"เพิ่มศักดิ์” แนะชุมชนบี้นักการเมืองไม่รับนโยบายรากหญ้า “ไม่เลือก”
“ดร.เพิ่มศักดิ์” ชี้ท้องถิ่นถูกอำนาจรวมศูนย์กุมทรัพยากร-เศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง แนะผู้นำขบวนองค์กรชุมชนตัดสายบัญชาการ ใช้โอกาสเลือกตั้งบี้นักการเมืองรับนโยบาย “วิฑูรย์” สะท้อนความสัมพันธ์แนวตั้งครอบชุมชน เหตุวิกฤติระบบนิเวศ
วันที่ 27 พ.ค. 54 ที่โรงแรมราการ์เด้นท์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ร่วมกับ มูลนิธิสัมมาชีพ จัด บรรยายพิเศษหัวข้อ “มิติชุมชน: วิธีคิดท้องถิ่น ว่าด้วยสิทธิ อำนาจ และการจัดการทรัพยากร” ในโครงการอบรมผู้นำการเปลี่ยนแปลงในขบวนองค์กรชุมชน โดย ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อดีตคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย (คปร.) กล่าวว่า ทุกวันนี้ชุมชนท้องถิ่นอยู่ในภาวะจนทั้งสิทธิ์ โอกาสและอำนาจต่อรอง สูญเสียสิทธิในทรัพยากร เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครองมากว่าร้อยปี โดยในมิติทรัพยากรเริ่มรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และการประกาศยกเลิกกฎหมายจำกัดการถือครองที่ดินและห้ามต่างชาติถือครอง ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยอ้างว่าขัดขวางการพัฒนาประเทศ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นทำให้คนไทยในชนบทเกือบครึ่งสูญเสียที่ดินและนับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนของมิติเศรษฐกิจ ชาวบ้านถูกดึงเงินออกไปรวมอยู่ที่สถาบันการเงิน มีระบบการกู้ การฝาก ที่สร้างภาระหนี้สิน การแทรกด้วยระบบทุนที่ใช้ตัวเงินและระบบตลาดมาตัดสินความเติบโต ทำให้วิถีชุมชนหลุดออกจากสังคม ขณะที่ฐานทุนทั้งหมดตกอยู่กับผู้มีอำนาจ ยกตัวอย่างชาวนาจะส่งออกข้าวต้องมีโควตา มีเงินค้ำประกัน ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ทั้งที่มีของดีแต่ขายไม่ได้ แล้วรัฐก็มาหลอกให้เพิ่มผลผลิต กลายเป็นยิ่งทำยิ่งขาดทุน
“ตัวอย่างพื้นที่ศึกษาหนึ่งในอีสานแต่ก่อนทำนาครั้งเดียว มีเวลาไปเลี้ยงควาน สานกระบุง ตะกร้าส่งลูกเรียนได้ แต่พอรัฐไปกระตุ้นให้ทำนาสองครั้ง ปลูกพืชไม่หยุดเลยทั้งปี งานบุญ 12 เดือนเลิกหมด ผ่านไป 5 ปีหนี้สินท่วมหัว นี่คือการหลอกคนให้ทำงานยิ่งกว่าควาย เพราะควายทำนาเช้าตกบ่ายนอนแช่น้ำยิ้ม แต่คนต้องทำงานทั้งวัน ตัดขาดความสัมพันธ์เครือญาติสิ้นเชิง”
ในมิติสังคม อดีตคณะกรรมการ คปร. กล่าวว่า สิ่งที่สูญเสียไปมากที่สุดคือวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของวิถีชุมชน เปรียบเหมือนปล่อยหมาวิ่งบนทางด่วน คือการสูญหายไปของวิถีเกษตรกรรมที่ต้องอยู่กับไร่นา โดยใช้ฐานภูมิปัญญาต่อยอด แต่ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้คือการวิ่งตามความเจริญทางเศรษฐกิจทั้งที่ยังไม่มีความพร้อมขนาดนั้น อีกอย่างคือการศึกษา ที่สอนให้รับใช้ทุน ไม่ให้ความรู้และจิตสำนึกท้องถิ่น และรับใช้สังคม
“สุดท้ายคือการสูญเสียอำนาจทางการเมือง ที่ไปผูกขาดอยู่ที่ส่วนกลาง ที่ใช้ตัวแทนภูมิภาคแล้วเอาชาวบ้านมาอุปโลกน์เป็นกำนันผู้ใหญ่บ้าน แต่แท้จริงไม่มีอำนาจอะไรเลยคอยแต่รับใบสั่งจากส่วนราชการรัฐสภากลายเป็นสถานที่ที่พูดกันแต่ผลประโยชน์ กฎหมายหลายฉบับไม่มีฉบับไหนที่ให้อำนาจประชาชนอย่างเต็มที่”
ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวอีกว่า ทั้ง 4 มิติคือฐานของชีวิตที่ถูกอำนาจส่วนกลางกดทับอำนาจชุมชนท้องถิ่นไว้ เป็นอำนาจที่อยู่ในมือคนส่วนน้อยและไม่ได้ใช้อำนาจนั้นมาดูแลคนส่วนใหญ่ ทั้งหมดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วต้องทำใจ แต่จะปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปไม่ได้ เห็นว่าชุมชนท้องถิ่นต้องตัดสายบัญชาการทั้ง 4 มิติโดยกระจายอำนาจมาให้ชุมชนท้องถิ่นได้จัดการในแบบของตนเอง โดยมีภาคประชาสังคมที่ไม่ง่อยเปลี้ยเสียขาเป็นตัวชี้ขาด หมายความว่าต้องไม่ใช่แค่มานั่งประชุมอย่างเดียว แล้วปล่อยให้นักการเมืองมะรุมมะตุ้มกับทุนก้อนนี้ อำนาจจริงๆ ที่นำมาต่อรองได้คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาสังคมซึ่งหมายรวมถึงเครือข่ายชาวบ้านที่จะต้องป้องกันและยับยั้งการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง
ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ชุมชนท้องถิ่นต้องยึดอำนาจลงมาสู่ประชาชนและใช้อำนาจให้เกิดการพัฒนา เรื่องแรกที่ต้องการให้โหมโรงคือการเสนอนโยบายต่อพรรคเมืองต่าง ๆ ในการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นช่องทางที่ใกล้และเป็นไปได้มากที่สุดในขณะนี้ ซึ่งถือเป็นการต่อรองกับฝ่ายการเมืองบนฐานข้อมูลและต่อรองแบบมีเงื่อนไข
“แทนที่จะรณรงค์เลือกตั้งว่าต้องให้ได้คนดี ซื่อสัตย์ คือการปล่อยให้การเลือกตั้งเป็นเรื่องนักการเมือง ก็จะได้ห่วยๆ เหมือนเดิม แต่ถ้าเปลี่ยนมาเลือกโดยการต่อรองเอานโยบายไปชูให้ถ้ารับไปเราจะเลือก เท่ากับเป็นการบี้นักการเมืองโดยไม่ปล่อยให้หัวคะแนนมาเหยียบแค่หัวบันได แต่เชื่อว่านโยบายจะได้ผลจริง” อดีตกรรมการ คปร. กล่าว
ทั้งนี้ ยังมีการบรรยายหัวข้อ “มนุษย์กับความสมดุลในระบบนิเวศวิทยา” โดย นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เลขาธิการมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่า วิกฤติอาหารอันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากร เป็นการคำนวณว่าคนจะอดตายเพราะขาดแคลนอาหารโดยคิดปริมาณการผลิตธัญพืช เอาเนื้อไก่ที่อยู่ในวงจรการผลิตขนาดใหญ่มาคิด เป็นเรื่องของทุนทางการค้า ไม่ใช่อาหารซึ่งคนในชุมชนหาอยู่หากิน
“ยกตัวอย่างผลการศึกษาในผืนป่าเล็กๆ แห่งหนึ่งในจ.ร้อยเอ็ด ขนาดแค่ 20 ไร่ เชื่อหรือไม่วันๆ หนึ่งมีคนเข้าออกป่า และได้อาหารกลับมาไม่รู้กี่ร้อยคน ป่าขนาดแค่นี้เลี้ยงคนมหาศาล นี่คือวิถีชุมชนที่พึ่งพิงตามธรรมชาติมีระบบการผลิตเชิงแนวนอน ที่ต้องไม่ผ่านอะไร”
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า แต่ที่เป็นปัญหาจริงๆ เพราะวันนี้ระบบนิเวศถูกกระบวนการความสัมพันธ์เชิงแนวตั้งที่ผู้มีอำนาจหรือทุนมาเกี่ยวข้องเข้ามาจัดการ อาหารกลายเป็นเรื่องการส่งออกและนำเข้า เช่นเดียวกับระบบการจัดการทรัพยากรอื่นๆ ที่เห็นชัดที่สุดคือนิเวศลุ่มน้ำ ซึ่งควรมีการจัดแผนงานให้ควบรวมในเชิงพื้นที่ให้มีการจัดการร่วมกัน เนื่องจากการจัดการต้นน้ำโยงถึงผลกระทบปลายน้ำ แต่ที่ทำอยู่เป็นลักษณะแผนรายจังหวัด ขาดการเชื่อมต่อ เมื่อเกิดปัญหาจึงแก้กันเองในเชิงราบไม่ได้ ต้องอาศัยกลไกขนาดใหญ่ที่ครอบไว้ สุดท้ายก็กลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยุติไม่ได้เองะหว่างท้องถิ่น
“ปัญหาการจัดการน้ำส่วนใหญ่มักถูกกลไกใหญ่ที่ครอบไว้แก้ด้วยการสร้างเขื่อน ทั้งที่ทำลายนิเวศ ทั้งวิถีชีวิตริมน้ำ ชาวบ้านบอกปลาอยู่ในน้ำไหลอยู่ไม่ได้ในน้ำนิ่ง ก็มาสร้างบันไดปลาโจนให้ ทุกวันนี้บันไดนั้นเป็นแค่อนุสาวรีย์ที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ในทางปฏิบัติ ขนาดชาวบ้านประนีประนอมขอแค่เปิดประตูเขื่อน ทั้งที่อยากทุบ สู้กันสิบ ๆ ปียังไม่ยอม คือข้อพิสูจน์ที่บอกว่าอะไรที่อยู่ในเชิงแนวนอนไม่มีปัญหา แต่ที่เป็นปัญหาเพราะบ้านเมืองเราเป็นความสัมพันธ์เชิงแนวตั้งที่ยากจะทลายได้”นายวิฑูรย์ กล่าว
ภาพโดย : รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)