บทวิพากษ์พูดคุยดับไฟใต้สไตล์ทหาร และไม่มี"ตัวปลอม"ในกระบวนการสันติภาพ
กระบวนการพูดคุยดับไฟใต้ที่หยุดชะงักไปจากการตกลงกันไม่ได้เรื่องร่างทีโออาร์ที่เป็นกรอบการพูดคุย นำมาสู่คำถามมากมาย
ในวาระ 2 ปีการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการที่สนใจงานด้านสันติวิธี มีคำตอบของหลายๆ คำถามที่ยังค้างคาใจผู้คน
O กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯที่กำลังมีปัญหา อาจารย์มองว่าเป็นเรื่องปกติของพื้นที่ขัดแย้ง หรือเป็นบริบทเฉพาะของประเทศไทย โดยเฉพาะจากท่าทีแข็งกร้าวของผู้นำประเทศ?
มันอธิบายได้ทั้ง 2 ด้าน คือ หนึ่ง การสนทนาสันติภาพนั้น คนทำงานในพื้นที่ทราบว่ามีมานานแล้ว ไม่ได้เริ่มต้นสมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพียงแต่คนทำเป็นฝ่ายราชการ ฝ่ายทหาร ก็ได้คุยกับนักรบฝ่ายโน้นอยู่บ้างเป็นระยะ คนเหล่านั้นที่ทำก็ทำด้วยความกล้าหาญ พยายามช่วยสถาปนาความมั่นคง แก้ปัญหาชาติบ้านเมือง
ปัญหาคือ ช่องทางที่เขาทำเวลานั้น นโยบายของรัฐไม่เป็นใจ ต้องเสี่ยงเอา นโยบายสมัยก่อนก็ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
เมื่อรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ตัดสินใจนำเรื่องนี้ขึ้นมาอยู่ในภาพกว้าง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ พอรัฐออกมาบอกว่าช่องทางหนึ่งที่จะทำคือการสนทนากับฝ่ายที่ต่อสู้กับรัฐ เมื่อทำแบบนี้ นโยบายก็เห็นชัดเจนขึ้น คนที่ทำงานพูดคุยกันอยู่ก็พอจะหายใจได้มากขึ้น สิ่งที่ปรากฏบนโต๊ะบนจอก็ว่ากันไป แต่ข้อดีคือทำให้นโยบายชัดเจน มีเอกภาพขึ้น แนวทางนี้ก็เข้มแข็งขึ้น เพราะทุกคนก็รู้ว่ารบกันให้ตาย ในที่สุดก็ต้องลงนั่งคุยกัน แทบไม่มีที่ไหนในโลกที่รบไม่มีวันเลิก
สอง ท่าทีของนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แสดงท่าทีแข็งกร้าว ถามว่าธรรมดาหรือไม่ ก็ธรรมดา เพราะการสนทนาพวกนี้หลายๆ ที่ก็เกิดขึ้นอย่างยาวนาน ฟิลิปปินส์ก็ 40 ปี ไอร์แลนด์เหนือก็เป็นสิบๆ ปี ที่น่าสนใจคือมีสัญญาสันติภาพหลายฉบับ แปลว่ามีฉบับที่ 1 เกิดขึ้นแล้วก็เจ๊ง จากนั้นก็มีฉบับที่ 2 มีคนโน้นคนนี้มาช่วย กรณีของฟิลิปปินส์ ก็มีลิเบียมาช่วย มีสนธิสัญญาทริโปลีอะไรต่างๆ
กรณีของสังคมไทย ถามว่าเป็นธรรมดาไหม ก็มองว่าธรรมดาได้ เพราะนโยบายรัฐบาลบางรัฐบาลก็ขึ้นและลง ไม่เท่ากัน รัฐบาลชุดที่แล้วอาจจะเห็นว่าเป็นช่องทางอันหนึ่ง อาจจะแก้ปัญหาที่เขามีอยู่ อาจจะไม่ใช่ปัญหาภาคใต้ด้วยซ้ำไป อาจจะเพื่อชื่อเสียงของเขา แล้วเขาก็มุ่งเพื่อให้ประสบความสำเร็จ มาถึงรัฐบาลชุดนี้ทำๆ ไปแล้วรู้สึกว่ามีปัญหา
