จากบิลลี่ถึงเด่น คำแหล้ อุ้มหายความยุติธรรม สิทธิเสรีภาพ
"ไม่เข้าใจว่า ทำไมคนคนนั้น มีอำนาจใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่คดี เกี่ยวกับบิลลี่ยังไม่จบ เขาอยู่เหนือกฎหมายหรือยังไง มีใครบ้างไหมพอจะอธิบายในหนูเข้าใจ”
1.
จากสถิติที่มีการรวบรวมโดยคณะทำงานว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายหรือการสูญหายโดยไม่สมัครใจ ระหว่างปี 2523 ถึง 2557 ประเทศไทยมีการบังคับสูญหาย 89 กรณี (รวบรวมผ่านการร้องเรียน) ถือว่ามากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยใน 81 กรณีหรือ กว่า 91% ยังไม่ได้รับการแก้ไข รวมถึงกรณีของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่หายตัวไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 จนกระทั่งวันนี้กว่า 2 ปี ที่บิลลี่หายไป เรื่องราวทางคดีก็ยังไม่คืบหน้า (อ่านประกอบ 2 ปี การหายตัวไปของบิลลี่ กับสถานการณ์การอุ้มหายในไทย)
"ไม่เข้าใจว่า ทำไมคนคนนั้น (นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร)มีอำนาจใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่คดี เกี่ยวกับบิลลี่ยังไม่จบ เขาอยู่เหนือกฎหมายหรือยังไง มีใครบ้างไหมพอจะอธิบายในหนูเข้าใจ” มึนอ หรือ น.ส.พิณนภา พฤษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่ กล่าวในวงเสวนา 2 ปีบิลลี่: อุ้มหายคน อุ้มหายความยุติธรรม อุ้มหายสิทธิเสรีภาพ
"ผมสรุปได้เลยว่า การปล่อยตัวตามที่อดีตหัวหน้าอุทยานแก่งกระจานกล่าวอ้าง ไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย” พ.อ.ไตรวิช น้ำทองไทย อดีตพนักงานสอบสวนรับผิดชอบคดีบิลลี่ ซึ่งปัจจุบันลาออกจากราชการมาได้สักพักแล้ว ย้อนกลับไปมองในช่วงต้น ตอนเกิดเหตุ "ผมไม่ได้รับผิดชอบในทันที แต่มารับผิดชอบในช่วง 3 เดือนหลังจากเกิดเหตุ และจากที่รับได้ไปตรวจสอบข้อมูลและพยานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก มีการตั้งข้อสังเกตของสองประเด็น ประเด็นแรก คือ นักศึกษาซึ่งเคยให้การกับพนักงานสืบสวน ให้การกับศาลเรื่องม.90 ผมและทีมสอบสวน ไปสอบต่อหน้าพ่อและอาจารย์ที่โรงพักคูคต รังสิต ก็ยืนยันว่าหลังจากที่คุณชัยวัตน์ รับตัวไปก็ไม่มีใครเห็นอีกเลย
ประเด็นที่สอง ลูกน้องนายชัยวัฒน์ ที่เคยให้การเบื้องต้นว่าเห็น แต่พอสอบไปสอบมา ก็บอกว่าหลังจากที่นายชัยวัฒน์รับตัวไป ไม่มีใครเห็น ส่วนคนที่นายชัยวัฒน์อ้างว่า เห็นซึ่งเป็นเด็กนั้น พอสอบสวนก็ยืนยันว่าไม่มีพบเห็น"
