กสทช. กับระบบการสื่อสารที่พาชาติออกจากวิกฤต
วิกฤตใหญ่ประเทศไทยไม่ได้มีแต่มหาอุทกภัย แต่เป็นวิกฤตทุกเรื่องมาบรรจบกัน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการเมืองการปกครอง วิกฤตเหล่านี้ยากและซับซ้อน เกินความเข้าใจของสังคมไทย จะรักษาบูรณภาพและดุลยภาพของประเทศไว้ได้ต้องมีปัญญาพอเพียง มิเช่นนั้นจะเจ็บป่วย วิกฤต และล่มสลาย
วิกฤตใหญ่ประเทศไทยขนาดนี้ไม่มีใครคนใดคนหนึ่ง หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะแก้ไขได้ นอกจากคนไทยทั้งหมดต้องร่วมกันสร้างจิตสำนึกใหม่ และปัญญาโดยรวมให้พอเพียง หากยังเล่นเกมอำนาจกันต่อไปประเทศไทยจะล่มสลายแน่นอน
การจะสร้างจิตสำนึกใหม่และปัญญาอย่างกว้างขวางและรวดเร็วทันการไม่มีวิธีอื่น นอกจากระบบการสื่อสารที่ดี ฉะนั้น พันธกิจอันศักดิ์สิทธิ์ ของ กสทช. คือเสริมสร้างระบบการสื่อสารที่ดีให้ทันกาล ไม่มีใครอื่นจะทำได้ดีเท่า กสทช. กสทช.จึงไม่ควรพลาดพันธกิจที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาเช่นนี้ กสทช. ควรใช้ปัญญาเป็นเครื่องมือ ไม่ใช่ใช้แต่อำนาจ อำนาจอาจยวลใจ แต่คับแคบและได้ผลน้อย ฝรั่งเองพูดมานานแล้วว่า “อำนาจได้ผลน้อยลงๆ ” (Power is less and less effective) ต้องใช้ปัญญาเพราะแสงสว่างเสมอปัญญาไม่มี(นัตถิ ปัญญา สมาอาภา) ต้องไม่ติดแต่ในรูปแบบแต่ถือสาระเป็นตัวตั้ง กสทช. ต้องไม่อยู่ตามลำพังตัวเองเพราะจะตีบตัน แต่ต้องเปิดพื้นที่ทางสังคมและพื้นที่ทางปัญญาอย่างกว้างขวาง ให้สังคมเข้ามาร่วมกับ กสทช. ในการเสริมสร้างระบบการสื่อสารที่พาชาติออกจากวิกฤต โดยคำนึงถึง
“สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” อันประกอบด้วย (๑) อำนาจรัฐ (๒) อำนาจความรู้ (๓) อำนาจทางสังคม กสทช. คืออำนาจรัฐ ซึ่งควรคำนึงถึงองค์ประกอบอีก ๒ ประการให้เข้ามาบรรจบกันด้วย ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอ ๑๕ ประการในการพัฒนาการสื่อสารเพื่อพาชาติออกจากวิกฤต
(๑) สื่อสารเพื่อสร้างเป้าหมายร่วมของชาติ ว่าเป้าหมายร่วมของชาติคือ การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ระหว่างคนกับคนและระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม ความสมดุลจะทำให้เกิดความเป็นปรกติ ความผาสุก และความยั่งยืน เราไม่เคยมีเป้าหมายเช่นนี้ การพัฒนาจึงไม่ยั่งยืน (๒) สื่อสารเพื่อสร้างจิตสำนึกใหม่ จิตสำนึกเก่าเป็นจิตสำนึกที่เล็กและคับแคบ ที่มุ่งประโยชน์ตนอย่างแยกส่วน ทำให้การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลเป็นไปไม่ได้ คนไทยต้องมีจิตสำนึกใหม่ ซึ่งเป็นจิตสำนึกใหญ่ที่เห็นคนทั้งหมดและธรรมชาติทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาอย่างสมดุลเป็นไปได้ (๓) สื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย จากสังคมใช้อำนาจให้เป็นสังคมใช้ความรู้และเหตุผล สังคมใช้อำนาจไม่สนใจข้อมูลหลักฐานและเหตุผล เป็นสังคมที่เหะหะ คาดเดาว่าอย่างนั้นมั้งอย่างนี้มั้ง เช่น “คงไม่เป็นไรมั้ง” “คงไม่เป็นกับเราหรอก ” “แล้วแต่ดวง” เชื่อง่ายถูกชักจูงง่ายด้วยการโฆษณา ทำให้เป็นสังคมที่มีสมรรถนะต่ำ รวมทั้งสมรรถนะในระบบการเมืองอย่างที่เราเห็น สังคมปัจจุบันมีความซับซ้อนและยากสุดประมาณ สังคมด้อยสมรรถนะจะหายนะ การสื่อสารต้องเป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมไปสู่วัฒนธรรมแห่งการใช้ความรู้และเหตุผล (๔) สื่อสารเพื่อสร้างวิจารณญาณ ท่ามกลางการใช้คลื่นการสื่อสารตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อการโฆษณาเพื่อบริโภคนิยมและผลประโยชน์ทางการเมือง การขาดวิจารณญาณของสังคมว่าอะไรเชื่อได้อะไรเชื่อไม่ได้ อะไรมีประโยชน์หรือโทษอย่างใด นำไปสู่ความเสียหายร้ายแรงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและการเมือง การสื่อสารที่ดีควรสร้างความสามารถในการวิเคราะห์ข่าวให้แก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง ในการศึกษาทุกชั้นเรียนควรมีชั่วโมงวิเคราะห์ข่าวทุกวัน ว่าข่าวที่นักเรียนและผู้ปกครองได้รับในแต่ละวันมีอะไรที่เชื่อได้อะไรที่เชื่อไม่ได้ อะไรมีประโยชน์หรือโทษอย่างใด ถ้าการสื่อสารร่วมมือกับระบบการศึกษาเพื่อการวิเคราะห์ข่าว จะเป็นคุณต่อการสร้างสมรรถนะทางวิจารณญาณให้สังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง (๕) การติดตามประเมินคุณภาพของสื่อ (Media monitor) ควรมีระบบที่สนับสนุนให้คณะนิเทศศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ร่วมกันทำranking สื่อหากคณะนิเทศศาสตร์มีหลักสูตรให้นิสิตนักศึกษาร่วมประเมินคุณภาพสื่อ นอกจากจะช่วยให้สื่อปรับปรุงคุณภาพของตนแล้ว ยังจะเป็นการสร้างนักการสื่อสารในอนาคตให้มีคุณภาพอย่างดีที่สุดด้วย (๖) สื่อ”สาร” ที่เป็นความรู้ ทุกวันนี้ ช่องทางสื่อสารมีมาก แต่สารที่เป็นประโยชน์ยังมีน้อย ควรกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยสร้าง”ศูนย์ความรู้”(Knowledge Center) เพื่อรวบรวมตรวจสอบความรู้ที่แม่นยำมีประโยชน์อยู่ในรูปที่น่าบริโภค แล้วเชื่อมโยง”สาร” ที่เป็นความรู้จริงนี้เข้ากับช่องทางการสื่อสาร จะช่วยสร้างสังคมความรู้ได้อย่างมหาศาล ควรมีการส่งเสริมให้เกิดสำนักข่าวอิสระที่เน้นคุณภาพของข่าว ให้ข่าวคุณภาพขยายพื้นที่หรือเข้าแทนที่ข่าวขยะให้มากขึ้นเรื่อย ๆ (๗) สร้างนักสื่อสารสร้างสรรค์ หากผู้ทำงานในระบบการสื่อสาร จะเป็นนักข่าวก็ดี ผู้ดำเนินรายการก็ดี นักเขียนก็ดี บรรณาธิการข่าวที่ดี นิยมความรู้ มีความรู้ในตัว แสวงหาความรู้ ตรวจสอบความแม่นยำของข่าวสาร และสื่อสารเก่ง ประเทศไทยจะเปลี่ยน ขณะนี้หาเป็นเช่นนั้นไม่ ควรมีการสร้างนักสื่อสารสร้างสรรค์จำนวนมากอย่างเป็นระบบโดยรวดเร็ว (๘) สื่อสารสร้างสรรค์ด้วยนวนิยายละคร ภาพยนต์ ผลกระทบต่อวิธีคิดและจิตสำนึกของสังคมอย่างกว้างขวาง เกิดได้ยากจากบทความทางวิชาการ แต่เกิดจากการสื่อสารด้วยนวนิยาย ละคร หนังสารคดี ภาพยนตร์ ที่สนุกและมีสาระ ควรมีการสนับสนุนการเขียนนวนิยาย การทำละคร ทำหนังสารคดี ภาพยนตร์และศิลปะอื่น ๆ ที่เข้าถึงคนจำนวนมาก (๙) สื่อสารเพื่อการศึกษา ถ้านักเรียนได้พบครูดีชีวิตจะเปลี่ยน แต่เป็นไปไม่ได้ ที่นักเรียนทุกคนจะมีโอกาสพบครูดี ในระบบการศึกษาแบบเดิม แต่เป็นไปได้ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ ควรมีการแสวงหาครูที่สอนเก่งในทุกวิชา และมีระบบการถ่ายทอดการสอนของครูสอนเก่งไปสู่ห้องเรียนทั่วประเทศ ซึ่งจะพัฒนาทั้งนักเรียนและครูไปพร้อมกัน (๑๐) สื่อสารเพื่อปฏิวัติประชาธิปไตย การพัฒนาประชาธิปไตยของเราเป็นไปช้ามาก ในเวลา ๗๙ ปี ยังไม่เกิดประชาธิปไตยอัตถประโยชน์ ยังมีความห่าม ดิบ หยาบคาย โกงกิน รุนแรงจนเกือบจะเกิดมิคสัญญีกลียุค เพราะสนใจแต่รูปแบบมากกว่าสาระ การสื่อสารสามารถสร้างสรรค์ประชาธิปไตยได้โดยรวดเร็ว เช่น
