ไขปริศนา? ทำไมอัยการไม่ฟ้อง ผอ.สำนักพุทธฯสงขลาเรียกรับเงิน 3.2 ล.
“…ประเด็นสำคัญคือ ทำไมถึงไม่ให้ทางวัดโอนเงินคืนกลับไปยังสำนักพระพุทธฯเอง ไฉนถึงต้องให้ทางวัดเบิกออกมาเป็นเงินสด หิ้วไปมอบให้กับนายเสถียร เพราะต้องไม่ลืมว่าการถือเงินสดจำนวนกว่า 3.2 ล้านบาท ย่อมเป็นที่สังเกตของบุคคลอื่น ซึ่งอาจเกิดอันตรายขึ้น ทำไมถึงต้องทำเรื่องนี้ให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อนด้วย ?...”
กลายเป็นเงื่อนปมน่าสงสัยขึ้นมาในทันที !
ภายหลังสำนักงานอัยการ จ.สงขลา มีคำสั่งไม่ฟ้องนายเสถียร ดำรงคดีราษฎร์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนา จ.สงขลา ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเรียกรับเงินจากวัด จำนวน 3.2 ล้านบาท โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จ.สงขลา สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ภาค 15 และตำรวจ สภ.สงขลา เข้า ‘จับสด’ พร้อมของกลางเป็นเงินสดจำนวนดังกล่าว
โดยให้เหตุผลว่า พยานหลักฐานไม่พอฟ้อง และมีนางประนอม คงพิกุล รอง ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ‘การันตี’ ว่า นายเสถียร นำเงินสดดังกล่าวไปแบ่งจ่ายวัดอื่น ๆ ต่อจริง ไม่ได้เป็นการเรียกรับเงินแต่อย่างใด !
(อ่านประกอบ : หลักฐานไม่พอ! อัยการไม่ฟ้อง ผอ.สำนักพุทธฯสงขลาเรียกรับเงินวัด 3.2 ล.)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบหนังสือที่สำนักงานอัยการ จ.สงขลา ระบุคำสั่งไม่ฟ้อง พบรายละเอียด ดังนี้
หนังสือดังกล่าวระบุการพิจารณาของอัยการ โดยพบข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2558 ขณะที่ผู้ต้องหา (นายเสถียร) มีตำแหน่งหน้าที่เป็น ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนา จ.สงขลา นัดพบกับพระครูบริหารสังฆานุวัตร และมีการเรียกรับเงินที่ทางสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติโอนเป็นเงินสนับสนุนสำหรับจัดทำโครงการอบรมพระธรรมทูตเผยแผ่พุทธศาสนา ประจำปี 2558 โดยได้โอนเงินเข้าวัดชลธาราวาส จำนวน 4 ล้านบาท และผู้ต้องหาได้เรียกรับเงินและทำความตกลงกับวัดให้มอบเงิน จำนวน 3.3 ล้านบาท ให้แก่ผู้ต้องหา โดยทางวัดตกลงมอบเงินให้แก่ผู้ต้องหาจำนวน 3.2 ล้านบาท นัดส่งมอบเงินที่ห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัส สาขาสงขลา
ทั้งนี้ผู้กล่าวหาได้ร่วมวางแผนจับกุมกับพระครูบริหารสังฆานุวัตร เข้าทำการควบคุมตัวผู้ต้องหาได้พร้อมเงินสด จำนวน 3 ล้านบาท อยู่ในซองกระดาษสีน้ำตาล ส่วนอีกจำนวน 1.4 แสนบาท พระครูฯนำมามอบให้ และอีกจำนวน 6 หมื่นบาท พบที่ตัวของผู้ต้องหา จึงควบคุมตัวผู้ต้องหาพร้อมเงินของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน ทำการสอบสวน
พิจารณาแล้ว คดีมีผู้กล่าวหาจับผู้ต้องหาได้พร้อมของกลาง ซึ่งจากการสอบสวนได้ความว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในเรื่องการจัดกิจกรรมทางศาสนา ซึ่งฝ่ายผู้ต้องหามีนางประนอม คงพิกุล รอง ผอ.สำนักพุทธฯ ให้การยืนยันว่า การกระทำของผู้ต้องหาเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ และยืนยันว่าวัดชลธาราวาส ได้รับจัดสรรเงินประมาณ 8 แสนบาท และโอนเข้าบัญชีวัดไป 4 ล้านบาท จึงเป็นเงินที่ต้องนำไปจัดสรรให้วัดอื่น จำนวน 3.2 ล้านบาท
