โชว์หนังสือสตง.จับพิรุธปรับปรุงแหล่งน้ำ818 ล.-ก่อนทส.โต้ไม่พบความผิดปกติ
"..โครงการนี้มีการเร่งรีบจัดทำในช่วงระยะเวลาอันสั้น ภายใน 2 เดือน (ก.พ.-มี.ค.59) โดยมีการอ้างคำขอสนับสนุนจาก อปท.เพื่อเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการตกลงราคา ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันราคาที่เป็นธรรม ขณะที่แบบและรายละเอียดประกอบการจัดซื้อไม่มีความพร้อมทำให้ เป็นช่องทางให้มีการตกลงเงื่อนไขกับผู้รับเหมาไปก่อนแล้วใช้วิธีการออกแบบและลงนามในสัญญาตามหลัง นอกจากนี้ ในแต่ละพื้นที่ที่มีการดำเนินงาน มีการจัดกลุ่มเฉพาะผู้รับเหมาบางกลุ่มเข้ามารับงาน ทำให้ผู้รับเหมาบางรายได้รับงานมากเป็นจำนวนมาก และทำสัญญาในวันเดียวกันเป็นจำนวนมาก.."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นหนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แจ้งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อขอให้ทบทวนการดำเนินการโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำของกรมทรัพยากรน้ำ ปี 2559 จำนวน 1,689 แห่ง รวมวงเงินกว่า 818 ล้านบาท ของกรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีการกระจายงานออกไปตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกี่ยวข้อง โดยให้คำนึงถึงความเหมาะสมรัดกุม และรักษาผลประโยชน์ราชการ มิให้เสี่ยงต่อความเสียหาย รวมทั้งให้พิจารณาดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในขั้นตอนการดำเนินงาน
โดย สตง. ตรวจสอบพบว่า โครงการนี้มีการเร่งรีบจัดทำในช่วงระยะเวลาอันสั้น ภายใน 2 เดือน (ก.พ.-มี.ค.59) โดยมีการอ้างคำขอสนับสนุนจาก อปท.เพื่อเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการตกลงราคา ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันราคาที่เป็นธรรม ขณะที่แบบและรายละเอียดประกอบการจัดซื้อไม่มีความพร้อมทำให้ เป็นช่องทางให้มีการตกลงเงื่อนไขกับผู้รับเหมาไปก่อนแล้วใช้วิธีการออกแบบและลงนามในสัญญาตามหลัง นอกจากนี้ ในแต่ละพื้นที่ที่มีการดำเนินงาน มีการจัดกลุ่มเฉพาะผู้รับเหมาบางกลุ่มเข้ามารับงาน ทำให้ผู้รับเหมาบางรายได้รับงานมากเป็นจำนวนมาก และทำสัญญาในวันเดียวกันเป็นจำนวนมาก
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงใน ทส.ว่า มีการยืนยันข้อมูลจากผู้รับเหมาบางรายในพื้นที่ว่า ในขั้นตอนการเข้ามารับงานนี้ จะมีการเรียกเก็บเงินโครงการละ 23 -26 เปอร์เซ็นต์ โดยเรียกเก็บทันที่ 15 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเก็บ เมื่อส่งงาน ซึ่งรับรู้กันเฉพาะในกลุ่มผู้รับเหมาที่เข้ามารับงาน และเป็นเหตุผลสำคัญที่ขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนเข้ามารับงานโครงการ เป็นลักษณะการคัดเลือกผู้รับเหมาแบบเจาะจง ขณะที่การกำหนดราคางานโครงการไว้แค่โครงการละ 5 แสนบาท ก็เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะไม่ต้องประกวดราคาทั่วไป พร้อมระบุว่าโครงการนี้ หากปล่อยให้ดำเนินการต่อไป จะสร้างความเสียหายให้กับงบประมาณราชการจำนวนมาก เพราะหากคำนวณงานในโครงการทั้งหมด จำนวน1,689 แห่ง ใช้วงเงินกว่า 818 ล้านบาท เรียกเก็บเงินโครงการละ 23 -26 เปอร์เซ็นต์ จะคิดเป็นเงินเปอร์เซ็นต์ประมาณ 204,000,000 บาท คือจำนวนเงินที่ประเทศชาติต้องสูญเสียไป
อย่างไรก็ตาม นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า การดำเนินงานโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำของกรมทรัพยากรน้ำ จำนวน 1,689 แห่ง ดังกล่าว ทางสตง. ได้ส่งหนังสือมาถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางรมว. ได้ส่งเรื่องมาที่ตน และตนก็ได้ส่งเรื่องต่อไปยังกรมทรัพยากรน้ำให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ส่วนรายละเอียดในขั้นตอนการดำเนินงานคงต้องไปสอบถามกับทางอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำจะได้ข้อมูลที่ชัดเจนกว่า เพราะตนไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องอะไรมากนัก แต่เท่าที่ทราบอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ก็มีการเปิดแถลงข่าวไปแล้ว และยืนยันว่าการดำเนินงานโครงการนี้ไม่มีปัญหาอะไร การดำเนินการไปตามขั้นตอน
พร้อมเรียกร้องให้สื่อมวลชน ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลงานในพื้นที่ เพื่อยืนยันข้อมูลความถูกต้องด้วย
(อ่านประกอบ : ปูดเบื้องหลังงานปรับปรุงแหล่งน้ำ 818 ล.หัวคิวพุ่ง 204 ล.-ปลัดทส.ท้าสื่อตรวจสอบ)
---------------------------
อ่านประกอบ :
เปิดช่องตกลงงานก่อนทำสัญญา! สตง.จี้ทส.ทบทวนปรับปรุงแหล่งน้ำทั่วปท. 818ล.
งานปรับปรุงแหล่งน้ำทั่วปท. 818ล. พิรุธแรง! ผู้รับเหมารายเดียวคว้า20สัญญา