ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย
เรื่อง การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ และร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. ....
วันที่ 24 พฤษภาคม 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วย การคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ และเสนออนุสัญญาฯ ดังกล่าวให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 23 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งอนุสัญญาฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อห้ามเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ในนามเจ้าหน้าที่รัฐ กระทำการบังคับให้บุคคลสูญหาย (อุ้มหาย) ในทุกกรณี
2. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติติ่ไป ทั้งนี้ ให้กระทรวงยุติธรรมรับความเห็นของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติในประเด็นการรับรองหลักการไม่ผลักดันกลับไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
3. รับทราบแผนการจัดทำกฎหมายลำดับรองและกรอบระยะเวลา
สาระสำคัญของเรื่อง
1. การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ นี้ เป็นการยืนยันนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการเคารพและส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมให้สังคมไทยมีความปลอดภัยมากขึ้น สร้างความมั่นใจกับประชาชนว่าการลิดรอนเสรีภาพจากรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะกระทำมิได้ รวมทั้งเป็นการสร้างแรงจูงใจในการลงทุนในประเทศ ตลอดจนจะเป็นหลักประกันความยุติธรรม ทั้งนี้ หากสามารถผลักดันเรื่องนี้ให้มีความก้าวหน้าก็จะเป็นพัฒนาการเชิงบวกที่สามารถแถลงต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในการรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยภายใต้กลไก UPR ครั้งที่ 2 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส อันจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทย
2. การตราพระราชบัญญัติเฉพาะเพื่ออนุวัติการตามอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ จะทำให้การกำหนดฐานความผิดเฉพาะสำหรับการกระทำทรมานฯ และการบังคับบุคคลให้หายสายสูญ รวมทั้งมีการกำหนดมาตรการในการป้องกัน ปราบปราม ดำเนินคดี เยียวยาผู้เสียหายและครอบครัว ฯลฯ ซึ่งสอดคล้องและครอบคลุมพันธกรณีทั้งหมดที่กำหนดไว้ตามเจตนารมณ์ของอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ได้อย่างสมบูรณ์
3. ยธ. ได้จัดทำแผนการจัดทำกฎหมายลำดับรองและกรอบระยะเวลาของร่างพระราชบัญญัติเรียบร้อยแล้ว คือ 1) ระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจำกัดเสรีภาพ (ร่างมาตรา 19) 2) ระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดให้มีนักนิติศาสตร์วิทยาศาสตร์ แพทย์ หรือจิตแพทย์ และวิธีการสืบสวนสอบสวน (ร่างมาตรา 38) 3) ระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยค่าตอบแทนของพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินคดี และที่ปรึกษาคดีทรมานหรือคดีบังคับบุคคลให้สูญหาย (ร่างมาตรา 43) ทั้งนี้ ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศพระราชบัญญัติใน ราชกิจจานุเบกษา