แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิฯ เรื่อง การพิจารณาร่างพ.ร.บ.แร่ พ.ศ. .... เพื่อคุ้มครองสิทธิชุมชน
แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เรื่อง การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... เพื่อคุ้มครองสิทธิชุมชน
การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และสุขภาพที่ยั่งยืน
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ว่าทางราชการจะไม่ต่ออายุการทำเหมืองแร่ทองคำ และภายในสิ้นปี พ.ศ. 2559 จะไม่มีการทำเหมืองแร่ทองคำทั้งการสำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองอีกต่อไป นั้น
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ กรณีเหมืองแร่ตะกั่วในบริเวณชุมชนชาวบ้านคลิตี้ จังหวัดกาญจนบุรี ถึงแม้ว่าศาลได้มีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ โดยใช้งบประมาณแผ่นดิน 593 ล้านบาท จากงบประมาณปี พ.ศ. 2559 – 2561 ซึ่งใช้ระยะเวลาดำเนินการที่ยาวนานมากกว่า 10 ปีหลังปิดเหมือง รวมถึงกรณีเหมืองสังกะสีบริเวณอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และกรณีเหมืองถ่านหิน อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ที่ต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูและชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ยาวนานเช่นกัน ทั้งนี้ กสม.ได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ....หลายครั้ง พบว่า กลไกการมีส่วนร่วม ขั้นตอนวิธีการ การประเมินผล EIA การกำกับตรวจสอบตามเงื่อนไขเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต ยังอาจมีข้อจำกัดทั้งในแง่กฎหมายและวิธีปฏิบัติในการบูรณาการของหลายหน่วยงาน ตลอดจนกลไกในการปกป้อง คุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนในพื้นที่ยังมีไม่เพียงพอ
กสม. ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทและหน้าที่ในการส่งเสริมการเคารพและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน ปกป้องสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย จึงมีข้อเสนอดังนี้
1. ขอชื่นชมนายกรัฐมนตรีที่ใช้ภาวะผู้นำอนุมัติให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และบูรณาการส่วนราชการต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามมติร่วมกันของ 4 กระทรวงที่ให้ (1) ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ และประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตรด้วย (2) ในกรณีของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)ให้ต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมจนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2559 เพื่อให้สามารถนำแร่ที่เหลืออยู่ไปใช้ประโยชน์ได้ พร้อมทั้งให้บริษัทอัคราฯ เร่งดำเนินการปิดเหมืองและฟื้นฟูพื้นที่ และ(3)ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลประชาชนและบรรเทาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายหลังที่สิ้นสุดการประกอบกิจการเหมืองแร่และโลหกรรมของบริษัทอัคราฯ
2. ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก นำบทเรียนกรณีการจัดการทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – พ.ศ.2563 นโยบายวางแนวทางการพัฒนาและปฏิรูปให้เกิดความต่อเนื่อง ความมั่นคง คือ ประชาชน มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ไม่ใช้ความรุนแรง ความมั่งคั่ง คือ ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามสมควรแก่ฐานะเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับตลาดโลก มีการบริหารจัดการภายในประเทศอย่างบูรณาการ และความยั่งยืน คือการคำนึงถึงความเหมาะสม คุ้มค่า ในทุกมิติ และสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ไม่เป็นเหมือนเช่นอดีตที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กสม. จะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ....ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทั้งนี้ เพื่อสร้างกลไกป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมดั่งเช่นที่ผ่านมาอันจะนำมาซึ่งความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนต่อไป