โฉมใหม่...ครอบครัวไทย ‘ยุคเกิดน้อย อายุยืน’
สื่อสารด้วยข้อมูลชุดใหม่! เปิดตัวรายงานสถานการณ์ประชากรไทย ปี 58 โฉมใหม่ครอบครัวไทย ยุคเกิดน้อย อายุยืน หวังรัฐวางมาตรการรับมือ เสี่ยงกระทบโครงสร้างประชากร ระบบพัฒนาเศรษฐกิจ พบครอบครัวสามวัยเป็นรูปเเบบหลักครอบครัวไทย เเทนครอบครัวเดี่ยว พ่อ เเม่ ลูก 'หย่าร้าง' ยังเป็นต้นเหตุหลัก ทำลายความสัมพันธ์ในครัวเรือน
‘ครอบครัว’ ถือเป็นสถาบันอันดับต้น ๆ ที่เป็นรากฐานสำคัญของชีวิต แต่เมื่อสังคมและโครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงไป ครอบครัวไทยก็เปลี่ยนตามไปด้วย
ประเทศไทยกำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านนั้น เด็กเกิดน้อยลง ผู้สูงอายุมีมากขึ้น จากครอบครัวขนาดใหญ่ กลายเป็นขนาดเล็ก เต็มไปด้วยความหลากหลาย เช่น พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว ครัวเรือนคนอยู่คนเดียว ครอบครัวข้ามรุ่น ครอบครัวแหว่งกลาง
“เกิดน้อย อายุยืน ย้ายถิ่น” จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศที่ ‘นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์’ ประธานกรรมการอนุกรรมการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553-83 เห็นว่า ต้องสื่อสารด้วยข้อมูลชุดใหม่ ด้วยถึงเวลาแล้วที่ต้องพูดเรื่องนี้อย่างจริงจัง สิ่งนี้ได้เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเดินต่อไป
ถ้าประชาชนคนไทยไม่ทำอะไร ประเทศไทยจะเดินเข้าสู่ความยากลำบากมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมี 3 ระดับ ได้แก่
1.ระดับส่วนรวม คือ เรื่องการเจริญเติบโตของประเทศ
2.ระดับส่วนบุคคล คือ เรื่องความมั่นคงทางการเงินของบุคคล
และ 3.ระดับครอบครัว คือ เรื่องความอยู่ดีมีสุขของครอบครัว (ไทยพับลิก้า,2558)
ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ.2558 เรื่อง โฉมหน้าครอบครัวไทยยุคเกิดน้อย อายุยืน โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประจำประเทศไทย เป็นผู้จัดทำ
ในรายงานฯ ฉบับนี้ ระบุ“ครอบครัวไทยมีความหลากหลายมากขึ้น เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว”
‘ครอบครัวสามวัย’ รูปแบบหลักครอบครัวไทย
ทั้งนี้ ภาพรวมครอบครัวไทยในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา พบว่า ครอบครัวสามวัยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเป็นครอบครัวประเภทหลักในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเขตชนบท โดยมีสัดส่วนสูงถึง 33.6% ขณะที่ครอบครัวที่มี พ่อ แม่ ลูก มีสัดส่วน 26.6% กลับไม่ใช่รูปแบบหลักของครอบครัวไทยอีกต่อไป
ส่วนคู่สามีภรรยาที่ไม่มีบุตรพุ่งขึ้นเป็น 3 เท่า หรือร้อยละ 16 จากเดิมร้อยละ 5.6 ของครัวเรือนทั้งหมดในปี 2530
ด้านครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวเพิ่มขึ้นจาก 9.7 แสนครัวเรือน เป็น 1.37 ล้านครัวเรือน
ส่วนครอบครัวข้ามรุ่น ปู่ย่าตายายอาศัยอยู่กับหลาน และครัวเรือนคนเดียว เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
ที่น่าสนใจ เหตุใดครอบครัวสามรุ่นจึงกลายเป็นครอบครัวประเภทหลักของไทย เพราะลูกวัยผู้ใหญ่ย้ายกลับไปดูแลพ่อแม่วัยชรา โดยปัจจุบันผู้เป็นบุตรมีอายุ 40 ปีขึ้นไป และเป็นคนจากรุ่นในยุคที่พ่อแม่มีลูก 4-5 คน
