รอสงบคงอีกนาน! ชาวบ้านยะลาทำ "รถม้า" สู้ปัญหาเศรษฐกิจ
สถานการณ์ความไม่สงบที่ยืดเยื้อมานานกว่า 10 ปี ซ้ำเติมด้วยราคายางพาราที่ตกต่ำอย่างหนัก ทำให้ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องหาทางพลิกวิกฤติเพื่อเอาตัวให้รอด
ไอเดียเก๋ๆ โดยไม่สนใจเหตุการณ์ความรุนแรงจึงเกิดขึ้น หนึ่งในนั้นคือการทำ “รถม้าชมเมืองยะลา” ของชาวชุมชนจารูพัฒนา ริมแม่น้ำปัตตานี ในเขต อ.เมืองยะลา
ปรากฏว่ากิจกรรมนั่งรถม้าชมเมืองและนำเที่ยวสถานที่สำคัญในเขตเมืองยะลา ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเกินคาด ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่มาจากจังหวัดอื่น และคนมาเลย์ที่นิยมเข้ามา ทั้งพักผ่อน ปฏิบัติศาสนกิจ และชิมอาหาร
นายก้องสกุล จันทราช นายอำเภอยะลา เล่าว่า การส่งเสริม “รถม้า” ในเขตอำเภอเมืองยะลา ถือเป็นแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด เกิดการสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยเฉพาะผู้เลี้ยงม้า อยากให้คนต่างจังหวัดได้เห็นสิ่งดีๆ ในยะลา และอยากให้คนต่างจังหวัดมาเที่ยวเมืองยะลา
นายอำเภอบอกว่า รถม้าชมเมืองจะะเปิดให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยว 3 จุด 3 เส้นทางในเขตเทศบาลนครยะลา
เส้นทางแรก เริ่มต้นจากเทศบาลนครยะลาผ่านถนนคุรุ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โรงเรียนอนุบาลยะลา สถาบันพลศึกษา สถานีรถไฟ และวนกลับมาถนนพิพิธภักดี
เส้นทางที่สอง จากเทศบาลนครยะลา ผ่านศูนย์เยาวชน เลี้ยวขวาทางตลาดใหม่ เลียบริมแม่น้ำปัตตานี สะพานดำ แล้วย้อนกลับมาทางห้างสรรพสินค้าโคลิเซียม ผ่านศาลเจ้าแม่กอเหนี่ยว
เส้นทางที่สาม จากเทศบาลนครยะลา ผ่านวงเวียนศาลหลักเมือง สถานที่ราชการ สวนขวัญเมือง ออกมาหน้าโรงพยาบาลศูนย์ยะลา เข้าสนามช้างเผือก และสวนสาธารณะ ชุมชนจารูพัฒนาเลียบแม่น้ำปัตตานี
นายอิบรอเฮง ดือราแม ประธานชุมชนจารู หัวหน้าผู้ควบคุมม้า บอกว่า แรกๆ ที่คิดทำรถม้า เพราะครอบครัวขาดรายได้ คนในชุมชนขายของไม่ได้ เนื่องจากราคายางถูก เมื่อยางถูก เศรษฐกิจอย่างอื่นก็กระทบหมด เพราะประชาชนไม่มีกำลังซื้อ
“ในชุมชนเรามีม้า และเห็นว่าที่บ้านเรายังไม่มีรถม้า จึงร่วมกันกับสมาชิกในชุมชน ทำรถม้านำเที่ยวเมือง” ประธานชุมชนจารู บอก
จากจุดเริ่มต้นแบบไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แต่ทำไปทำมากลับมีนักท่องเที่ยวสนใจ และได้รับความนิยมอย่างสูง
“ทุกวันนี้ม้าที่มีไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า ที่สำคัญนายอำเภอได้เข้ามาส่งเสริม เพราะมีความตั้งใจต้องการพัฒนาพื้นที่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย ท่านจึงให้เพิ่มรถม่า โดยใช้เงินโครงการตำบลละ 5 ล้าน” นายอิบรอเฮง กล่าว
สำหรับสนนราคาค่าบริการ คิดเป็นรอบๆ รอบละ 25 นาที ในราคา 20 บาทต่อคน รถม้า 1 คันนั่งได้ 5 คน รอบหนึ่งก็ได้ 100 ยาท รายได้ทั้งหมดแบ่งออกเป็น 5 ส่วน คือ เข้าชุมชนร้อยละ 30 หักเป็นค่าสวัสดิการคนยากไร้ ร้อยละ 20 เก็บเผื่อซ่อมบำรุง ร้อยละ 10 ให้เจ้าของม้า ร้อยละ 20 และให้คนบังคับม้า ร้อยละ 20
ประธานชุมชนจารู บอกว่า การแบ่งรายได้แบบนี้ นอกจากสมาชิกของชุมชนจะมีรายรับมากขึ้น ยังทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และเกิดความสามัคคีกันภายในชุมชน
ด้าน นางอมรร์ตน์ จันทร์ใจ นักท่องเทียววัย 42 ปีที่ใช้บริการรถม้าชมเมือง บอกว่า รู้สึกประทับใจมาก เพราะถ้าต้องการนั่งรถม้าก็ไม่ต้องไปไกลถึงลำปาง
ขณะที่ นายดลรอแม สาแม ชาวยะลา บอกว่า ดีใจที่ก้าวข้ามเรื่องความรุนแรงมาได้ จนสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติอย่างไม่กังวลกับเหตุการณ์รุนแรงที่ยังเกิดขึ้นในพื้นที่ ที่ผ่านมาไม่กล้าไปไหนมาไหน หรือแม้แต่จะออกจากบ้าน แต่วันนี้ทุกคนคิดว่าถ้ามัวรอให้เหตุการณ์สงบคงยาก การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์คือทางออกที่ถูกต้อง และทุกคนก็สามารถทำได้
“รถม้านำเที่ยวจะทำให้ทุกคนได้เห็นความสวยงามของเมืองยะลา เห็นความสามัคคีของคนในชุมชนที่ให้บริการรถม้า และจัดการพื้นที่เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจากนอกพื้นที่ ทั้งจากต่างอำเภอ ต่างจังหวัด และต่างประเทศ มั่นใจว่าในอนาคต ความสามัคคีเท่านั้นที่จะนำพาความสงบสุขกลับคืนมาสู่น้องเรา” นายดลรอแม กล่าว
คงจะไม่เกินไปนักหากจะบอกว่านี่คือรถม้านำขบวนสันติสุข!