“คดีนี้มีกล้องวงจรปิด จับภาพรถอุทยานก่อนไปรับตัวบิลลี่ ซึ่งคุณชัยวัฒน์เองก็โกหกเรื่องเวลา” อดีตพนักงานสอบสวนเผย ก่อนจะให้เหตุผลต่อไปว่า รถที่เข้าไปรับตัวบิลลี่มีรถอุทยานคันเดียว นายชัยวัฒน์โกหกว่า ไปรับตัวบิลลี่ตอน 17.30 น. แต่ว่า รถผ่านกล้องประมาณ 16.02 และตอนขากลับ ซึ่งอ้างว่าปล่อย แต่ในคำให้การก็พูดสลับไปสลับมา และบอกว่าช่วงปล่อยฝนตกหนัก ซึ่งไม่มีเหตุผลเลยเลย ถ้าปล่อยจริง รถนักศึกษาที่ขับตามหลัง ต้องพบบิลลี่ตรงจุดนั้น
พ.อ.ไตรวิช ระบุถึงอีกว่า ในเบื้องต้นพนักงานสอบสวน คนที่รับเเจ้งตอนเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ เขาบอกเคยโทรไปคุยกับลูกน้องชัยวัฒน์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการหายไปของบิลลี่ ลูกน้องชัยวัฒน์ตอบให้การรอบแรกว่าไม่มีการจับ จนตอนหลังนายชัยวัฒน์ถึงมาให้การว่า จับแล้วปล่อยเเล้ว เพราะฉะนั้นแล้วคดีนี้ในส่วนของตำรวจสรุปเรื่องของน้ำผึ้ง ซึ่งชัยวัฒน์อ้างว่ามี 5 ขวด แต่จาการสอบสวนเเล้ว มีทั้งหมด 8ขวด และอีกหนึ่งถุงราว30 กิโลกรัม คดีการหายไปของบิลลี่ส่งต่อให้สำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ปปท.) ก็มีการแจ้งข้อหานายชัยวัฒน์ และอยู่ระหว่างการดำเนินการต่อ
“ คดีบิลลี่มีคนเห็นเยอะ และรับรู้เยอะ เพราะตอนลงมือยังไม่มืด” พ.อ.ไตรวิช กล่าว และว่า เรื่องนี้ยากตรงที่ตัวนายชัยวัฒน์เอง ถึงแม้จะถูกย้ายออกจากพื้นที่ไปแล้ว แต่กลับพบว่า ตัวเขาไม่ค่อยห่างออกจากพื้นที่ และถึงปัจจุบันนี้กลับมีหน้าที่ใหญ่โต พยานเลยไม่กล้า ไม่ให้ความร่วมมือ
“ น่าแปลกว่า คนที่ทำร้ายคนอื่นเเล้ว ยังได้ดิบได้ดี มีตำแหน่งมีอำนาจมากขึ้น คนเท่ากัน ข้าราชการ ระดับสูงล่าง ความจริงของความเป็นคนเท่ากัน แต่ความต่างเรื่องตำแหน่ง ทำให้กฎหมายเอื้อมมือค่อนข้างยาก” อดีตพนักงานสอบสวนกล่าว
2.
16 เม.ย. 2559 ก่อนวันครบรอบ2 ปีที่บิลลี่หายไป พ่อเด่น หรือ นายเด่น คำแหล้ ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ แกนนำการนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินบนผืนป่าโคกยาว หายตัวไป หลังจากเข้าป่า หาเก็บหน่อไม้ในบริเวณสวนป่าโคกยาว เพื่อเตรียมวางขายที่ตลาดทุ่งลุยลายตามปกติของทุกวัน
นางสุภาพ คำแหล้ ภรรยาของนายเด่น เผยว่า พ่อเด่นออกไปตามปกติของทุกวัน แต่วันนั้นมืดเเล้ว พ่อเด่นยังไม่กลับมา มีเพียงแต่สุนัขสองตัว ที่กลับ ต่อมาช่วงเช้าของวันที่ 17 เม.ย. ทางญาติพี่น้อง ชาวบ้านโคกยาวประมาณ 5-6 คน ช่วยกันตามหาแต่ไม่พบจึงได้เข้าแจ้งต่อผู้ใหญ่บ้าน และเข้าแจ้งความคนหายต่อเข้าหน้าที่สถานีตำรวจภูธรห้วยยาง ต.ห้วยยาง อ.ดอนสาร จ.ชัยภูมิ
วันที่ 18 เม.ย. 59 ทีมงานและชาวบ้านสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินอีสาน ระดมกำลังค้นหาอย่างต่อเนื่อง ปรากฎว่าไม่พบรองรอบการหายตัวไปแต่อย่างใด