ผมยังเชื่อว่าการยื่นมือออกไปทำความรู้จักกับคู่ต่อสู้ของตัวเอง ถ้าคิดจากมุมของการทหาร ก็เป็นสิ่งซึ่งสมควรทำไม่ใช่หรือ หลายคนอาจจะให้ข้อถกเถียงว่า การสนทนาสันติภาพ ถ้ามองจากมุมของเหยี่ยว อย่างน้อยก็ได้เห็นหน้าตาของอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นอย่างไร ได้เห็นข้อเรียกร้องที่ชัดเจนว่าต้องการแบบนี้
การทำเวทีสันติภาพจากมุมของคนที่ไม่เห็นด้วยกับสันติภาพเอาเลย ผลประการหนึ่งของมันก็จะเกิดความแตกแยกในหมู่ของอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ดี เพราะย่อมมีฝ่ายที่อยากขึ้นขบวนรถไฟกับฝ่ายที่ไม่ขึ้น ก็จะเกิดความขัดแย้ง เกิดปัญหากัน ฝ่ายที่ขึ้นรถไฟก็พยายามพิสูจน์ตัวเอง ก็เกิดปัญหา
คำถามคือท่าทีแข็งกร้าว กระทั่งยกเลิกหรือไม่สนใจกระบวนการสันติภาพมีผลดีต่อใคร เป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถามพอสมควร ทราบว่ารัฐบาลเองก็มีกระแสกดดันหลายอย่าง ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากชาวพุทธในพื้นที่รู้สึกว่าทำไมต้องญาติดีกับอีกฝ่ายด้วย ประเด็นเหล่านี้ก็เป็นหน้าที่ของสังคมไทยที่ต้องให้การศึกษาตัวเองว่าทำไมถึงต้องทำสิ่งเหล่านี้ (กระบวนการสันติภาพ) เพื่อแก้ปัญหาประเทศ
O ฉะนั้นการชะงักไปของกระบวนการก็ไม่ได้แปลว่าหยุด เพราะช่องทางมันเปิดแล้ว จะคุยกันต่ออย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ว่ากันไป อย่างนั้นหรือเปล่า?
ครับ เพียงแต่ว่ามันยากขึ้น เพราะพอนายใหญ่ในระบบแบบนี้ เป็นรัฐบาลทหารแบบนี้ คสช.เป็นรัฏฐาธิปัตย์ พอแกแสดงอาการแบบนี้ต่อสาธารณชน ผลที่ตามมาก็คือ กระบวนการก็จะแข็ง
กระบวนการพวกนี้ต้องการความยืดหยุ่น ต้องการพื้นที่ และอะไรอีกหลายอย่าง เช่น เวลาที่เราคุยกันไม่ว่าที่ไหนก็ตาม คำถามใหญ่ๆ ของอีกฝ่ายที่จะถามก็คือ เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขาได้ไหม เขาถึงจะมานั่งคุยกับเราได้ ถือเป็นเงื่อนไขปกติ ถ้าเราบอกว่าไม่ปลอดภัย มาแล้วเดี๋ยวถูกจับ มันก็ไม่สามารถมานั่งเจอกันได้
กระบวนการแบบนี้ต้องสร้างความไว้ใจซึ่งกันและกัน ซึ่งสิ่งนี้ค่อนข้างใหญ่และสำคัญมาก สำคัญยิ่งกว่ากระดาษที่ลงนามกันเสียอีก เพราะกระดาษที่ลงนามนั้นฉีกได้ แต่ความไว้ใจ ถ้าทำดีๆ มันอยู่นาน ไม่รู้ว่ารัฐบาลได้คิดเรื่องพวกนี้ละเอียดแค่ไหน
O มีเสียงวิจารณ์ว่าคุยกับตัวปลอมหรือเปล่า สั่งการนักรบในพื้นที่ไม่ได้หรือเปล่า จริงๆ แล้วในกระบวนการสันติภาพจำเป็นไหมว่าต้องคุยกับตัวจริงเท่านั้น?
