นักวิชาการชู 'โคราชโมเดล' ต้นเเบบแก้ปัญหาบุหรี่ใช้ชุมชนเป็นฐาน
นักวิชาการเชื่อขจัดปัญหาบุหรี่ให้ได้ผลต้องใช้ชุมชนเป็นฐาน แนะเจ้าหน้าที่ปรับการทำงานจากรับเป็นรุก หลังพบประสบความสำเร็จจากโคราชโมเดล เลิกบุหรี่ได้กว่า 9,000 คน ในปี 2558 ประกาศขยายผลต่อเนื่องใน 7 จังหวัด
รศ.ดร.มณฑา เก่งการพานิช คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้จัดการโครงการควบคุมยาสูบโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน จากการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) กล่าวว่า แม้ปัจจุบันทางภาครัฐจะออกมาตรการควบคุมบุหรี่มากมาย เช่น การขึ้นภาษี การออก พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ การทำระบบบริการเลิกบุหรี่ มาตรการคำเตือนบนซองบุหรี่ และการปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมาย แต่พบว่ามาตรการต่างๆ นั้นยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าไหร่นัก เพราะยังมีปัจจัยที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การขึ้นภาษีบุหรี่ให้แพงขึ้น แต่โรงงานผลิตบุหรี่ก็จะผลิตยี่ห้อใหม่ที่มีราคาถูกลงเพื่อเอาใจคนสุบบุหรี่ที่มีรายได้น้อย ขณะเดียวกันบุหรี่เถื่อนที่เต็มท้องตลาดโดยเฉพาะจังหวัดติดชายแดน เช่นเดียวกับมาตรการการส่งเสริมให้คนเลิกสูบบุหรี่ก็เป็นไปอย่างล่าช้า เพราะเจ้าหน้าที่มีงานประจำมากพออยู่แล้ว และนโยบายยังลงไปไม่ถึงพื้นที่ชนบทที่ห่างไกล
โครงการจึงได้ดำเนินงานทางวิชาการในรูปแบบ R2R หรือ Routine to research ในโครงการควบคุมยาสูบโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินงานใน 7 จังหวัด คือ นครราชสีมา บุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี เชียงราย แม่ฮ่องสอน ที่พบปัญหาการสูบบุหรี่รุนแรงทั่วประเทศ โดยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ร่วมกับชุมชนเป็นผู้ดำเนินงานเพื่อคัดกรองผู้สูบบุหรี่และจัดกระบวนการเลิกบุหรี่ให้นักสูบในชุมชนของตนเอง ก่อให้เกิดประสิทธิภาพและความยั่งยืน ซึ่งกระบวนการนี้ได้ผ่านการทดลองดำเนินงานมาจากโคราชโมเดล ที่สามารถลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ได้กว่า 9,000 คน ในจังหวัดนครราชสีมา
สำหรับการทำงานเชิงรุกในพื้นที่โดยใช้ชุมชนเป็นฐานนั้น นักวิชาการ ม.มหิดล อธิบายว่า เป็นรูปแบบการทำงานที่เข้าถึงชุมชน ให้ชุมชนได้จัดการตนเอง สร้างมาตรการขึ้นควบคุมกันเอง จัดระเบียบร้านค้า โดยกลยุทธ์สำคัญคือการจัดคลินิกเคลื่อนที่เข้าไปตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองผู้สูบบุหรี่ ใช้เครื่องเป่าปอดกระตุ้นให้เห็นผลเสียต่อสุขภาพของผู้สูบ จากนั้นให้ผู้สูบบุหรี่มาร่วมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมเลิกบุหรี่ปรับพฤติกรรมในระดับบุคคล โดยให้กิจกรรมในแต่ละชุมชนหลากหลายเป็นไปตามรูปแบบชุมชนเอง
“กิจกรรมเชิงรุกที่ทำในระดับชุมชนเป็นรูปแบบที่เข้าถึงตัวบุคคล และในปี 2559 นี้พบว่าในแต่ละพื้นที่สามารถเลิกบุหรี่ได้ถึง 50% จาก 143 ชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งหลังจากทำโครงการแล้วจะเกิดความยั่งยืนในชุมชนด้วยเพราะเป็นการสร้างเสริมศักยภาพให้ชุมชนเรียนรู้และทำงานเอง รวมทั้งบูรณาการในกิจกรรมที่ทำอยู่ เช่น ในคลินิกโรคเรื้อรังของ รพ.สต.” รศ.ดร.มณฑา กล่าว
สำหรับข้อมูลผู้สูบบุหรี่ในประเทศนั้น สำรวจเมื่อปี พ.ศ.2557 พบว่าคนไทยสูบบุหรี่มากถึง 11.4 ล้านคน หรือ ร้อยละ 20.7 โดยภูมิภาคที่สูบบุหรี่มากที่สุดคือ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งนิยมบุหรี่มวนมากกว่าบุหรี่โรงงานถึง 60% อัตราเฉลี่ยสูบบุหรี่ 11.5 มวนต่อวัน