โยกย้ายไม่เป็นธรรม...จาก 'ถวิล เปลี่ยนศรี ถึงหมอศิริวัฒน์ อดีตเลขาฯ อย.'
นพ.ศิริวัฒน์ อดีตเลขาอย. ปัจจุบันเกษียนอายุราชการมาแล้ว 5 ปี ใช้เวลานาน 8 ปี ในการสู้คดี ในที่สุดไม่สามารถกลับไปตำแหน่งเลขาธิการอย.ดังเดิมได้ เทียบกับกรณีนายถวิล เปลี่ยนศรี ศาลมีคำพิพากษาออกมาในขณะที่เขายังเหลือเวลาอีก 6 เดือน ก่อนเกษียณอายุราชการ
ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความอยุติธรรม...
ข้าราชการถูกโยกย้ายอย่างไม่เป็นธรรม หากยังจำกันได้ที่เป็นข่าวโด่งดังหนีไม่พ้น กรณีของนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเกมการเมือง จากเดิมที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมช. ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกย้ายไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ
เขาใช้เวลา 2 ปี 6 เดือน กับกระบวนการต่อสู้คดี จนกระทั่งวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พิจารณา คืนตำแหน่งให้
ต่อมาวันที่ 25 มีนาคม 2557 คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 ที่อนุมัติรับโอนและแต่งตั้งนายถวิล เปลี่ยนศรี ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ (นักบริหารระดับสูง) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ เพื่อให้นายถวิล เปลี่ยนศรี ได้กลับสู่ตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2554 ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 ตามคดีหมายเลขดำ ที่ อ. 992/2556 คดีหมายเลขแดง ที่ อ.33/2557
ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะกับข้าราชการระดับสูงหลายคนที่ถูกนักการเมืองเด้งเข้ากรุ ไปนั่งตบยุง มีให้เห็นอยู่เนืองๆ ซึ่งไม่ต่างจากอดีตเลขาธิการ สมช. นั่นก็คือกรณีของ "ขุนพลซีแอลยา" นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) (นักบริหาร 10 ) ที่ถูกให้ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (ผู้ตรวจราชการ 10) เขาใช้เวลาต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมนานถึง 8 ปี
จนล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้นพ.ศิริวัฒน์ ชนะคดี
คดีนี้ นพ.ศิริวัฒน์ ได้ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรีนายสมัคร สุนทรเวช (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 )และปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ) ต่อศาลปกครอง เรื่องออกคำสั่งโยกย้ายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้ออกจากตำแหน่งเลขาธิการ อย.ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อต้น ปี 2551
เนื้อหาในคำฟ้อง นพ.ศิริวัฒน์ ระบุว่า แม้เป็นการย้ายไปตำแหน่งระดับเดียวกัน แต่การย้ายจากตำแหน่งนักบริหารระดับกรม ไปดำรงตำแหน่งที่มิใช่ตำแหน่งบริหารนั้น ถือเป็นการย้ายที่ลดชั้น เสมือนเป็นการลงโทษ ทั้งๆ ที่มิได้กระทำความผิด อีกทั้ง ตั้งแต่รับราชการมาก็ไม่เคยถูกร้องเรียนหรือกล่าวโทษ แต่ได้อุทิศตัวทำงานในและนอกเวลาราชการอย่างเต็มที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จนได้รับรางวัลแพทย์สาธารณสุขดีเด่นและรางวัลเชิดชูเกียรติเป็นกรณีพิเศษมาแล้ว
ในศาลปกครองชั้นต้น นพ.ศิริวัฒน์ ได้ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง 1.เพิกถอนมติ ที่ให้ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการ และ 2.ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอย.ดังเดิม รวมถึงขอให้ศาลกำหนดมาตรการชั่วคราว ก่อนการพิพากษา ซึ่งศาลชั้นต้น มีคำสั่งให้ยกคำขอ และยกฟ้องในคดีดังกล่าวตามลำดับ
ต่อมา นพ.ศิริวัฒน์ ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ 1055 /2551 หมายเลขแดงที่ 1900 / 2554 ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง)
ความน่าสนใจของคำพิพากษา ที่ศาลปกครองสูงสุด วินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์ รวม 2 ประเด็นคือ
1.การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช) มีมติเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2551 ให้ย้ายนพ.ศิริวัฒน์ ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สธ.) เสนอ ต่อมาได้ประกาศสำนักนายกฯลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2551 แต่งตั้งนพ.ศิริวัฒน์ ตามมติคณะรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช เป็นการออกคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ทั้งนี้ ศาลได้พิจารณาประเด็น การใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) ด้วย โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงขั้นตอนและกระบวนการในการดำเนินการแต่งตั้งนพ.ศิริวัฒน์จะเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดก็ตาม