กระทั่งวันที่ 21 เม.ย. 59 สุนัขของพ่อเด่นส่งเสียงเห่า พร้อมกับวิ่งไปหยุดอยู่ที่บริเวณลำน้ำพรมด้านทิศใต้ ทีมงานวิ่งตามสุนัขออกไปค้นหา พบด้ามเสียมตกอยู่ในบริเวณฝั่งลำน้ำพรม ดูจากสภาพการใช้งานน่าจะไม่เกิน 1 อาทิตย์
22 เม.ย. 59 พบรอยลากบนผืนดิน เข้าใจว่าเป็นการลากของหนัดและมีรอบคล้ายนิ้วมือเป็นทางลากลงมา จากเขิงเขา ยาวประมาณ 5 เมตร ลงมาบริเวณจุดวังมนริมฝั่งลำน้ำพรม ขณะเดียวกันพบปลอกกระสุนปืนลูกซอนงดง ตกอยู่ไม่ห่างจากรอบลากมากนัก และพบซองยาทันใจวางทิ้งไว้ ดูจากสภาพซองน่าจะถูกใช้งานมาประมาณ 1 อาทิตย์ ช่วงบ่ายได้เเจ้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และตำรวจลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบหลักฐาน เจ้าหน้าที่แจ้งว่ารอยลากดังหล่าวเป็นเพียงรอยคนลื่นไถล
23 เม.ย. 59 ทีมเครือข่ายชาวบ้าน ยังคงสงสัยและปักใจเชื่อว่า รอยลากที่เจอเป็นรอยลากสิ่งของหนักและสงสัยว่าบุคคลที่กำลังตามหาอยู่อาจจมอยู่ใต้น้ำ จึงประสานนักประดาน้ำจากมูลนิธิกู้ภัยจี้เซเกาะ และมูลนิธิกู้ภัยดอนสาร งมหาใต้ลำน้ำพรม 2 จุด บริเวณจุดห้วยว่านน้ำและห้วยวังตะเคียน
24 เม.ย. 59 บริเวณเหนือห้วยน้อย(จุดที่มีคลื่นโทรศัพท์) พบเปลผ้าร่มสีเขียว พร้อมเชือกผูกเปลสีแดง โดนผูกไว้บนยอดไม้สูงห่างจากพื้นประมาณ 6 เมตร โดยอีกข้างหนึ่งม้วนเก็บไว้ที่ง่ามไม้อย่างดี คาดว่าไม่ใช่การผู้เปลดักสัตว์แน่ อาจจะเป็นการทำเครื่องหมายอะไรสักอย่างและที่ผู้เปลสูงมากด้วย ขณะเดียวกันได้กลิ่นเหม็นเน่าเอียนๆ ลอยตามลมวูบหนึ่ง และพบแมลงวันหัวเขียว แต่ไม่พบแห่งที่มาของกลิ่น
25 เม.ย. 59 บริเวณจุดว่านน้ำ พบกระดูกยังระบุไม่ได้ว่าเป็นกระดูกอะไร กระทั่งผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเหมือนกระดูกกวาง ห่างออกไปอีก 500 เมตร ก็พบปอกกระสุนปืน และหมวกโม่งสีดำ ส่วนหมวกโมงยังระยุไม่ได้ว่าเป็นของผู้สูญหาย
26 เม.ย. 59 พบท่อนไม้ขึ้เหล็กป่า ยาวประมาณ 2 เมตร เป็นรอยลักษณะเหมือนแบกของหนัก ตกอยู่บริเวณฝั่งลุ่มน้ำพรม ตรงข้ามกับหน่วยพิทักษ์ป่าหนองไรไก่ คาดว่าได้มีการแบกสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งมาจากที่อื่น แล้วมาวางทิ้งที่นี่ เพราะจากการตีวงค้นหาไมรัศมีรอบจุดที่พบท่อนไม้ออกไป ไม่พบร่องรอยของต้นไม้ที่ถูกตัด จึงสันนิษฐานว่า ท่อนไม้ดังกล่าวถูกหามมาจากที่อื่น ทีมชาวบ้านได้นำท่อนไม้ส่งมอบเข้าหน้าที่สถานีตำรวจห้วยยาง ไว้ตรวจสอบหลักฐานต่อไป