ซึ่งผู้ต้องหามีอำนาจในการปรับ ลด เพิ่ม เปลี่ยนแปลงงบประมาณโครงการ สถานที่ได้ทั้งหมด และยืนยันว่าเงินจำนวน 3.2 ล้านบาท เป็นเงินที่ต้องนำไปใช้ในกิจกรรมอื่นอีก 3 กิจกรรม โดยมีนายมานะ ลืสวัสดิ์ ผอ.สำนักพระพุทธฯ จ.นราธิวาส และนายถมยา ศรีประสมสวัสดิ์ ผอ.สำนักงานพระพุทธฯ จ.ปัตตานี ให้การยืนยันว่า เงินจำนวน 3.2 ล้านบาท เป็นเงินที่ผู้ต้องหาขอรับคืนเพื่อนำไปจัดสรรโครงการอื่นอีก 3 โครงการ ซึ่งผู้ต้องหาสามารถปรับเปลี่ยนได้
ดังนั้นพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุที่ได้ทำการสอบสวนมา ข้อเท็จจริงไม่พอรับฟังได้ว่าผู้ต้องหากระทำผิดตามข้อกล่าวหา คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง จึงมีคำสั่งไม่ฟ้อง นายเสถียร ผู้ต้องหาดังกล่าว (ดูเอกสารประกอบ)
อย่างไรก็ดีกรณีนี้มีเงื่อนปมที่น่าสังเกตประการหนึ่งคือ นางประนอม ให้การยืนยันว่า สำนักพระพุทธฯ โอนเงินให้กับวัดชลธาราวาส เพื่อจัดทำโครงการจริง โดยต้องจัดสรร 8 แสนบาท แต่โอนให้ 4 ล้านบาท เท่ากับว่าเกินไป 3.2 ล้านบาท ดังนั้นนายเสถียรจึงมีอำนาจในการเรียกเงินดังกล่าวคืน
แต่ประเด็นสำคัญคือ ทำไมถึงไม่ให้ทางวัดโอนเงินคืนกลับไปยังสำนักพระพุทธฯเอง ไฉนถึงต้องให้ทางวัดเบิกออกมาเป็นเงินสด หิ้วไปมอบให้กับนายเสถียร
เพราะต้องไม่ลืมว่าการถือเงินสดจำนวนกว่า 3.2 ล้านบาท ย่อมเป็นที่สังเกตของบุคคลอื่น ซึ่งอาจเกิดอันตรายขึ้น ทำไมถึงต้องทำเรื่องนี้ให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อนด้วย ?
อีกประการหนึ่งคือ สำนักงบประมาณ คือผู้จัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานต่าง ๆ โดยมีการระบุชื่อหน่วยงานไว้ชัดเจนว่า หน่วยไหนได้งบประมาณเท่าไหร่ สำหรับสำนักพระพุทธศาสนาฯ ที่มีหน้าที่จัดสรรงบให้กับวัดต่าง ๆ ก็เช่นเดียวกัน
ในเมื่อสำนักงบประมาณมีการระบุไว้ชัดเจนแล้วว่า วัดใดได้เท่าไหร่ แล้วไฉนจึงมีการโอนผิดขึ้นมาได้อีก ?
และจำนวนเงินที่โอนผิดก็ไม่ใช่แค่บาทสองบาท แต่เป็นเงินถึง 3.2 ล้านบาท ซึ่งจะเกิดความผิดพลาดถึงขนาดนี้ได้เชียวหรือ ?
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวในสำนักงาน ป.ป.ช. ถึงกรณีนี้ว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจาก ผอ.สำนักพระพุทธศาสนาฯประจำจังหวัด คือข้าราชการระดับ (ซี) 8-9 โดยภายหลังเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ร่วมจับกุมนายเสถียรแล้ว พนักงานสอบสวน สภ.เมืองสงขลา ได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าพนักงานสอบสวนเป็นผู้สอบสวนอยู่แล้วจึงให้ดำเนินการต่อ กระทั่งดำเนินการเสร็จได้ทำเรื่องส่งฟ้องต่ออัยการ และอัยการไม่ฟ้องดังกล่าว
แหล่งข่าว ระบุอีกว่า อย่างไรก็ดีแม้การสอบสวนคดีนี้จะยุติลงแล้ว เนื่องจากตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่า หากอัยการมีความเห็นไม่สั่งฟ้อง ให้ส่งเรื่องให้กับผู้บัญชาการตำรวจประจำภาค เป็นผู้ชี้ขาด ซึ่งผู้บัญชาการฯได้มีความเห็นตามไม่สั่งฟ้องตามอัยการ แต่คดีดังกล่าวยังไม่ยุติ เพราะยังอยู่ในอำนาจการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อยู่ ดังนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีสิทธิ์จะสั่งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม หรือดึงเรื่องดังกล่าวกลับมาไต่สวนเองได้ใหม่