นับหนึ่ง "ร่าง พ.ร.บ.อุ้มฆ่า-อุ้มหาย" หลัง ครม.ไฟเขียว
คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มฆ่าอุ้มหายแล้ว พร้อมเดินหน้าให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศในเรื่องนี้ ท่ามกลางสภาพปัญหาภายในประเทศที่มีข่าวการอุ้มฆ่าบุคคลโดยมีเจ้าหน้าที่รัฐตกเป็นผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยจำนวนมาก ทั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 24 พ.ค.59 ครม.ได้ให้ความเห็นชอบการเตรียมเข้าร่วมภาคีเครือข่ายและให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการถูกบังคับให้สูญหาย พร้อมกันนี้กระทรวงยุติธรรมได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหาญ เพื่อให้สอดคลองกับการเข้าร่วมภาคีเครือข่ายอนุสัญญาดังกล่าวด้วย ซึ่ง ครม.ก็ให้ความเห็นชอบเช่นกัน
สาระสำคัญของร่างกฎหมาย จะกำหนดโทษบุคคลที่อุ้มฆ่าหรือทรมานไม่ว่าจะโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ โดยการกระทำเหล่านี้ให้ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย นอกจากนี้หากมีสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นภายในประเทศ หรือแม้แต่เกิดสงคราม ก็ไม่สามารถบังคับให้บุคคลใดสูญหายไปได้ โดยการบังคับบุคคลให้สูญหาย หรือ อุ้มหาย จะมีอายุความ 20 ปี พร้อมทั้งมีบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองเสรีภาพ กรณีบุคคลที่ถูกจำกัดสิทธิ์ จะต้องติดต่อญาติหรือทนายความได้ตลอดเวลา และยังต้องแจ้งสถานที่คุมขังให้ญาติทราบด้วยเช่นกัน
หากร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะมีการตั้งคณะกรรมการป้องกันการสูญหายเข้ามากำกับดูแล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน และทำหน้าที่กำกับการสืบสวนสอบสวนด้วย
การที่ ครม.ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหาย ได้รับการขานรับจากองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง โดย นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่านับเป็นนิมิตหมายอันดี และวันที่ ครม.ให้ความเห็นชอบ ก็เป็นวันครบรอบการหายไปเป็นเวลา 4 เดือนของ นายฟาเดล เสาะหมาน จาก จ.ปัตตานี และ นายเด่น คำแหล้ หรือลุงเด่น นักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน ที่ จ.ชัยภูมิ
ขณะที่ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมที่ถูกอุ้มหายไปนานกว่า 12 ปี กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ ครม.เห็นชอบร่างกฎหมาย และพร้อมให้สัตยาบันกับอนุสัญญาฯที่เกี่ยวข้อง แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นต้องติดตามดูการพิจารณาร่างกฎหมายในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เพราะอาจมีการแก้เนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญอีกหลายส่วน
การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีมาตลอดหลายปี เพราะประเทศไทยมีปัญหาการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหาในคดีอาญา รวมทั้งยังมีปัญหาอุ้มฆ่าอุ้มหายอย่างต่อเนื่อง โดยตัวร่างกฎหมายจัดทำเสร็จตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 มีการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่แล้วก็เงียบหายไป โดยองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนพยายามเรียกร้องให้เร่งเสนอเข้า ครม. กระทั่งประสบความสำเร็จเมื่อวันอังคารที่ 24 พ.ค.59
กฎหมายฉบับนี้เป็นการอนุวัตกฎหมายภายในของไทย หลังจากไทยได้เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ และร่วมลงนามในอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหาย (อุ้มฆ่า อุ้มหาย) ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีกฎหมายกำหนดความผิดทางอาญาเป็นการเฉพาะ โดยเฉพาะ "อุ้มหาย" คงมีแต่เพียงบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการกักขังหน่วงเหนี่ยว และฐานความผิดข้างเคียงเท่านั้น ซึ่งก็ไม่เพียงพอต่อการรับมือกับการกระทำความผิด โดยเฉพาะหากเกี่ยวโยงกับเจ้าหน้าที่รัฐ
กระทั่งเกิดปรากฏการณ์ "ลอยนวล" ของผู้กระทำผิดมากมายหลายกรณี!
คดีอุ้มฆ่า ทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม หรือการหายตัวไปของ "บิลลี่" พอละจี รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงบางกลอย นับเป็นคดีตัวอย่างที่น่าสนใจว่าหากไม่มีกฎหมายโดยตรง ใช้เพียงประมวลกฎหมายอาญา ก็ไม่สามารถเอาผิดใครได้ แม้บุคคลที่อยู่กับผู้สูญหายคนสุดท้ายจะได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็ตาม
คดีอุ้มฆ่าทนายสมชาย เป็นคดีบังคับบุคคลให้สูญหายคดีเดียวในประเทศไทยที่ถูกนำขึ้นสู่ศาล แต่เมื่อต่อสู้คดีถึงศาลฎีกา กลับไม่สามารถเอาผิดเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นายที่ตกเป็นจำเลยได้
เรื่องที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นก็คือ ในปี 2559 ยังปรากฏข่าวฆ่าเผานั่งยางอย่างครึกโครมที่ จ.อุดรธานี มีการพบร่องรอยการเผาและเศษกระดูกถึง 23 จุด และในช่วงเวลาเดียวกันก็ยังมีคดีที่เข้าข่ายเป็นการอุ้มฆ่า อุ้มหายปรากฏอย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีของ ลุงเด่น คำแหล้ วัย 65 ปี แกนนำนักเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิให้แก่ชาวบ้านในชุมชนป่าโคกยาว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ โดยลุงเด่นหายตัวไปในเดือน เม.ย. และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีใครทราบข่าวคราว
ช่วงต้นปีที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีคดีอุ้มหายจำนวนไม่น้อยตลอด 12 ปีที่มีสถานการณ์ความรุนแรงและการต่อสู้กันด้วยอาวุธ นายฟาเดล เสาะหมาน ชาวบ้านใน จ.ปัตตานี ก็ถูกชายฉกรรจ์อุ้มหายไป โดยคดีไม่มีความคืบหน้า
ปลายปีที่แล้ว นายณัฐพงค์ หรือ อาร์ม ศรีคะโชติ เด็กหนุ่มวัยเพียง 19 ปี ก็ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับยาเสพติด เข้าอุ้มตัวถึงในบ้านที่ จ.ฉะเชิงเทรา ต่อหน้าต่อตาบิดา แม้หลังจากนั้นผู้เป็นพ่อจะออกตามหา และร้องเรียนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แต่คดีความก็ค่อยๆ เงียบหาย เช่นเดียวกับความหวังที่ว่าลูกชายจะมีโอกาสได้กลับบ้าน
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : กิจกรรมยืนสงบนิ่งที่ปากซอยรามคำแหง 69 เมื่อเดือน มี.ค.ปี 58 ในวาระครบ 11 ปีการหายตัวไปของทนายสมชาย โดยผู้หญิงสองคนกลาง คือ อังคณา กับ ประทับจิต นีละไพจิตร ภรรยาและลูกสาวของทนายสมชาย