6 พ.ค. 59 ลงพื้นที่บริเวณลำน้ำพรม ห่างจากหน่วยพิทักษ์ป่าหนองไรไก่ประมาณ 100 เมตร ปรากฏว่าสังเกตเห็นกองดินผิดปกติ จึงร่วมกันใช้ไม้เขี่ยพบร่องรอยกระดูกถูกเผามีจำนวน 4 จุด จึงแจ้งเจ้าหน้าที่ สถานที่ตำรวจภูธรห้วยยาง ต.ห้วยยาง อ.ดอนสาร จ.ชัยภูมิ เพื่อตรวจสอบ พร้องเร่งให้เจ้าหน้าที่ส่งให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ว่ากองกระดูก ที่ถูกเผาทิ้งไว้นั้นเป็นกระดูกคนหรือกระดูกสัตว์
11 พ.ค. นางสุภาพ คำแหล้ เดินยื่นหนังสือให้หลายองค์กร อาทิคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และสำนักงานข้าหลวงใหญ่ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน องค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อขอให้ติดตามค้นหาการหายไปของนายเด่น โดยทางตัวแทนยูเอ็นรับเรื่องและจะส่งเรื่องต่อไปที่สำนักงานใหญ่ที่เจนีวา และจะทำหนังสือประสานกับรัฐบาลไทยให้มีการติดตามเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังเข้ายื่นเรื่องต่อ กองบังคับการปราบปราม เจ้าหน้าที่กองปราบได้มีการสอบปากคำและรับเรื่องไว้เพื่อที่จะดำเนินการสวบสวนหาข้อเท็จจริงต่อไป รวมทั้งติดต่อทาง สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เพื่อส่งกระดูกที่พบให้ตรวจสอบหาข้อเท็จจริง และขอให้ DSI รับเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษ
3.
นางสาววราภรณ์ อุทัยรังษี กล่าวว่า กรณีที่คนหายไประหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ เครื่องมือที่ประชาชนสามารถใช้ได้ทันทีคือ การยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนปล่อยจากการควบคุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายพิจารณาอาญา คำถามคือ มาตรานี้สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้จริงหรือไม่
น.ส.วราภรณ์ เผยว่า ตอนที่บิลลี่หายไป มึนอได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งศาลพิพากษายกคำร้องและชั้นอุทธรณ์ก็ยกคำร้องเช่นกัน โดยที่ศาลให้เหตุผลว่า ศาลเชื่อว่าเจ้าหน้าที่อุทยานได้ปล่ยอตัวบิลลี่ไปแล้ว แล้วในชั้นฎีกา ถึงแม้จะมีการยกสาระสำคัญตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ เกี่ยวกับการคุ้มครองบุคคลจากการบังคับสูญหาย ว่าหน้าที่และภาระในการพิสูจน์นั้น เจ้าหน้าที่จะต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์จนสิ้นสงสัยว่า ตัวของบิลลี่ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่เเล้ว
“ แต่ศาลไม่ได้ทำการวินิจฉัยเนื้อหาและข้อเท็จจริงของคดีเลย ในคดีบิลลี่ศาลวินิจฉัยในข้อกฎหมายอย่างเดียวว่า ขั้นตอนในการไต่สวนในม.90 นั้น อันดับแรกเมื่อศาลขั้นต้นรับคำร้องมาเเล้ว ศาลจะต้องสั่งว่าคดีมีมูลหรือไม่ ซึ่งกรณีของบิลลี่ศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งว่าคดีมีมูล” น.ส.วราภรณ์กล่าวและว่า การที่ศาลเรียกพยานทั้งหมดเข้ามาไต่สวน รวมถึงการที่ศาลวินิฉัยว่า มึนอและผู้ใหญ่บ้านไม่ใช้ประจักษ์พยาน ทำให้การร้องว่าบิลลี่หายไปไม่จริง จึงพิพากษายกคำร้องไป มองว่าเป็นการพิจารณาไต่สวนเหล่านี้เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด
“ เราไม่ได้ติติงศาล แต่เป็นคำถามที่เกิดว่า สุดท้ายแล้วเรื่องแบบนี้เป็นความผิดของใคร กระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่ศาลขั้นต้นเป็นต้นมานั้น สุดท้ายแล้วญาติของผู้สูญหายได้อะไร สังคมได้อะไรจากการพิจารณาคดีครั้งนี้บ้าง แต่ว่าสิ่งที่ได้คือการนำข้อเท็จจริงเข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรม อย่างน้อยก็เป็นการทำให้ปรากฎต่อสังคม สังคมได้รับรู้ว่ามีชาวกะเรี่ยงคนหนึ่งหายไป ก็เป็นเวลาสองปีแล้ว”
4.
การอุ้มหายมีมานานแล้วตั้งแต่อดีต และเราประสบกับปรากฏการณ์เรื่องการหายตัวไปของคนไทยดำรงอยู่มาตลอด
“ เรามีมาตรการเพียงพอแล้วหรือยัง ที่จะดูเเลเรื่องนี้ เพราะกฎหมายที่เรามีในปัจจุบันไม่สามารถเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ที่จะเอาผิดการอุ้มหายได้” นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตั้งคำถาม ก่อนจะอธิบายต่อไปว่า การอุ้มหายเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าหน้าที่รู้เห็นเป็นใจ หรือเจ้าหน้าที่สนบัสนุนให้เขาทำ ดังนั้นหากเราใช้มาตรการปกติ ไม่มีทางเอาผิดได้ เพราะคนที่ทำผิดคือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีอำนาจมีเครื่องมือ ขณะที่คนที่ถูกกระทำเป็นบุคคลธรรมดา อำนาจความเท่าเทียมเลยไม่เกิด จึงเป็นเหตุจำเป็นที่ต้องมีมาตรการพิเศษ เรียกว่า อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance (CED)) ที่ไทยได้ลงนามไปเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555
นายไพโรจน์ กล่าวถึงเจตนารมณ์ของอนุสัญญา คือ 1. เราจำเป็นต้องเห็นว่าการอุ้มหายเป็นความผิดที่ร้ายแรงที่สุด เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ ในการคุ้มครองชีวิตผู้คน ไม่ใช่มีหน้าที่ไปฆ่าคน ดังนั้นจึงเป็นความร้ายแรง แล้วถ้าทำเป็นระบบ เช่นการอุ้มฆ่า ตัดตอนในสงครามยาเสพติด เมื่อสิบปีที่ผ่านมา เรียกว่า เป็นความผิดต่อมนุษยชาติ เป็นความผิดต่อคนส่วนรวม เรื่องนี้ร้ายแรง
2. ป้องกันให้ได้ จะต้องไม่เกิดการณ์ทำนองนี้ การจะป้องกันได้ คือต้องไม่ให้คนที่ทำผิดลอยนวล หมายความว่าคนที่อุ้มหาย เราจะทำอย่างไร จะเอาคนผิดเหล่านี้มาลงโทษให้ได้
3. คนที่ถูกกระทำจะต้องได้รับการชดเชย อย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นญาติหรือใครก็ตามที่ตกเป็นเหยื่อ ของการกระทำต้องได้รับการชดเชยอย่างเพียงพอ