นอกจากนี้ สมาชิกครอบครัวต่างวัยกลับไปอยู่ร่วมกัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายการแยกครอบครัว โดยเป็นการมาอยู่เพื่อการเกื้อกูลกัน ไม่ใช่ครอบครัวขยายแบบดั้งเดิม
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของคนสามวัยจะอยู่ในช่วงเวลาสั้น ๆ เนื่องจากจำนวนลูกของคนในรุ่นต่อไปมีจำนวนน้อยลง ทำให้ครอบครัวรูปแบบอื่นจะมีจำนวนมากขึ้น
สารพัดปัจจัย คู่รักไทยไม่นิยมมีลูก
ยิ่งเมื่อมีการศึกษา ‘ครอบครัวเดี่ยว’ พบว่า คนไทยยังมีจำนวนลูกน้อยกว่าที่ต้องการจะมีจริง โดย 1 ใน 5 ของผู้หญิงต้องการมีลูกเพิ่ม โดยเฉพาะผู้หญิงในภาคใต้และตะวันออกเฉียงเหนือ จากจำนวนลูกเฉลี่ยที่ต้องการ 1.93 คน แต่มีได้จริง 1.67 คน
สาเหตุเพราะสมัครใจที่จะใช้ชีวิตคู่โดยไม่มีลูก อันเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูกสูง มีทัศนคติที่เปลี่ยนไปของคนรุ่นใหม่ ให้ความสำคัญกับการมีลูกเป็นอันดับท้าย เพราะเกรงว่าจะไม่มีชีวิตอิสระ เลี้ยงลูกได้ไม่ดี
...บางรายที่ต้องทำงานก็ต้องเลือกระหว่างมีลูกหรือก้าวหน้าในอาชีพ หรือขาดการสนับสนุนจากฝ่ายชายในการเลี้ยงดู
ดูเฉพาะค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก ข้อมูลรายงานบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ สศช. ระบุว่า ค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูลูกจนถึงอายุ 20 ปี เฉลี่ย 1.9 ล้านบาท เป็นเงินของพ่อแม่ 1 ล้านบาท และรัฐบาล 9 แสนบาท
(ค่าใช้จ่ายสะสมในการเลี้ยงดูบุตร พ.ศ.2554)
ส่วนเรื่องการใช้เวลา ข้อมูลรายงานสำรวจการใช้เวลาของประชากร พ.ศ.2552 สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุอีกว่า ผู้ชายจะใช้เวลาน้อยกว่าผู้หญิง 2 เท่า ในการดูแลสมาชิกในครอบครัวและงานบ้าน
นอกจากนี้ ครอบครัวเดี่ยวที่ไม่มีลูกนั้น ยังเกิดจากการมีลูกยากด้วย ซึ่งพบมีผู้หญิง 15.4%
ขณะเดียวกัน "ครอบครัวเพศเดียวกัน" เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ถึงแม้ไทยจะเปิดกว้าง แต่หลายเรื่องยังไม่ชัดเจน มีจำนวนมากน้อยเพียงใด การรับรองสถานภาพทางกฎหมาย หรือการรับรองให้มีบุตร
‘หย่าร้าง’ ต้นเหตุครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว
อีกรูปแบบครอบครัวไทย คือ ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ในรายงานฉบับนี้ พบว่า มีจำนวนสูงขึ้นทั่วไป ไม่เฉพาะประเทศไทย มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก พ.ศ.2530 จำนวน 9.7 แสนครัวเรือน เป็น 1.37 ล้านครัวเรือน ใน พ.ศ.2556 แต่สัดส่วนลดลงจาก 8..6% เป็น 7.1% โดยส่วนใหญ่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว 80% ของครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวทั้งหมด
ปัจจัยสำคัญ คือ สถานภาพการสมรส พบการหย่าร้างมีมากขึ้น โดยสถิติการหย่าร้างของคนไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 7.7 หมื่นคู่ ใน พ.ศ.2545 เป็น 1 แสนคู่ ในพ.ศ. 2556 ฉะนั้น เมื่อเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จึงไม่ได้อยู่กับพ่อแม่สูงถึง 22.8% อยู่กับแม่เท่านั้น 15.4% อยู่กับพ่อเท่านั้น 3.4% พ่อหรือแม่ หรือทั้งสองคนเสียชีวิต 4.1%
(โฉมหน้าครอบครัวเดี่ยว 80% เป็นเเม่เลี้ยงเดี่ยว)
คำถามเมื่อเข้าสู่รุ่นสูงวัยจะอยู่กับใคร?
