ถ้อยแถลง รบ.ไทยด้านสิทธิทางการเมือง เสรีภาพกและศาลทหาร ในเวทีสิทธิมนุษยชนโลก
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดถ้อยแถลงรัฐบาลไทยด้านสิทธิทางการเมืองเสรีภาพการแสดงออก และศาลทหาร กลางเวทีสิทธิมนุษยชนโลก
เมื่อวันที่ 11 พ.ค.59 ในการประชุมทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (Universal Periodical Review หรือ UPR) ครั้งที่ 2 ที่นครเจนีวา ประเทศไทยถูกตัวแทนจาก 22 ประเทศทั่วโลก เช่น สหราชอาณาจักร นอร์เวย์ เบลเยี่ยม ออสเตรเลีย เบลเยี่ยม แคนาดา ญี่ปุ่น ตั้งคำถามโดยตรงในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ได้แก่ การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก, กฎหมายมาตรา 112, การใช้มาตรา 44 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2558 รวมทั้งประเด็นการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร ขณะที่ตัวแทนรัฐบาลก็พยายามชี้แจงถึงประเด็นคำถามดังกล่าว
ตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศ แถลงต่อนานาชาติในประเด็นสิทธิทางการเมือง เนื้อหาโดยสรุประบุว่า
ประเทศไทยมีพันธกิจอย่างเต็มที่ต่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยกำหนดให้มีการทำประชามติระดับชาติที่รับรองร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคมปีนี้ โดยพลเมืองไทยแต่ละคนสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเองทั้งหมด และเป็นเหตุให้ทางการต้องสั่งห้ามการให้ข้อมูลเท็จหรือการชี้นำการตัดสินใจ ทั้งในทางที่จะต่อต้านหรือรับร่างรัฐธรรมนูญ หลังมีการรับรองรัฐธรรมนูญแล้ว จะมีการผ่านกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพื่อปูทางไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2560
ในแง่เสรีภาพในการแสดงออก รัฐบาลเคารพอย่างเต็มที่ แต่เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมือง เราไม่อาจหลีกเลี่ยงการจำกัดสิทธิบางประการได้ เราไม่อาจอนุญาตให้ประชาชนยุยงให้เกิดความเกลียดชังต่อกัน เพียงเพราะความเห็นต่างทางการเมือง แต่รัฐบาลไม่มีเจตจำนงในการจำกัดสิทธิพลเรือนที่มีเจตนาที่ดี ดังนั้น การจำกัดสิทธิใช้เพียงกับบุคคลที่มุ่งยุยงให้เกิดการใช้ความรุนแรงและความแตกแยกเท่านั้น
เกี่ยวกับการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมามีมาตราที่คล้ายคลึงกับมาตรา 44 ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับอื่นเช่นกัน และจะใช้อย่างจำกัดเพียงเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสาธารณะและส่งเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานของราชการ รวมถึง กรณีที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจ เช่น การนำมาใช้เพื่อปราบปรามการค้ามนุษย์ นโยบายต่อต้านยาเสพติด และการแก้ปัญหาการบินพลเรือน
ในเรื่องการใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2559 รัฐบาลอยากรับรองว่าคำสั่งฉบับนี้ มุ่งให้เจ้าหน้าที่ทหารให้ความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อปราบปรามอาชญากรรมที่จัดตั้งเป็นองค์กรเกี่ยวข้องกับการรีดไถการค้ามนุษย์ การปฏิบัติมิชอบต่อเด็ก และด้านแรงงานการพนันการค้าบริการทางเพศ ฯลฯ โดยไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อคุกคามต่อผู้มีความเห็นต่างจากรัฐบาล
ส่วนกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ รัฐบาลชี้แจงว่า นานาชาติจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยเป็นเสาหลักของสังคมไทย กฎหมายนี้มุ่งคุ้มครองสิทธิหรือเกียรติยศขององค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในลักษณะเดียวกับการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทเพื่อคุ้มครองบุคคลทั่วไป ส่วนกระบวนการพิจารณาในคดีนั้น ดำเนินไปอย่างระมัดระวังและสอดคล้องกับกระบวนการอันควรตามกฎหมาย
ด้านพันโทเสนีย์ พรหมวิวัฒน์ ตุลาการศาลทหาร ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย ชี้แจงเรื่องการใช้ศาลทหารกับพลเรือน เนื้อหาโดยสรุประบุว่า
รัฐบาลไทยใช้ศาลทหารในความผิดที่จำกัดและในคดีร้ายแรงเท่านั้น เช่น ความผิดเกี่ยวกับอาวุธและยุทธภัณฑ์ที่ใช้เฉพาะในการสงครามความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร และความผิดอื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งคสช. ซึ่ง 93% ของคดีในศาลทหาร ล้วนเป็นคดีเกี่ยวกับการครอบครองหรือการใช้อาวุธหนักยุทธภัณฑ์หรือระเบิดที่ใช้เพื่อการสงคราม
