ผ่าผลคัดเลือก กพต. "เบอร์ 1" เข้าวินทุกจังหวัด "แบเฮาะ-นายกฯอ๋า"ร่วง!
เมื่อเร็วๆ นี้ มีความเคลื่อนไหวอย่างสำคัญของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นก็คือการคัดเลือกคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต. ซึ่งบทบาทความสำคัญของ กพต.นั้น เสมือนหนึ่งเป็น "คณะรัฐมนตรีภาคใต้" เลยทีเดียว
เพราะตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หรือที่รู้จักกันในนาม "พ.ร.บ.ศอ.บต." มาตรา 6 กำหนดให้ กพต.ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธาน และมีกรรมการได้แก่ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยคนหนึ่ง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดชายแดนภาคใต้
รวมทั้งประธานสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้แทนภาคประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จังหวัดละหนึ่งคน ซึ่งได้รับการคัดเลือกโดยสภาที่ปรึกษาฯ
ผู้แทนภาคประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อยู่ในข่ายได้รับการเสนอชื่อเพื่อคัดเลือกเป็น กพต. จะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 20 (ซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้ที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวคือ มีสัญชาติไทย / เป็นผู้มีความประพฤติตามหลักการของศาสนาและมีจริยธรรมเป็นที่ประจักษ์ / ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต / ไม่ติดยาเสพติดให้โทษ / ไม่เป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล / ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ / ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย) ทั้งนี้ กพต.ซึ่งเป็นผู้แทนภาคประชาชนจะมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
จากบทบัญญัติตามกฎหมายดังกล่าว ทำให้สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องจัดประชุมเพื่อคัดเลือก กพต.ที่เป็นผู้แทนจากภาคประชาชน โดยการประชุมมีขึ้นเมื่อกลางเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา
เปิดผลคัดเลือก "อดีตผู้ว่าฯปัตตานี-นายกเทศมนตรีนครยะลา"ร่วง!
สำหรับผู้ได้รับการเสนอชื่อเพื่อคัดเลือกเป็น กพต. มาจากผู้แทนภาคประชาชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และสตูล ซึ่งมีรายชื่อพร้อมผลคะแนนดังนี้ (รายชื่อที่เน้นดำคือผู้ได้รับการคัดเลือก)
จ.นราธิวาส
หมายเลข 1 นายสมรรถ วาหลง นักธุรกิจ ได้ 35 คะแนน
หมายเลข 2 นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และประธานกรรมการการเลือกตั้ง จ.ปัตตานี ได้ 7 คะแนน
หมายเลข 3 ว่าที่ ร.ท.ดิลก ศิริวัลลภ ข้าราชการบำนาญ ได้ 2 คะแนน
จ.ปัตตานี
หมายเลข 1 นายมุข สุไลมาน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อดีต ส.ส.ปัตตานี ได้ 38 คะแนน
หมายเลข 2 นายธานินท์ เศวตโศภิต รับราชการ ได้ 2 คะแนน
หมายเลข 3 นายสุทัศน์ สังขรัตน์ รับราชการ ได้ 3 คะแนน
จ.ยะลา
หมายเลข 1 นายอับดุลอายี สาแม็ง ข้าราชการการเมือง ได้ 29 คะแนน
หมายเลข 2 นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ ข้าราชการการเมือง นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา ได้ 10 คะแนน
หมายเลข 3 ดร.ณพพงศ์ ธีระวร นักธุรกิจ ได้ 6 คะแนน
จ.สงขลา
หมายเลข 1 นายบัญญัติ จันทน์เสนะ ข้าราชการบำนาญ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีตผู้อำนวยการ ศอ.บต.ได้ 41 คะแนน
หมายเลข 2 นายเสาวพันธ์ มากแสง ข้าราชการบำนาญ ได้ 3 คะแนน
หมายเลข 3 นายอำนวย กลัดสวัสดิ์ ข้าราชการบำนาญ ได้ 1 คะแนน
จ.สตูล
หมายเลข 1 นายสมเกียรติ เลียงประสิทธิ์ นักธุรกิจ ได้ 41 คะแนน
หมายเลข 2 นายพิทักษ์สิทธิ์ ชีวรัฐพัฒน์ นักธุรกิจ ได้ 2 คะแนน
หมายเลข 3 นางผกาพันธุ์ สรรสวาท นักธุรกิจการศึกษา ได้ 2 คะแนน
ฮือฮา "หมายเลข 1" เข้าวินทุกจังหวัด!
เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากทุกจังหวัด คือผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อหมายเลข 1 ทั้งสิ้น และ นายสมเกียรติ เลียงประสิทธิ ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เป็น กพต.จาก จ.สตูล ยังเป็นน้องชายของ นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯจาก จ.สตูลด้วย
อย่างไรก็ดี การคัดเลือก กพต.จากผู้แทนภาคประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จังหวัดละ 1 คนนั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดวิธีการคัดเลือกที่ชัดเจนเอาไว้ ทำให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ หารือกันในที่ประชุม ซึ่งมีสมาชิกบางรายเสนอให้ออกประกาศเพื่อให้องค์กรภาคประชาชนต่างๆ ส่งรายชื่อผู้ที่เห็นว่าเหมาะสมเข้ามา จากนั้นสภาที่ปรึกษาฯจึงค่อยทำหน้าที่คัดเลือก แต่ก็มีสมาชิกบางรายคัดค้าน และเสนอว่าให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯจากแต่ละจังหวัดเสนอรายชื่อผู้ที่เห็นว่าเหมาะสมเข้ามาจังหวัดละ 3 คนและคัดเลือกไปเลยจะดีกว่า ซึ่งในที่สุดที่ประชุมเห็นด้วยกับแนวทางนี้ จึงนำมาสู่การเสนอชื่อจังหวัดละ 3 คน และลงคะแนนคัดเลือกกัน
กระนั้นก็ตาม ในส่วนของหมายเลขประจำตัวผู้ได้รับการเสนอชื่อแต่ละจังหวัด ตอนแรกยังคงคละกันอยู่ แต่ภายหลังได้มีการจัดเรียงหมายเลขใหม่ และปรากฏว่าผู้ที่ได้หมายเลข 1 ได้รับการคัดเลือกจากทุกจังหวัด ขณะที่หลายคนที่เป็นบุคคลมีชื่อเสียง มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ หรือมีบารมีกว้างขวาง แต่ไม่ได้หมายเลข 1 กลับไม่ได้รับเลือก อาทิ นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล หรือ "แบเฮาะ" อดีตผู้ว่าฯปัตตานี, นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ หรือ "นายกฯอ๋า" นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา ซึ่งได้รับรางวัลนักบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยอดเยี่ยมแทบทุกปี เป็นต้น
สำหรับสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ที่มีสิทธิลงคะแนนมีทั้งสิ้น 49 คน แต่ลงคะแนนจริงเพียง 45 คน เนื่องจากขาดประชุม 3 คน และขอไม่ร่วมลงคะแนน 1 คน คือ นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม โดยให้เหตุผลว่าที่ประชุมเพิ่งได้รับเอกสารรายชื่อและประวัติผู้ได้รับการเสนอชื่อในวันเดียวกับที่คัดเลือก ทำให้ไม่มีเวลาศึกษารายละเอียดและตรวจสอบประวัติ ส่วนคะแนนของบางจังหวัดที่ไม่ครบ 45 คะแนน เพราะมีบัตรเสียและงดออกเสียง (โนโหวต)
พลิกกฎหมายพบ "กพต." อำนาจล้น
สำหรับอำนาจหน้าที่ของ กพต. หรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น กำหนดเอาไว้ในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หรือ พ.ร.บ.ศอ.บต.ดังนี้
(1) พิจารณาให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ ศอ.บต. เสนอ
(2) พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงาน โครงการ และการจัดตั้งงบประมาณเพื่อสนับสนุนการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
(3) พิจารณาให้ความเห็นชอบในการกำหนดเขตพัฒนาพิเศษและกรอบแนวทางการบริหารและการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษที่ ศอ.บต. เสนอ
(4) พิจารณาเสนอแนะหน่วยงานของรัฐให้จัดทำแผนพัฒนา แผนงาน และโครงการพร้อมด้วยงบประมาณในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้
(5) กำกับ เร่งรัด ติดตาม แก้ไขกฎระเบียบ และลดขั้นตอนการปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
(6) เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อคณะรัฐมนตรี
(7) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือหรือปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม
(8) ปฏิบัติการอื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ กพต. หรือตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
ส่วนในมาตรา 10 ยังให้อำนาจ กพต.ให้ความเห็นชอบตามที่ ศอ.บต.เสนอ เพื่อกำหนดให้เขตพื้นที่ใดในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจและกำหนดกรอบแนวทางการบริหารและการพัฒนาในเขตพื้นที่นั้นได้ด้วย