หนังสือเวียน รพ.สั่งห้ามใช้พัดลมไอน้ำในหอผู้ป่วย หวั่นแพร่เชื้อโรค!
มีประเด็นทางการแพทย์และสุขภาพที่น่าสนใจ เมื่อมีการเผยแพร่เอกสารบันทึกข้อความจากหน่วยควบคุมการติดเชื้อ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ขอความร่วมมือไม่ให้ใช้ "พัดลมไอน้ำ" ในหอผู้ป่วยและหน่วยงานต่างๆ ในโรงพยาบาล เพราะอาจเป็นตัวแพร่กระจายเชื้อโรค
หนังสือฉบับนี้ลงวันที่ 4 พ.ค.59 โดย ศ.นพ.ขจรศักดิ์ ศิลปโภชากุล ประธานกรรมการควบคุมการติดเชื้อโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ทำเป็นบันทึกข้อความส่งถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาล สืบเนื่องจากหน่วยควบคุมการติดเชื้อของโรงพยาบาล ได้รับการปรึกษาจากหอผู้ป่วย RCU (หอผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ) เพื่อขอติดตั้งพัดลมไอน้ำ และญาติผู้ป่วยบางรายได้นำพัดลมไอน้ำมาใช้กับผู้ป่วย
เนื้อหาของหนังสือ ระบุว่า จากการทบทวนงานวิจัย พบว่า พัดลมไอน้ำ ไอเย็น หรือ mist machine เป็นแหล่งกระจายของเชื้อ legionnaires spp. (เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด หรือปอดอักเสบ มีทั้งแบบร้ายแรงและไม่ร้ายแรง) ได้จากละอองน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อในภาชนะบรรจุภายในเครื่องที่ไม่ได้ทำความสะอาดหรือบำรุงรักษาที่เหมาะสม โดยเชื้อดังกล่าวทำลายได้ยาก ทนต่ออุณหภูมิที่ต่ำกว่า 70 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยที่เป็น immunocompromized host หรือผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ, ผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 50 ปี และผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง จึงขอความร่วมมือให้งดการใช้พัดลมไอน้ำ ไอเย็น ในทุกๆ หอผู้ป่วยและหน่วยงานในโรงพยาบาล
ทั้งนี้ หลังจากรับหนังสือ ทางผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้อนุมัติตามที่คณะกรรมการควบคุมการติดเชื้อโรงพยาบาลฯเสนอมา และได้ส่งหนังสือเวียนไปที่หน่วยงานและหอผู้ป่วยทุกแห่ง
นายแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ให้ข้อมูลว่า เอกสารที่เผยแพร่ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงทางการแพทย์ และโดยปกติก็ไม่อนุญาตให้ใช้พัดลมไอน้ำในสถานพยาบาลหรือสถานที่ปิดอยู่แล้ว เนื่องจากเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคบางชนิด แต่สำหรับการใช้พัดลมไอน้ำตามบ้านเรือน น่าจะพอใช้ได้ เพราะเป็นสถานที่เปิด มีอากาศถ่ายเท และไม่ได้ต้องการภาวะปลอดเชื้อ แต่ยืนยันว่าพัดลมไอน้ำไม่ควรใช้ในสถานที่ปิด หรือห้องปรับอากาศ
ด้าน อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในทางหลักการก็มีการเตือนการใช้พัดลมไอน้ำในบางสถานที่ โดยเฉพาะโรงพยาบาลจริง ทราบว่าในกลุ่มแพทย์ก็กำลังพูดคุยหารือในเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง ในแง่ของการตั้งข้อสงสัยหรือข้อสังเกต เพราะเอาเข้าจริงก็ไม่มีข้อมูลชัดเจนว่ามีเคสที่พบการแพร่กระจายของเชื้อโรคจนส่งผลกระทบต่อคนกี่กรณี
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 และ 3 เอกสารบันทึกข้อความของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์
2 พัดลมไอน้ำ (ขอบคุณ ภาพจากอินเทอร์เน็ต)