4. คนที่เป็นญาติของคนที่สูญหายต้องรู้ว่า สามีเขา ลูกหลานเขา หายไปได้อย่างไร ต้องรู้ชะตากรรมของเขาถึงที่สุด อย่างกรณีทนายสมชาย เราไม่รู้ว่าชะตากรรมของเขาไปเสียชีวิตที่ไหนกันแน่ หรือหลายคนอย่างบิลลี่ หรือพ่อเด่น เราต้องรู้ให้ได้ว่าเขามีชะตากรรมตรงไหนกันแน่ เขาเสียชีวิตที่ไหน จะทำบุญอย่างไร นี่คือเจตจำนงของการมีอนุสัญญาฉบับนี้
ประเด็นถัดมา นายไพโรจน์ ย้ำว่า ไม่มีเหตุผลข้ออ้างอันใดที่จะอุ้มคน ไม่ว่าสถานการณ์จะพิเศษแบบไหน ไม่ว่าจะใช้กฎหมายอะไร หรือแม้แต่ภาวะสงครามไม่สามารถอ้างเพื่อจะควบคุมตัวและอุ้มหายไป ไม่สามารถอ้างเหุตใดๆ ทั้งสิ้น
ในเจตจำนงการนำคนผิดมาลงโทษ ต้องทำถึงระดับผู้บังคับบัญชา ต้องมีความผิดด้วย ไม่ใช่แค่คนที่กระทำคนเดียว เพราะโดยแท้จริงการอุ้มหายไม่มีทางเกิดโดยเจ้าหน้าที่เล็กๆ ต้องระดับใหญ่เท่านั้นที่จะเป็นคนสั่ง
ประเด็นถัดมา ในคดีการอุ้มหาย จำเป็นจะต้อง คุ้มครองพยาน ไม่อย่างนั้น อิทธิพลของผู้กระทำซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ ในขณะที่อีกฝ่ายที่ถูกกระทำต้องอาศัย ความจำเป็นจากพยาน หากไม่มีการคุ้มครองความปลอดภัย ความร่วมมือมักไม่เกิดเพราะไม่มีใครกล้าเสี่ยงกับอำนาจมืด และเมื่อเป็นการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ มาตรการการสืบสวน สอบสวนจะต้องไม่ใช่ คนกลุ่มเดียวกันสอบสวน
“ บ้านเราพยายามจะสร้างกรมสอบสวนพิเศษ เพื่อจะทำคดีพิเศษ คดีอุ้มหายเป็นหนึ่งในคดีที่ต้องมีมาตรการพิเศษ ในการสอบสวน จึงต้องมีหน่วยพิเศษที่มีอิสระเพียงพอ” นายไพโรจน์ กล่าว
5.
สองกรณีทั้งบิลลี่และพ่อเด่น นางสุนีย์ ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่เราพูดถึงความยุติธรรม ต้องมาจากการป้องกันปัญหา คือเราไม่อยากมาตอนจบที่บอกว่า มีใครถูกอุ้มหาย จะเจอศพหรือไม่ เราไม่อยากจะเจอภาพนี้ ทั้งสองกรณี เป็นความขัดเเย้งกับเข้าหน้าที่ของรัฐมายาวนาน และมันควรเป็นกระบวนการที่รัฐได้เข้าไปแก้ปัญหา จริงๆ มีอีกหลายกรณีที่หากรัฐเข้าไปแก้ปัญหาเร็ว เราจะไม่พบว่า เกิดความรุนแรง ความสูญเสีย
อดีตกสม. กล่าวต่อไปว่า กรณีของบิลลี่ชัดเจนว่า เป็นการสู้เพื่อสิทธิของชุมชน ของชาวกะเหรี่ยงในเขตอุทยานแก่งกระจาน เขามีความชอบธรรมในฐานะที่อยู่มานาน เมื่อลุกขึ้นมาเพื่อที่จะทวงสิทธิว่าไม่สามารถจัดการกับพวกเขาได้ตามใจชอบ เราจะต้องหาทางให้เขากลับไปสู่วิถีชีวิตเดิม
