แจงให้ชัดอีกรอบ! เหตุผล กพร.ยุติสัมปทาน ‘เหมืองทอง’ สกัด อัคราฯ ดิ้นสู้
เปิด 4 ประเด็น เเถลงการณ์ กพร.ชี้เเจงเพิ่ม หลังสั่งยุติต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรม เหมืองเเร่ทองคำชาตรี ของ บ.อัคราฯ ด้าน 'ศ.ระพี สาคริก' ส่งหนังสือถึงนายกฯ ชื่นชมการตัดสินใจ สมเป็นชายชาติทหาร
“บริษัทฯ รู้สึกประหลาดและผิดหวังกับมติ ครม.ดังกล่าว”
เสียงของ ‘เชิดศักดิ์ อรรถอารุณ’ ผจก.ฝ่ายประสานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในเวทีแถลงข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรกของบริษัทฯ ซึ่งจัดขึ้น ณ รร.เรเนซองส์ ย่านราชประสงค์
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากครม.มีมติเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2559 สั่งยุติการอนุญาตการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ และกรณีต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมเหมืองแร่ทองคำชาตรี จ.พิจิตร ของบริษัทฯ จนถึงสิ้นปี 2559 ชนิดที่เรียกว่า ทำให้เขาตกตะลึง ไม่ได้คาดคิดว่า ผลจะออกมาในรูปแบบนี้
หลังจากนั้น ภาครัฐยังสั่งให้ปิดเหมืองและฟื้นฟูตามแผนทันที
ก่อนหน้านี้มีการร้องเรียนอย่างต่อเนื่องว่า การทำเหมืองแร่ทองคำส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มีการตรวจพบสารโลหะหนักในร่างกายของชาวบ้านอาศัยในพื้นที่โดยรอบ ซึ่งอ้างว่าเกิดจากการทำเหมืองแร่ทองคำ กระนั้น บริษัทฯ กลับยืนยันว่า ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
(อ่านประกอบ: ครม.สั่งปิดเหมืองทองคำชาตรี จ.พิจิตร อนุญาตให้ บ.อัคราฯ ขนเเร่ถึงสิ้นปี 59)
เชิดศักดิ์ ระบุว่า แม้จะเข้าใจเหตุผลในการตัดสินใจครั้งนี้ เพื่อลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แต่กังวลว่า มติที่ออกมานั้นมีความชัดเจนหรือไม่ เพราะปัจจุบันยังไม่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ข้อเท็จจริงเกิดอะไรขึ้น จึงเรียกร้องต่อภาครัฐให้เร่งดำเนินการหาข้อเท็จจริงของสาเหตุความขัดแย้งด้านผลกระทบที่มีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเหมืองทองคำตามหลักวิทยาศาสตร์และธรณีวิทยา
เขาบอกว่า ความกระจ่างและความยุติธรรมต่อทุกฝ่ายจะได้เกิดขึ้น โดยเฉพาะชาวบ้านตัวจริงที่อาศัยบริเวณโดยรอบ ทั้งนั้ บริษัทฯ ยินดีจะให้ความร่วมมือ และจะไม่ยื่นฟ้องร้องรัฐในขณะนี้
(อ่านประกอบ:บ.อัคราฯ ชี้ 'ฟ้องรัฐ' ทางเลือกสุดท้าย ปมถูกปิดเหมืองทอง พิจิตร)
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่บริษัทฯ กำลังให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชนอยู่นั้น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ก็ออกแถลงการณ์ชี้แจงนโยบายในการสั่งยุติเหมืองแร่ทองคำอีกครั้ง ซึ่งยาวกว่าครั้งก่อน เพื่อให้สังคมคลายข้อสงสัยในบางประเด็น
ไล่เรียงตั้งแต่เหตุผลในการยุติสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ
กพร.แจงว่า เป็นการดำเนินการตามมติร่วมกันของ 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งได้มีการหารือร่วมกันถึงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้านต่าง ๆ พบว่า ปัจจุบันยังคงมีปัญหาเรื่องร้องเรียนและข้อขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ แม้จะยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่าปัญหาข้อร้องเรียนและผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน เกิดจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯ หรือไม่
เพื่อประโยชน์ของสังคมและประชาชนเป็นส่วนรวม และแก้ไขปัญหาความแตกแยกของประชาชนในชุมชน ประกอบกับมีคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกี่ยวกับเหมืองแร่ทองคำไว้เมื่อ ก.ค. และส.ค. 2557 ว่าการดำเนินการจะต้องโปร่งใส ประชาชนไม่ต่อต้าน และยังไม่อนุมัติ จึงมีมติร่วมกันดังที่ปรากฎในสื่อมวลชนทุกแขนง
ส่วนแนวทางในการดำเนินการปิดกิจการของบริษัทฯ นั้น