- การมีเครือข่ายวิยุชุมชนที่ครอบคลุมทุกพื้นที่และให้ประชาชนเป็นผู้สื่อสารเข้ามาโดยโทรศัพท์มือถือ วันหนึ่งๆ ประชาชนจะสื่อสารเข้ามาหลายแสนหรือเป็นล้านครั้ง อาจจะร้องทุกข์เรื่องเจ้าหน้าที่ของรัฐทำไม่ดีบ้าง ร้องเรียนบ้าง ออกความเห็นในเรื่องต่างๆ บ้าง ฯลฯ มีระบบรวบรวมสังเคราะห์การสื่อสารของประชาชนเป็นหมวดเป็นหมู่เป็นเรื่องเป็นราว และนำไปใช้งานอย่างสอดคล้อง เช่น การปรับปรุงงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ นำเรื่องดีๆ ไปขยายผล นำข้อเสนอทางนโยบายไปสู่ผู้ปฏิบัติ ฯลฯ โดยวิธีนี้ประชาชนทั้งประเทศจะมีส่วนร่วมโดยตรงในการปกครองตนเอง และพัฒนาประเทศ เป็นประชาธิปไตยโดยสาระ
- โทรทัศน์ทุกช่องจัดให้มีรายการประชาเสวนา (Citizen Dialogue) เป็นประจำสังคมไทยใช้ความเห็นมากกว่าความรู้ จึงขาดความเห็นพ้องในเรื่องนโยบายสำคัญๆ ของประเทศ เพราะร้อยคนก็เห็นร้อยอย่าง ความเห็นที่แตกต่างนำไปสู่ความขัดแย้ง ความแตกแยก และความรุนแรง แต่ความรู้ที่เป็นความจริงทำให้เห็นตรงกันได้ กระบวนการที่เรียกว่าประชาเสวนานั้นคือ กระบวนการที่นำฝ่ายต่าง ๆ มาพูดคุยกัน เริ่มต้นอาจจะใช้ความเห็น แต่การเติมข้อมูลข่าวสารเข้ามาสู่วงสนทนาเป็นระยะๆ เมื่อผู้เสวนาได้รับข้อมูลข่าวสาร ความเห็นก็เปลี่ยนไป และในที่สุดนำไปสู่ฉันทามติได้ ประชาเสวนาเป็นกระบวนการประชาธิปไตยโดยสาระและสร้างสรรค์ ถ้าสถานีโทรทัศน์ทุกช่องจัดให้มีประชาเสวนาเป็นประจำ จะลดความขัดแย้งในสังคม และนำไปสู่การพัฒนานโยบายที่มีฐานอยู่ในข้อเท็จจริงเป็นประชาธิปไตยอัตถประโยชน์ หรือประชาธิปไตยโดยสาระ
(๑๑) สื่อสารเพื่อปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ โครงสร้างอำนาจที่รวมศูนย์ของประเทศไทยก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำมาก คอร์รัปชั่นสูงความขัดแย้งและความรุนแรง ความด้อยสมรรถนะของภาครัฐในการจัดการเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งจัดการป้องกันแก้ไขภัยพิบัติ เช่น มหาอุทกภัย โครงสร้างอำนาจเช่นนี้จะนำหายนะมาสู่ประเทศไทยมากขึ้น ๆ จำเป็นต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ (ดูเอกสารของคณะกรรมการปฏิรูป) การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจที่สำคัญคือ การให้ - ชุมชนจัดการตนเอง - ท้องถิ่นจัดการตนเอง - จังหวัดจัดการตนเอง - กลุ่มจังหวัดจัดการตนเอง การกระจายอำนาจไปให้พื้นที่ที่มีสมรรถนะในการจัดการตนเองได้ จะทำให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยที่แท้จริงและพ้นวิกฤตได้ ระบบการสื่อสารทั้งปวงควรจะส่งเสริมสนับสนุนการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจของประเทศ
(๑๒) มหาวิทยาลัยกับการพาชาติออกจากวิกฤต เรามีมหาวิทยาลัยกว่า ๑๐๐ แห่ง มีคณาจารย์ นักวิชาการ นิสิตนักศึกษารวมกันหลายแสนคน จึงเป็นขุมกำลังทางปัญญาของประเทศ แต่ที่ไม่เป็นพลังทางปัญญาเพราะมหาวิทยาลัยเอา “วิชา”เป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาความจริงของสังคมเป็นตัวตั้ง ในมหาอุทกภัย ๒๕๕๔ มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้มีบทบาทในการใช้ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อสังคม และตระหนักรู้ว่าการเอาสังคมเป็นตัวตั้งทำให้มหาวิทยาลัยได้ใช้ศักยภาพของตนให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร มหาวิทยาลัยสามารถมีบทบาทอย่างสำคัญในข้อเสนอทั้ง ๑๑ ข้อข้างต้น กสทช.ควรถือว่ามหาวิทยาลัยเป็นภาคีในการพาชาติออกจากวิกฤต
(๑๓) สถานีโทรทัศน์กับการพาชาติออกจากวิกฤต ในขณะที่หนังสือพิมพ์กำลังประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจ จนบางฉบับต้องปิดกิจการ บางฉบับก็ขายตัวหมดสภาพการเป็นหนังสือพิมพ์สื่อที่มีพลังมากที่สุดคือสถานีโทรทัศน์ สถานีโทรทัศน์จึงสามารถทำการสร้างสรรค์ได้ทั้ง ๑๒ ข้อข้างต้น กสทช. ควรหาทางสร้างแรงจูงใจให้สถานีโทรทัศน์มีบทบาทในการพาชาติออกจากวิกฤต
(๑๔) การสื่อสารกับการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ การที่ประเทศไทยจะธำรงบูรณภาพและดุลยภาพในตัวเองและกับโลกอันเชื่อมโยงอย่างซับซ้อนเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องมีปัญญาพอเพียง โครงสร้างที่เป็นทางการขณะนี้ไม่สามารถสร้างปัญญาให้พอต่อการใช้งานได้ คนไทยที่มีศักยภาพควรรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อศึกษาเรื่องที่สำคัญ ๆ เช่น ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและสันติภาพ ภัยพิบัติ ระบบการสื่อสาร ระบบการศึกษา การฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ฯลฯ อาจเรียกเรื่องเหล่านี้รวมๆ กันว่ายุทธศาสตร์ชาติ เราต้องมีความรู้จริงในเรื่องต่าง ๆ แล้วนำมาสื่อสารให้รู้ทั่ว เพื่อให้สามารถมีเอกภาพในการดำเนินยุทธศาสตร์ชาติในเรื่องต่าง ๆ ระบบการสื่อสารควรกระตุ้นให้คนไทยรวมตัวกันศึกษาเรื่องที่สำคัญต่าง ๆ และสื่อสารให้เป็นพลังทางสังคมและพลังทางปัญญา ของชาติอย่างพอเพียงที่จะรักษาบูรณภาพและดุลยภาพของประเทศไว้ได้ ไม่หลุดเข้าไปสู่ความหายนะ
(๑๕) ภาคสังคม และภาควิชาการควรร่วมมือกับกสทช. สังคมไทยต้องเป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน กสทช. เป็นองค์กรของรัฐที่เกิดขึ้นตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๗ ที่บัญญัติว่า
“ คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ”ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่...และกำกับการประกอบกิจการ ...การดำเนินการตามวรรคสองต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น”
รัฐธรรมนูญบัญญัติให้การใช้คลื่นความถี่ให้เป็นประโยชน์สูงสุดของประชาชน นี่เป็นเจตนารมณ์อันสูงสุดของรัฐธรรมนูญและถ้าทำตามเจตนารมณ์นี้ชาติจะออกจากวิกฤตได้จริง ในยามที่ประเทศไทยวิกฤตสุด ๆ เช่นนี้ จึงไม่ควรมีคนไทยหัวใจมนุษย์คนใด ทำให้เบี่ยงเบนไปจากเจตนารมณ์อันสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ภาคสังคมและภาควิชาการ ซึ่งรวมถึงชุมชนท้องถิ่นและภาคธุรกิจ ควรจะร่วมกับ กสทช. เพื่อทำให้ระบบการสื่อสารเป็นพลังที่พาชาติออกจากวิกฤตได้จริง