การถามว่าตัวจริงหรือตัวปลอม คำถามนี้ผิดในบริบทสังคมไทย เนื่องจากในสังคมไทย คนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐ อาจจะลุกขึ้นมาจากหลายเหตุผล หลายทิศหลายทาง หลายกลุ่มหลายก้อน ผลของมันก็คือว่า การคุยไม่ว่าจะคุยกับใครก็ถูกหมด เพียงแต่จะถูกแบบไหน ไม่ใช่ถูกกับผิด
คนที่เราคุยอาจจะคือร่องรอยมูลเหตุความขัดแย้งในอดีต ก็อาจจะสำคัญอยู่ บางคนเป็นผู้นำจิตวิญญาณ แต่ไม่ได้คุมว่าใครจะไปวางระเบิดตรงไหน ยิงใคร ถามว่าถูกคนไหม...ก็ถูก แต่มันถูกในบริบทนี้
ปัญหาอีกอันในสังคมนี้ คือสังคมไทยรู้จักกันหมด มันก็จะขยายๆ ออกไป ถามว่าถูกคนไหม ในความเห็นนี้ ถามว่าถูกกับผิดไม่มีประโยชน์ ถ้าทุกคนเป็นตัวละครที่ถูกทั้งนั้น เราควรจะให้ความสำคัญกับตัวละครไหน และจะได้ประโยชน์จากกระบวนการสันติภาพที่รวมคนเหล่านี้เข้ามาในระยะยาวได้อย่างไร นี่คือโจทย์ที่สำคัญกว่า
O มีอีกคำถามหนึ่งว่า ทำไมเริ่มคุยแล้วไม่สงบเสียที?
ทุกแห่งในโลก พอเริ่มต้นสนทนาสันติภาพมันยิงกันแหลก ถ้ากระบวนการสนทนาสันติภาพเป็นกระบวนการที่มีความหมาย ใครๆ ก็อยากจะขึ้นเวที ในความขัดแย้งที่ถึงตายแบบนี้ เช่น ภาคใต้ของไทย ภาคใต้ของฟิลิปปินส์ คำถามคือ อะไรคือเงินตราที่คนพวกนี้ใช้เพื่อจะได้ซื้อตั๋วนั่งโต๊ะ นั่นก็คือการใช้ความรุนแรงนั่นเอง เพราะเรากำลังเชื่อว่าการใช้ความรุนแรงทำให้เราเห็นคนพวกนี้สำคัญ
ฉะนั้นก่อนจะมีการสนทนา ก็จะต้องมีความรุนแรงเต็มไปหมดเลย พวกนี้ก็จะได้ขึ้นมา พอขึ้นโต๊ะมาแล้วก็ไม่เลิก ก็ต้องแสดงให้เห็นว่าตัวเองมีศักยภาพ ฉะนั้นจึงนำไปสู่คำถามว่า เวลาสนทนา บางฝ่ายจะเสนอว่าหยุดยิงก่อนจะได้เริ่มคุยได้ไหม จริงๆ แล้วเรื่องอย่างนี้ไม่มีใครเขาทำกัน เพราะเงื่อนไขหยุดยิงสำคัญก็จริง แต่ที่สำคัญกว่าไม่ใช่การหยุดยิง แต่คือความสามารถที่ตัวละครจะแสดงให้เห็นว่าเขาคุมพื้นที่ได้หรือไม่ได้ อย่างไร อันนี้ก็ต้องคุยกัน
O จุดอ่อนของรัฐบาลคืออะไรในกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้?
เวลาคิดเรื่องนี้อยู่ในบริบท 2-3 อย่างที่สำคัญ หนึ่ง ระดับในประเทศ คือบริบทของรูปแบบการปกครองแบบนี้ ถามว่าเป็นอย่างไร มันมีปัญหาแน่ในทางประชาธิปไตย แต่ปัญหามีอยู่ว่า การจัดการกับปัญหาความขัดแย้ง ถ้าคิดอย่างทหารแบบเดียวมันพาไปไหน
ผมเข้าใจว่าในกรอบคิดแบบทหาร ทหารเขาถูกฝึกมาให้ป้องกันประเทศ รักษาอธิปไตยของชาติ ป้องกันสถาบัน ฉะนั้นอะไรที่จะเป็นปัญหากับ 2-3 สิ่งนี้ สำหรับเขาแล้วก็จะเป็นศัตรู
ฉะนั้นพอคนพวกหนึ่งบอกว่า ดินแดนนี้เป็นดินแดนของเขา นี่คือเงื่อนไขเบื้องต้น โอกาสที่ทหารจะมองคนพวกนี้เป็นศัตรูก็สูง แต่มันเป็นความย้อนแย้งอยู่ในตัวที่น่าสนใจมาก จากประสบการณ์ของผม คนที่เข้าใจว่าทำไมจึงจำเป็นต้องพูดคุยมากที่สุดก็คือทหารอีก เพราะเขาต้องตายก่อน เขาเป็นคนถือปืน ฉะนั้นเขารู้ว่าคุณค่าของมันคืออะไร
ถ้าเรามองว่าทั้งหมดนี้คือภารกิจ ทหารที่ทำงานและคิดในเชิงยุทธศาสตร์เขาจะเห็นว่าระยะยาวถึงที่สุดแล้วก็ต้องนั่งคุยกัน
สอง บริบทในพื้นที่ สิบกว่าปีที่ผ่านมาก็เปลี่ยนไปเยอะ พลังของภาคประชาสังคมในพื้นที่มีสูง และจุดเด่นของภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือบางส่วนเขาก็ทำงานกับฝ่ายความมั่นคงได้ค่อนข้างดี ของพวกนี้ถ้ารัฐบาลคิดการณ์ไกลก็ควรรักษาไว้ เพราะเป็นสายสัมพันธ์ที่สำคัญสำหรับการสถาปนาความมั่นคงที่ยาวนาน
สาม ปัญหาภาคใต้จะชอบหรือไม่ก็ตาม อยู่ในบริบทของระหว่างประเทศพอสมควร ทั้งปัจจัยเรื่องประชาชาติและอื่นๆ จึงไม่ประหลาดใจที่ต่างประเทศเข้าไปมีบทบาทช่วยหลายๆ อย่าง
ทั้งหมดนี้ทำให้รัฐบาลต้องคิดเรื่องนี้ให้รอบคอบสักหน่อย การตัดสินใจแบบทหารอย่างแข็งๆ เกินไปในสถานการณ์พวกนี้ ก็คงมีคนชื่นชมจำนวนหนึ่ง แต่ถ้ามองภาพนี้ในการณ์ไกล และมองว่าสิ่งที่เราต้องการคือการสถาปนาความมั่นคงที่ยั่งยืน หมายความว่าสายสัมพันธ์ระหว่างคนในพื้นที่จะถูกฟื้นฟูให้อยู่ได้ ยอมรับสถาบันต่างๆ ในสังคมได้ เช่น สถาบันความยุติธรรม วิธีการแข็งๆ ที่ว่านี้มันไม่ช่วยอะไร อาจจะดูเข้มแข็งดี แต่ในความเป็นจริงไม่สามารถสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืน
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ชอบคุณ : ภาพประกอบโดย นัฏฐิกา โล่ห์วีระ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล NOW26