จากการศึกษาพบวัย 50 ปี 7-8% ของผู้หญิงและผู้ชายยังเป็นโสด มีแนวโน้มอยู่คนเดียว
ขณะที่ 20% ของผู้หญิง และ 10% ของผู้ชาย มีสถานภาพหม้าย หย่า หรือแยกทาง
ขณะที่วัย 60 ปี พบ 5-6% ของผู้หญิงและผู้ชายเป็นโสด มีแนวโน้มอยู่คนเดียว แต่สถานภาพหม้าย หย่า หรือแยกทางนั้น พบผู้ชายจะมีคู่ชีวิตคอยดูแล แต่ผู้หญิงต้องใช้ชีวิตตามลำพัง
‘ครอบครัวแหว่งกลาง’ พบภาคอีสานมากสุด
ครอบครัวข้ามรุ่นหรือครอบครัวแหว่งกลาง มีปู่ย่าตายายอาศัยอยู่กับหลาน เนื่องจากการย้ายถิ่นจากชนบทเข้าสู่เมืองมีมากขึ้น ทำให้ไม่มีคนวัยทำงานอาศัยอยู่ในครัวเรือน แนวโน้มจึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 1 แสนครัวเรือน ในพ.ศ. 2530 เป็น 4 แสนครัวเรือน ในพ.ศ.2556 โดยส่วนใหญ่ 76% อยู่ในชนบท เกือบครึ่งในจำนวนนี้ หรือ 47% อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีหัวหน้าครัวเรือนเป็นผู้หญิง 90% มากกว่าครึ่งอายุ 60 ปีขึ้นไป และที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นจาก 4% ในพ.ศ.2530 เป็น 8% ในพ.ศ.2556
ขณะที่หัวหน้าครัวเรือนข้ามรุ่นกลุ่มนี้ยังคงทำงาน อยู่ในภาคเกษตรกรรม มีสุขภาพไม่แข็งแรงสูงถึง 16% และ 1 ใน 5 เท่า ของผู้สูงอายุในครอบครัวมีรายได้ต่ำกว่าความยากจน โดยรายได้หลักมาจากเงินที่ลูกส่งให้หรือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
อีก 20 ปี 1 ใน 5 ของครัวเรือน จะอยู่คนเดียว
สำหรับ ครัวเรือนอยู่คนเดียว เพิ่มขึ้นทั่วโลก จาก 153 ล้านครัวเรือน ในพ.ศ.2539 เป็น 277 ล้านครัวเรือน ในพ.ศ.2554 โดยเฉพาะยุโรป ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศไทยด้วย พบมากในภาคกลาง ไม่ใช่กรุงเทพฯ ในกลุ่มผู้มีงานทำมากกว่าผู้ว่างงาน และผู้มีการศึกษาสูงมากกว่าการศึกษาน้อย
รายงานฉบับนี้ จึงชี้ให้เห็นว่า คนมีการศึกษามากมีทางเลือกช่วยเหลือตนเองมากกว่า
และข้อเท็จจริงพบว่า ปัจจุบันมี 2.7 ล้านคน อยู่คนเดียว และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก
มีการคาดการณ์ ในอีก 20 ปีข้างหน้า 1 ใน 5 ของครัวเรือนทั้งหมดอยู่คนเดียว ซึ่งโฉมหน้าของผู้อยู่คนเดียว ส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงาน 15-59 ปี จำนวน 75.4% และเมื่อศึกษาวัยทำงานพบว่า ผู้ชายจะอยู่คนเดียวมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย แต่เมื่อสูงอายุผู้หญิงกลับอยู่คนเดียวมากกว่าผู้ชายเกือบเท่าตัว
การศึกษายังพบแรงผลักดันของการอยู่คนเดียว ทั้งด้านสมัครใจ ไม่ว่าจะเป็น ต้องการความเป็นอิสระ การเงินพร้อม ที่อยู่อาศัยพร้อม สุขภาพแข็งแรง ย้ายถิ่นฐานเพราะการงาน หรือมีเครือข่ายสังคมพึ่งพาอาศัยได้
ส่วนด้านไม่สมัครใจ ไม่ว่าจะเป็นการหย่าร้าง แยกกันอยู่ หรือเป็นหม้าย ไม่มีลูก ลูกย้ายออก หรือขาดคนอาศัยร่วม
ชงข้อเสนอเชิงนโยบาย หวังสร้างการเปลี่ยนแปลง
ท้ายที่สุด รายงานฯ มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่น่าสนใจในหลายประเด็น พบว่า ในยุคครอบครัวสามวัย ควรส่งเสริมการอยู่ดีมีสุขของครอบครัว โดยคำนึงถึงความสามารถในการดูแลเกื้อกูลกันของคนต่างรุ่นในครอบครัว โดยเฉพาะบทบาทของผู้สูงอายุที่บางรายสามารถเป็นผู้ดูแลช่วยเหลือบุตรหลานด้านการเงิน ให้ความมั่นคงทางจิตใจ ตลอดจนช่วยดูแลเกื้อกูลลูกหลาน
นอกจากนี้ควรกำหนดนโยบายให้ลำดับความสำคัญกับครอบครัวที่มีความเปราะบางมากที่สุด โดยให้การคุ้มครองดูแลความต้องการที่มีลักษณะเฉพาะ โดยมีการช่วยเหลือดูแลอย่างเป็นระบบ มีความต่อเนื่อง และติดตามประเมินผล เพื่อพัฒนาศักยภาพครอบครัวให้สามารถดูแลตนเองได้ อาทิเช่น เด็กที่อาศัยในครอบครัวข้ามรุ่นที่ผู้ดูแลเป็นผู้สูงอายุที่มีความพิการดูแลตนเองไม่ได้ หรือครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวที่เป็นแม่วัยรุ่น
อีกทั้งต้องสร้างสมดุลของบทบาทหญิงชายในครอบครัว มีความเท่าเทียมทางเพศ ส่งเสริมให้ผู้ชายมีบทบาทหน้าที่ในการเลี้ยงดูลูก ดูแลสมาชิกครอบครัว การจัดการงานบ้านมากขึ้น มีมาตรการลดหย่อนภาษี เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นายจ้างจัดบริการเลี้ยงดูเด็กให้กับลูกจ้าง จัดบริการให้คำปรึกษา รักษาผู้มีบุตรยาก ราคาเหมาะสม
รวมถึงพัฒนาคุณภาพประชากรตั้งแต่เด็กและเยาวชน โดยการลดการแต่งงานหรืออยู่กินก่อนวัยอันควร ลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เด็กทุกคนต้องเรียนจบภาคบังคับ หากตั้งครรภ์ต้องได้เรียนต่อ และนายจ้างควรพิจารณาให้ลาหยุดไปเยี่ยมลูกและครอบครัว กรณีย้ายถิ่นฐานมาทำงานไม่นำลูกมาอาศัยอยู่ด้วย
นับเป็นเรื่องท้าทายของประเทศไทยจะต้องจัดทำและดำเนินนโยบายส่งเสริมครอบครัวให้เกิดความสมดุลขึ้นในสังคม มิฉะนั้นจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างประชากรของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กลายเป็นความยากลำบากของประเทศในอนาคต .