แต่เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่า นายไชยา ได้ประกาศนโยบายทบทวนการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาของผู้ผลิต สำหรับยารักษาโรคมะเร็งเพิ่มเติม ซึ่งรัฐบาลชุดก่อนหน้าได้ประกาศใช้สิทธิของประเทศเหนือสิทธิบัตรยาของผู้ผลิต อันเป็นบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข เป็นอำนาจหน้าที่ของนายไชยา ตามกฎหมาย
นพ.ศิริวัฒน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการอย.และเป็นประธานคณะกรรมการเจรจาต่อรองเพื่อการเพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็นที่มีสิทธิบัตร มีอำนาจหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติและดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของนายไชยา และรัฐบาล ก่อนหน้านพ.ศิริวัฒน์ได้มีหนังสือด่วนที่สุดขอเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประกาศใช้สิทธิของประเทศไทยเหนือสิทธิบัตรยาให้นายไชยาทราบ แต่นายไชยาก็มิได้ให้โอกาสนพ.ศิริวัฒน์เข้าชี้แจงแต่อย่างใด
การที่นายไชยา เสนอคณะรัฐมนตรี มีมติแต่งตั้งนพ.ศิริวัฒน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการอย.ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง โดยอ้างเหตุผลเพื่อความเหมาะสมและทางราชการจะได้ประโยชน์มากกว่า ศาลฯ เห็นว่า แม้การย้ายนพ.ศิริวัฒน์ ยังคงดำรงตำแหน่งในระดับ 10 และยังคงได้สิทธิประโยชน์จากทางราชการดังเดิม แต่เป็นการย้ายจากตำแหน่งสายงานนักบริหารไปสู่สายงานการตรวจราชการ ซึ่งมีความแตกต่างกัน ในบทบาทและอำนาจหน้าที่อย่างมีนัยสำคัญ
ประกอบกับการย้ายไปนั่งผู้ตรวจราชการฯ ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า นพ.ศิริวัฒน์ได้โต้แย้งคัดค้าน หรือไม่สนองนโยบายนายไชยา อย่างใด และไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า นพ.ศิริวัฒน์ได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเลขาอย.โดยไม่มีประสิทธิภาพ หรือบกพร่อง อันเป็นเหตุให้ผู้บังคับบัญชาสามารถปรับย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่นได้ตามเหมาะสม
นอกจากนี้การปรับย้ายยังเป็นการปรับย้ายนอกฤดูกาลโยกย้ายปกติ และกระทำอย่างเร่งรีบ
จากข้อเท็จจริงที่ปรากฎกรณีจึงน่าจะเกิดจากการคาดคะเนของนายไชยาว่า นพ.ศิริวัฒน์ น่าจะเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการดำเนินนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เท่ากับว่า ฝ่ายบริหารได้ใช้อำนาจดุุลพินิจในการย้านพ.ศิริวัฒน์โดยไม่มีเหตุผลรองรับอย่างเพียงพอ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
ประเด็นที่สอง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ปลัดกระทรวงสาธารณสุข) มีคำสั่งกระทรวง ให้นพ.ศิริวัฒน์พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการอย. และให้ไปรักษาการในตำแหน่งผู้ตรวจราชการฯ เป็นการออกคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เป็นการออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน
สรุปคดีนี้ ศาลปกครองสูงสุด กลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ให้นพ.ศิริวัฒน์ชนะคดี โดย 1.ต้องเพิกถอนคำสั่งคือ มติ ครม. วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2551 ที่ให้ย้ายนพ.ศิริวัฒน์ และ 2. เพิกถอนคำสั่งของปลัดกระทรวงฯ ที่ให้นพ.ศิริวัฒน์ไปรักษาการในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข
ปัจจุบันนพ.ศิริวัฒน์ เกษียนอายุราชการมาแล้ว 5 ปี กระบวนการยุติธรรมที่ใช้เวลานาน ทำให้ในที่สุดเขาไม่สามารถกลับไปตำแหน่งเลขาธิการอย.ดังเดิมได้ ขณะที่นักการเมือง ปลัดกระทรวงคู่ความก็ได้เสียชีวิตไปแล้ว เทียบกับกรณีนายถวิล เปลี่ยนศรี ต่างกันตรงที่ศาลฯ มีคำพิพากษาออกมาในขณะที่เขายังเหลือเวลาอีก 6 เดือน ก่อนเกษียณอายุราชการ
การที่ข้าราชการถูกโยกย้ายออกจากตำแหน่งโดยไม่เป็นธรรม จึงนับได้ว่า เป็นความเจ็บปวดของคนที่ตั้งหน้าตั้งตาทำงานมาด้วยความมานะบากบั่น แล้ววันหนึ่งต้องถูกนักการเมือง ย้ายออกจากสถานที่ที่เคยทำงานมากว่าค่อนชีวิต แต่ละปีเราได้สูญเสียบุคลากรเหล่านี้ไปมิใช่น้อย ๆ อันเนื่องมาจากการทำลายระบบคุณธรรมในราชการ และยิ่งสร้างความเจ็บปวดเพิ่มขึ้นเข้าไปอีก เมื่อข้าราชการเหล่านั้นหันพึ่งกระบวนการยุติธรรมเพื่อกู้ศักดิ์ศรีคืน แต่กลับพบว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยล่าช้า และกินเวลานาน