กพร.ยืนยันว่า นโยบายการยุติสัมปทานเหมืองแร่ทองคำนี้ไม่ได้เป็นการยุติการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯ หรือเพิกถอนประทานบัตรของบริษัทฯ โดยทันที
หากแต่บริษัทฯ จะสามารถประกอบกิจการได้ถึงสิ้นปี 2559 เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพนักงานและเพื่อให้บริษัทฯ สามารถนำแร่ที่เหลืออยู่ไปใช้ประโยชน์ พร้อมทั้งเตรียมการเลิกประกอบกิจการ และเร่งดำเนินการปิดเหมือง และฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมือง
ทั้งนี้ ในช่วงเวลา 7 เดือนนี้ นอกจากบริษัทฯ จะสามารถประกอบกิจการได้ตามปกติแล้ว บริษัทฯ จะต้องเริ่มดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ให้เป็นไปตามแผนการปิดเหมือง ด้วยการปรับสภาพและฟื้นฟูพื้นที่ต่าง ๆ
โดยได้กำหนดไว้ในมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ซึ่งกำหนดไว้ตั้งแต่ขั้นตอนการพิจารณาอนุญาตให้ประกอบกิจการเหมืองแร่
กพร.ยังชี้แจงกรณีอนุญาตให้บริษัทฯ ประกอบโลหกรรมถึงสิ้นปี 2559 ทั้งที่ประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำยังมีอายุเหลืออยู่ ว่า แม้ประทานบัตรเหมืองแร่ของบริษัทฯ จะสิ้นอายุใน มิ.ย. 2563 และ ก.ค. 2571 แต่ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้เร่งการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน
หากพิจารณาในทางเทคนิคและวิศวกรรมแล้ว บริษัทฯ จะสามารถทำเหมืองได้ไม่เกินปี 2559 จึงอนุญาตให้ประกอบโลหกรรมได้ถึงสิ้นปี 2559 เพื่อให้สอดคล้องกับการประเมินหลักการทางเทคนิคและวิศวกรรมดังกล่าว
ทั้งนี้ ผลที่จะเกิดขึ้นจากการยุติการสัมปทานเหมืองแร่ทองคำนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการยุติการดำเนินการที่เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ทองคำ 3 ประการ ได้แก่
-ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ ซึ่งปัจจุบันมีคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำจาก 12 บริษัท ครอบคลุมพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ พิจิตร จันทบุรี ระยอง พิษณุโลก ลพบุรี สระบุรี สระแก้ว นครสวรรค์ และสตูล จำนวน 177 แปลง พื้นที่ประมาณ 1.5 ล้านไร่
-ยุติการอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งปัจจุบันมีคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำเพียงบริษัทเดียว คือ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด จ.เลย จำนวน 107 แปลง พื้นที่ประมาณ 2.8 หมื่นไร่
-การอนุญาตคำขอต่ออายุประทานบัตร ซึ่งปัจจุบันมีคำขอต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ มีเพียงบริษัทเดียว คือ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จ.เพชรบูรณ์ 1 แปลง พื้นที่ 93 ไร่
ขณะที่ ศ.ระพี สาคริก ผู้แทนประชาชนรักชาติของไทย มีหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายหลังทราบมติ ครม.แสดงความชื่นชมในการตัดสินใจครั้งนี้ โดยบางช่วงบางตอนแสดงความคิดเห็นว่า
“...แท้ที่จริงแล้วการเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามากอบโกยทองคำหรือทรัพยากรอื่น ๆ บนผืนแผ่นดินไทยอันเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติและของลูกหลานไทยทุกคนนั้นถือได้ว่าเป็นความผิดพลาดอย่างยิ่งของทุก ๆ รัฐบาลที่ทำเรื่องเช่นนี้นับตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาในการบริหารแผ่นดิน
การตัดสินใจของท่านในครั้งนี้นอกจากช่วยปกป้องและรักษาสมบัติของชาติที่เป็นของไทยทุกคนแล้ว ยังส่งผลดีในระยะยาวและยั่งยืนต่อทั้งเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมสุขภาพ และความยั่งยืนของแผ่นดินไทยแล้ว ยังถือเป็นความภาคภูมิใจของตัวท่านเองสมกับที่ท่านเป็นผู้นำชายชาติทหาร...”
เพียงเเค่ 2 วัน หลังมติครม.ต่ออายุเหมืองทองคำชาตรีจนถึงสิ้นปี 2559 บริษัทฯ ได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อร้องขอความเป็นธรรมอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาคประชาสังคม ต่างยินดี พร้อมกับชื่นชมในความกล้าตัดสินใจของรัฐบาลชุดนี้...