ขอให้โปรดมั่นใจได้ว่าในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองนี้ การใช้ศาลทหารกับพลเรือนมีอยู่จำกัด และอยู่บนพื้นฐานความจำเป็นอย่างแท้จริงต่อสถานการณ์ในประเทศ
จำเลยในศาลทหารยังได้รับสิทธิเช่นเดียวกับผู้เข้ารับการไต่สวนในศาลพลเรือน ศาลทหารปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งประกันสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมและสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ เมื่อมีการนำพลเรือนขึ้นศาล อีกทั้งตุลาการศาลทหารทุกท่านยังต้องเข้ารับการอบรมด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นการจัดขึ้นโดยภาคีที่เกี่ยวข้องรวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
การพิจารณาคดีในหลายครั้งยังเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้ารับฟังได้ ไม่เพียงญาติของจำเลย หากยังรวมถึงหน่วยงานภาคประชาสังคมและสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ดีการพิจารณาในบางกรณีไม่สามารถพิจารณาได้อย่างเปิดเผย เนื่องจากความปลอดภัยของพยานหรือเนื่องจากความอ่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับคดี
โดยสรุปแล้วการใช้ศาลทหารจะเป็นการใช้อย่างจำกัดต่อความผิดบางประเภทตุลาการศาลทหารมีความรู้และประสบการณ์รวมทั้งความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกับผู้พิพากษาทั่วไป และจำเลยมีสิทธิเช่นเดียวกับในศาลทั่วไป ทั้งนี้เพื่อประกันสิทธิที่ได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมในกระบวนการศาลในระหว่างการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของประเทศ
อย่างไรก็ดี นานาชาติทั้ง 22 ประเทศดังกล่าว ยังคงมีการจัดทำข้อเสนอแนะต่างๆ ต่อรัฐบาลไทยในประเด็นสิทธิมนุษยชนดังกล่าว พอประมวลได้ดังต่อไปนี้
หยุดการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร รับรองว่าพลเรือนจะถูกดำเนินคดีในศาลพลเรือน และได้รับสิทธิในการประกันตัวและการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ประเทศที่เสนอในลักษณะนี้ ได้แก่ สาธารณรัฐเช็ค, เยอรมัน, กรีซ, นิวซีแลนด์, นอร์เวย์ , เนเธอร์แลนด์, ออสเตรีย, เบลเยี่ยม, แคนาดา
เคารพและสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ประเทศที่เสนอในลักษณะนี้ ได้แก่ สาธารณรัฐเช็ค, เยอรมัน, ญี่ปุ่น, ไอซ์แลนด์, เกาหลีใต้, สหราชอาณาจักร, บอสวาน่า, บราซิล, ฝรั่งเศส
ยุติการควบคุมตัวผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลในค่ายปรับทัศนคติ และขอให้ทำการสืบสวนข้อกล่าวหาเรื่องการซ้อมทรมานทั้งหมด ประเทศที่เสนอในลักษณะนี้ ได้แก่ สาธารณรัฐเช็ค, เดนมาร์ก, นิวซีแลนด์, สหราชอาณาจักร
ขอให้มีการทบทวนแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้เข้ากับหลักปฏิบัติที่เป็นสากล ประเทศที่เสนอในลักษณะนี้ ได้แก่ ได้แก่ เยอรมัน, ลัตเวีย, เบลเยี่ยม ขณะที่ประเทศนอร์เวย์ได้เสนอโดยตรงให้ยกเลิกมาตรา 112 และการใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่กระทบต่อเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น
ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ประเทศที่เสนอในลักษณะนี้ ได้แก่ ลักเซมเบิร์ก, เบลเยี่ยม, แคนาดา
ยกเลิกคำสั่งคสช. และคำสั่งต่างๆ ที่ไม่เป็นไปตามพันธกรณีสิทธิมนุษยชนสากล ประเทศที่เสนอ ได้แก่ ออสเตรเลีย
แก้ไขมาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพื่อที่จะไม่ถูกนำไปใช้กับคดีความผิดฐานหมิ่นประมาท ประเทศที่เสนอ ได้แก่ สวีเดน, แคนาดา
รับรองว่าจะมีการพูดคุยถกเถียงประชามติเรื่องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมด้วย ประเทศที่เสนอได้แก่ ออสเตรีย
(อ่านประกอบ : 16 ข้อ การชี้แจงตัวแทน รบ.ไทยเรื่องศาลทหารไม่ตรงความเป็นจริง)
อ่านเพิ่มเติม
- สรุปประเด็นคำถามจากประเทศต่างๆ ต่อรัฐบาลไทย: https://tlhr2014.wordpress.com/2016/05/11/upr-second-circle/
- คำแถลงตัวแทนรัฐบาลไทย เรื่องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ฉบับเต็ม: https://tlhr2014.files.wordpress.com/2016/05/statement-on-civil-and-political-rights-thailand_upr.pdf (ภาษาอังกฤษ)https://tlhr2014.files.wordpress.com/2016/05/thai_iccpr_upr.pdf (ภาษาไทย)
- คำแถลงตัวแทนรัฐบาลไทย เรื่องศาลทหาร https://tlhr2014.files.wordpress.com/2016/05/statement-on-military-court-thailand_upr.pdf (ภาษาอังกฤษ)https://tlhr2014.files.wordpress.com/2016/05/thai_military_court_upr.pdf (ภาษาไทย)
- สรุปข้อเสนอของแต่ละประเทศได้ https://tlhr2014.files.wordpress.com/2016/05/upr-country1.xlsx (ภาษาอังกฤษและภาษาไทย)