให้อำนาจโดยไม่มีข้อกล่าวหาได้ก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีอำนาจในการซ้อมทรมานใครได้
สี่ การดำเนินคดีกับพลเรือนในเขตอำนาจศาลทหาร ตามประกาศ คสช. นั้น กสม. เคยทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการ คสช. เพื่อแนะนำไปแล้วว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ยังมีเหตุผลและความจำเป็นต้องคงอยู่ต่อไป เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของประเทศ แต่ประเทศไทยมีพันธกรณีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่รับรองสิทธิการดำเนินคดีอย่างเป็นธรรม โดยคณะตุลาการที่มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง และควรตระหนักถึงหลักการสากลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมของศาลทหาร โดยหลักการดังกล่าว ได้วางหลักไว้ว่า โดยหลักการแล้วศาลทหารไม่ควรมีเขตอำนาจในการดำเนินคดีกับพลเรือน
ห้า การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพของสื่อมวลชน เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ รัฐต้องมีหน้าที่ให้การคุ้มครอง แม้ว่าสิทธิเสรีภาพดังกล่าวอาจถูกจำกัดเพื่อประโยชน์ความมั่นคงของชาติ หรือความไม่สงบเรียบร้อย แต่ไม่ควรปิดกั้นการใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานวิชาการภายในมหาวิทยาลัย การชุมนุมโดยสงบของนักศึกษา การรวมตัวของชาวบ้านเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้อง เป็นต้น ซึ่งกฎหมายของ สตช. และกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดหมิ่นประมาท ก็สามารถดูแลการชุมนุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หก การจำกัดสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การปฏิรูประบบพลังงานในไทย ตามกฏอัยการศึก ส่งผลให้ประชาชนไม่อาจมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติดังกล่าวได้ แม้จะมีการเคลื่อนไหวที่ไม่ได้มีเนื้อหาทางการเมือง การเข้าไปปิดกั้นการเคลื่อนไหวดังกล่าวด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง หรือการสร้างความปรองดองโดยไม่พยายามแก้ไขความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นสาเหตุแท้จริงของปัญหา ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปประเทศไทย และจะยิ่งขยายความขัดแย้งไปสู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง ทำลายเป้าหมายความปรองดองสมานฉันท์และคืนความสุขให้กับประชาชนในที่สุด
โดย กสม. มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อคณะรัฐมนตรีให้ทบทวนการใช้กฎหมายพิเศษที่เกี่ยวกับความมั่นคง หรือกฏหมายที่มีคำสั่งที่มีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน หากต้องการใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อย ควรคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วน โดยกระทำเท่าที่จำเป็น และไม่กระทบสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ รวมถึงควรกำกับดูแลหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ยึดมั่นในหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมด้วย
(อ่านรายงาน กสม. ฉบับเต็ม : https://cabinet.soc.go.th/doc_image/2559/9931931413.pdf)
ทั้งนี้ในรายงาน กสม. มีความเห็นที่น่าสนใจ และน่าจะตรงใจใครหลายคนสำหรับสารพัดปัญหาที่ถูกร้องเรียน อย่างน้อย 2 ประโยค ได้แก่
“การแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองย่อมต้องใช้มาตรการการแก้ไขปัญหาทางการเมือง ส่วนผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ไม่ว่าคดีอาญา หรือคดีความมั่นคง ก็ต้องใช้กระบวนการยุติธรรมมาเป็นเครื่องมือตัดสินวินิจฉัยดำเนินการเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษ”
และ “การชุมนุมทางการเมืองก็ต้องแก้ไขโดยวิถีทางการเมือง คือการเจรจา พูดคุย ปรึกษา หารือทางออก แต่มาตรการที่ใช้กำลังรุนแรงหรือกฏหมายความมั่นคง ไม่สามารถยุติปัญหาหรือความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทยได้”
ซึ่งสะท้อนความเห็นของประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่อาจไม่เห็นดีเห็นงามกับการรัฐประหารของ คสช. และต้องการเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกลับคืนมา
อย่างไรก็ดีรายงานดังกล่าวจัดทำขึ้นในช่วง กสม. ชุดที่ 2 ซึ่งขณะนี้ชุดดังกล่าวพ้นจากการดำรงตำแหน่งไปแล้ว และบริบททางการเมืองก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ปัจจุบันครบรอบ 2 ปี การบริหารแผ่นดินโดย คสช. และมีการยกเลิกกฎอัยการศึกไปแล้ว
แต่แทนที่ด้วย ‘ม.44’ ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแทน ซึ่งถูกหลายฝ่ายมองว่า มีอำนาจล้นฟ้า ยิ่งกว่ากฎอัยการศึกเสียอีก ?
และปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจตาม ม.44 ดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการพักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ส่อทุจริตจำนวนหลายร้อยราย การแต่งตั้งโยกย้ายบุคคลต่าง ๆ หลายราย รวมถึงเรื่องอื่น ๆ อีกจำนวนไม่น้อย ซึ่งบางเรื่องถูกมองว่า ไม่ควรใช้อำนาจดังกล่าว เพราะอาจจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนอยู่ดี
ล่าสุด คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงกลาโหม ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เป็นผู้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังกล่าวแล้ว
เพื่อหวัง ‘ผ่อนคลาย’ กฎเหล็กที่บังคับใช้มานานประมาณ 2 ปีภายหลังรัฐประหาร
เห็นได้จากที่มีการผ่อนปรนให้นักการเมืองเดินทางออกนอกประเทศได้โดยไม่ต้องขออนุญาต คสช. ก่อน แต่ถ้าเป็นบุคคลที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ต้องขออนุญาตศาลตามกฎหมายปกติ
ท้ายสุดจะได้เห็นการผ่อนปรนในรูปแบบใดอีกบ้าง หรือจะมีการพลิกแพลงการใช้ ‘กฎหมายพิเศษ’ ในรูปแบบใดอีก ต้องรอติดตามกันต่อกันยาว ๆ หลังจากนี้ !