WHO หนุนไทยเก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำตาลสูง แนะรัฐนำรายได้สร้างสุขภาพ ปชช.
องค์การอนามัยโลกชี้มาตรการทางภาษีเครื่องดื่มน้ำตาลสูง ช่วยลดโรคอ้วนโรคเบาหวานและโรคไม่ติดต่ออื่น ๆ (NCDs) ได้จริง เผยสาเหตุการตายของคนไทยจากโรคไม่ติดต่อมีสัดส่วนถึง 71% ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงปีละเกือบ 2 แสนล้านบาท แนะรัฐนำรายได้ไปสร้างเสริมสุขภาพให้ประชาชน
ดร.แดเนียล เคอร์เตสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก(WHO)ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงเป็นเหตุปัจจัยสำคัญทำให้เกิดโรคเบาหวานและโรคอ้วนในประเทศไทย ซึ่งการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงร่วมกับมาตรการอื่นๆ สามารถลดการบริโภคลงได้ ซึ่งจะช่วยให้ลดจำนวนผู้ที่เป็นโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อ (NCDs) อื่นๆ ได้
ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ชี้ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความรุนแรงของโรค NCDs ทั้งหลาย เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมีสัดส่วนถึง 71% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมดในประเทศไทย
นอกจากนี้ สถิติยังชี้ให้เห็นว่าอัตราคนน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อปี 2001 พบชายไทยที่มีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วน 7.7% ก่อนทะยานขึ้นเป็น 28.3% ในปี 2008 ขณะที่อัตราผู้หญิงไทยที่มีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นจาก 15.7% เป็น 40.7% ในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ 12% ของเด็กไทยมีปัญหาน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนเช่นกัน และมีแนวโน้มว่าตัวเลขจะสูงขึ้นเรื่อยๆ
ด้วยเหตุนี้ โรค NCDs ในประเทศไทยจึงนำมาซึ่งความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล ในปี 2009 ประเทศไทยต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายไปกับโรค NCDs มากถึง 198,512 ล้านบาทหรือร้อยละ 2.2 ของจีดีพี (3,128 บาท/คน)
ดร.เคอร์เตสซ์ เปิดเผยด้วยว่า มีการศึกษามากมายพบว่าการบริโภคเครื่องดื่มน้ำตาลสูงเชื่อมโยงโดยตรงกับโรคอ้วนและโรคเบาหวาน ซึ่งประเทศไทยก็พบว่าการบริโภคเครื่องดื่มน้ำตาลสูงเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะมีการใช้การตลาดที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็ก"เครื่องดื่มที่มีความหวาน ไม่มีความจำเป็นกับชีวิตเราเลย ดื่มแล้วก็ไม่รู้สึกอิ่ม หรือสร้างเสริมสุขภาพของเราได้" ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าว
ดร.เคอร์เตสซ์ กล่าวต่อไปว่า โรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเป็นปัญหาที่ซับซ้อนจึงต้องมีการจัดการโดยใช้หลายมาตรการร่วมกัน ซึ่งนโยบายการคลัง และการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำตาลสูง เป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับโรคอ้วน ร่วมกับการรณรงค์อื่นๆ เช่น การให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย, การอ่านฉลากบริโภค, การสร้างกลไกควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพกับเด็ก รวมถึงการส่งเสริมการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ผักและผลไม้
จากการศึกษาการนำมาตรการทางภาษีมาใช้กับอาหารและเครื่องดื่มขององค์การอนามัยโลก พบว่า โรคอ้วนลดลงในลักษณะแปรผันตามกับอัตราภาษีที่จัดเก็บ ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศที่เก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำตาลสูงแล้ว เช่น เม็กซิโก, อังกฤษ, ฟิจิ, ฮังการี, ออสเตรเลีย และฟินแลนด์
ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ย้ำด้วยว่า ที่สำคัญภาษีเครื่องดื่มน้ำตาลสูง จะช่วยยับยั้งการตัดสินใจซื้อในหมู่เด็กและวัยรุ่น และอาจช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารจะปรับตัว โดยสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพขึ้นมา ให้เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในตลาด
"รายได้ที่เกิดจากการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำตาลสูง สามารถนำไปใช้สำหรับการส่งเสริมสุขภาพ และเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพให้เท่าเทียมกันยิ่งขึ้น" ดร.เคอร์เตสซ์ กล่าว