“ การต่อสู้ของบิลลี่ก็โดดเด่น ชัดเจน สังคมรู้หมด แล้วรัฐไทยก็รู้ว่า นี่คือกรณีที่ต้องการการแก้ไขปัญหา แต่ก็ยาวนานหลายปี กว่าจะถึงวันที่สูญหาย” อดีตกสม.กล่าวและว่า เมื่อรัฐลอยตัว แล้วบอกว่า เขาผิดโดยการอ้างกฎหมายอย่างเดียว นำไปสู่การไม่สามารถแก้ปัญหา แล้วความขัดเเย้งก็ยืนมาจนกระทั่งวันที่หายตัวไป เมื่อเปรียบเทียบมายังกรณีของนายเด่น จะพบว่าการต่อสู้ที่ผ่าน นายเด่นเคยเป็นเรื่องร้องเรียน กสม. คือเรื่องที่อุทยานให้ชาวบ้านอพยพออกไป แต่ไม่ได้หาที่ทำกินให้ ชาวบ้านก็ตัดสินใจกลับเข้าไป หากินในพื้นที่เดิม เพื่อเอาตัวรอดให้ได้
กรณีของนายเด่น เข้าสู่การแก้ไขปัญหายาวนาน คือการเรียกร้องโฉนดชุมชน เป็นประเด็นที่รัฐทราบมาตลอดว่า นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมายาวนานและควรแก้ไข รายงาน กสม.บอกว่า ควรจัดที่ให้พวกเขา ในเมื่อพวกเขาอยู่มาก่อน เมื่อคุณจะอพยพเขา คุณต้องมีทางออก กรณีบิลลี่ก็เช่นกัน กะเหรี่ยงอยู่มานาน
เรื่องการอุ้มหาย นางสุนีย์ ตั้งสังเกตไว้ว่า 1. การอุ้มหาย หรือความรุนแรงในหลายกรณีป้องกันได้ ถ้ารัฐสามารถที่จะเข้ามาเคลียร์ปัญหาที่เกิดขึ้น ความยุติธรรมมักจะพูดกันไปถึงเรื่อง ตำรวจ อัยการ ศาล แต่แท้จริงด่านแรกที่ต้องทำคือหน่วยงานราชการ กับกฎหมายที่ดำเนินการบังคับใช้ ส่วนเรื่องของศาลเป็นเรื่องของอีกขั้นตอนหนึ่ง
2. กรณีอย่างบิลลี่ หรือนายเด่นมา มาจากการนโยบายของรัฐที่ไม่เดินต่อเรื่องโฉนด ชุมชน แต่ได้นำนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งแน่นอนทำให้การต่อสู้ของชุมชนนั้น ยิ่งมีต้องลุกขึ้นมาพิทักษ์สิทธิของตนเอง เมื่อปัญหาเก่ายังไม่แก้ กลับเสริมนโยบายใหม่เข้าไป
3. เมื่อเกิดเหตุขึ้น อย่างของบิลลี่ ดูเหมือนว่าอะไรๆ ก็ช้ามาก ทำอย่างไร ที่เราจะบอกว่า นี่เป็นเรื่องที่มีที่มาที่ไป มีรากเหง้าของปัญหา ไม่ใช่คนหายไปธรรมดา เพราะฉะนั้นเมื่อสังคมก็รู้ สื่อก็รู้ กระบวนการติดตาม หรือจัดการกับคนที่อุ้มหายจะต้องมีวิธีการที่รวดเร็ว เราต้องเพิ่มกฎหมายหลายตัว ไม่ใช่แค่ตัวเดียว เช่น การช่วยเหลือชาวบ้านต่อคดีทางกฎหมาย หรือแม้แต่การใช้ระบบนิติวิทยาศาสตร์เข้าไปอย่างรวดเร็ว จะเห็นว่าการต่อสู้ของชุมชนก็จะล่าช้ามาก
สิ่งที่คาบเกี่ยวกัน เป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพที่จำเป็นต้องได้รับการแสดงออก เราพบว่าเรื่องที่เกิดทั้งสองกรณี หรือทุกยุคทุกสมัย เราทำอย่างไร ให้ชุมชนที่เรียกร้อง ไม่ใช่แก้ปัญหาที่กฎหมายอย่างเดียว เป็นปัญหาเชิงนโยบายของรัฐ ที่จำเป็นต้องก้าวเข้ามาตั้งแต่รากของปัญหา
อดีต กสม. เผยว่า คดีอุ้มหายโดยทั่วไป มักจะเกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับต่างๆ ไม่ใช่คดีอิทธิพลธรรมดา หรือถ้าเป็นคดีอิทธิพลเราอาจจะต้อง บอกว่าบางเรื่องเป็นเรื่องของคนที่มีนโยบายเกี่ยวข้องกับรัฐ หรือมีโครงการอะไรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาของรัฐ
เมื่อรัฐลอยตัวไม่เร่งแก้ปัญหา มันก็เสริมอำนาจให้กับกลุ่มอิทธิพลที่ขัดแย้งอยู่กับนักต่อสู้ ชาวบ้านทำให้เขาต้องเผชิญปัญหาอย่างโดดเดี่ยว มันคงน่าตกใจมากว่า บิลลี่อยู่ในสถานการณ์ถูกคุกคามมาโดยตลอด นายเด่นก็เช่นกัน เราดูเหมือนยังมีความหวัง แต่บทบาทของรัฐจะพบว่าล่าช้ามาก ถ้าหากว่ากระบวนการแก้ไขปัญหา ยังดำรงแบบนี้ ก็จะมีกระบวนการแบบนี้เกิดขึ้นอีกในสังคมไทย
6.
ข้อมูลการศึกษาโดยมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ระบุว่า การบังคับสูญหายจะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง หากรัฐมีนโยบายในด้านความมั่นคงหรือการปราบปรามอย่างหนัก อาทิ นโยบายการปราบปรามการก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทย และนโยบายสงครามยาเสพติด ในปี 2546 เป็นต้น และปัจจุบัน คสช. ได้ออกคำสั่งที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐอย่างกว้างขว้าง
โดยเฉพาะคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 13/2559 ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวบุคคลไว้ได้ไม่เกิน7 วัน และไม่ระบุสถานที่ควบคุมตัวโดยญาติและทนายความไม่สามารถเข้าถึงหรือตรวจสอบการควบคุมตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวได้ในทันที จึงอาจทำให้บุคคลเหล่านั้นตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกบังคับให้หายสาบสูญ
การบังคับให้บุคคลหายสาบสูญถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงและผู้ที่ตกเป็นเหยื่อหรือญาติมักจะไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ จะเห็นได้จากที่ผ่านมารัฐบาลไทยยังไม่ประสบความสำเร็จในการคลี่คลายคดีและสืบสวนสอบสวนเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและลงโทษอย่างเหมาะสมรวมทั้งไม่สามารถสืบสวนเพื่อทราบที่อยู่และชะตากรรมของผู้ถูกบังคับสูญหายได้
ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากข้อจำกัดทางกฎหมายของประเทศไทย ที่ยังไม่ได้กำหนดให้การบังคับสูญหายเป็นความผิดทางอาญารวมถึงกระบวนการสืบสวนสอบสวนค้นหาความจริงยังขาดความเป็นอิสระ หรืออาจไม่ใส่ใจที่จะสืบสวนสอบสวนโดยทันที ทำให้ทุกวันนี้อัตราการบังคับสูญหายในประเทศไทย มีแต่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงนักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนอีกมากมายที่ต้องอยู่ในภาวะเสี่ยงและบางคนก็ต้องจบชีวิตลง จากอำนาจมืด จากมือที่ถูกแกล้งให้มองไม่เห็น
ขอบคุณภาพประกอบจากบิลลี่และเด่น คำแหล้จาก นักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส