วิจัยพบครูมัธยม-อาชีวะ เกินครึ่งไม่ได้รับอบรมหลักสูตร ‘เพศวิถีศึกษา’
วิจัยชี้ ร.ร.มัธยมเกือบทั้งหมดจัดการเรียนการสอน ‘เพศวิถีศึกษา’ ประเด็นตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โรคติดต่อทางเพศ ถูกให้ความสำคัญมากสุด ขณะที่ครูผู้สอนพบเกินครึ่งไม่ได้รับการอบรมหลักสูตร ผู้ปกครองหวั่นเปิดช่องให้บุตรหลานมีเพศสัมพันธ์มากขึ้น
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 11 พฤษภาคม 2559 องค์การยูนิเซฟ (ประเทศไทย) ร่วมกับศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข ม.มหิดล และกระทรวงศึกษาธิการ จัดนำเสนอผลงานวิจัยเชิงสำรวจเพื่อทบทวนการจัดการเรียนรู้เพศศึกษาในสถานศึกษาไทย ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
โดยงานวิจัยชิ้นนี้ใช้เวลาดำเนินการ 7 เดือน ระหว่างปี 2558-59 สำรวจโรงเรียนสายสามัญทั้งหมด 373 แห่ง สถานศึกษาอาชีวศึกษา 25 แห่ง ใน 6 ภูมิภาคของไทย และเก็บข้อมูลกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเพศวิถีศึกษาทั้งในระดับพื้นที่และประเทศ ในการสำรวจมีนักเรียน 8,837 คน และครู 692 คน เข้าร่วมตอบแบบสอบถามอิเล็กโทรนิกส์ รวมถึงสนทนากลุ่ม และสัมภาษณ์นักเรียน ครู ผู้ปกครอง ผู้บริหารโรงเรียนและผู้มีส่วนผลักดันเชิงนโยบายระดับชาติ 306 คน
ทั้งนี้ มีข้อค้นพบว่าสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาเกือบทั้งหมดทั้งสายสามัญและสายอาชีวศึกษามีการจัดการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษา ทั้งในรูปแบบของการบรรจุเพศวิถีศึกษาเป็นสาระการเรียนรู้สำคัญในวิชาอื่นและจัดให้เป็นวิชาแยก หรือมีการจัดการสอนทั้ง 2 รูปแบบ
ส่วนหัวข้อการสอนมีความหลากหลาย แต่ประเด็นการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ สรีระและพัฒนาการทางเพศได้รับการเน้นย้ำมากทีสุด ในขณะที่เรื่องเพศภาวะ สิทธิทางเพศ ความหลากหลายทางเพศ และความรุนแรงมีการสอนน้อยกว่า
นอกจากนี้สถานศึกษาหลายแห่งสอนเกี่ยวกับเพศวิถีจากมุมมองที่เป็นผลกระทบด้านลบของเพศสัมพันธ์ โดยมีการสอนมุมมองด้านบวกน้อยมาก กล่าวคือ มีนักเรียนเพียงร้อยละ 56-66 ที่ระบุว่า ในด้านสิทธิทางเพศเเละความเป็นพลเมือง มีการสอนหัวข้อ การสัมผัสที่ดี (กอด จูบ) ซึ่งเเสดงถึงความรู้สึกห่วงใย ความรัก หรือความรู้สึกที่ดีต่อกัน
อีกทั้ง มีโรงเรียนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ใช้วิธีสอนในรูปแบบกิจกรรมเป็นหลัก ส่งผลให้นักเรียนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการพัฒนาทักษะคิดวิเคราะห์และตั้งคำถามอย่างเพียงพอและยังทำให้ขาดความรู้ความเข้าใจและนำความรู้ไปใช้จริง
ประกอบกับครูเพศวิถีศึกษาในสายสามัญครึ่งหนึ่งและสายอาชีวศึกษามากกว่าครึ่งไม่ได้รับการอบรมด้านนี้ ขณะที่ผู้ปกครองบางคนยังลังเลว่าการสอนอาจเป็นการกระทำที่กระตุ้นให้นักเรียนมีเพศสัมพันธ์ แม้จะมองว่าการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษามีความสำคัญก็ตาม
ดร.สุภัทร จำปาทอง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ศธ.ถือว่าปัญหาการจัดการเรียนการสอนทุกเรื่องเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา หนึ่งในนั้นมีหลักสูตรเพศวิถีศึกษารวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาข้อมูลสถานศึกษากว่า 300 แห่ง ซึ่งถือเป็นกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่พอสมควร สิ่งที่ได้จากข้อเสนอแนะ ความคิดเห็น วิธีการปฏิบัติ จะเป็นสิ่งสำคัญในการปรับปรุงวิธีการทำงานในอนาคต ทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา
“ศธ.มุ่งเน้นให้ผู้เรียนทุกระดับมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ มีความรู้ กล้าตัดสินใจ และมีคุณธรรม จริยธรรม แต่ส่วนหนึ่งคงทราบดีว่าสถานการณ์ประเทศไทยไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร”
รองปลัด ศธ.กล่าวว่า ข้อมูลจากการจัดเก็บสถิติทุกปีพบมีผู้ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรอายุระหว่าง 15-19 ปี จำนวน 1.2 แสนคน/ปี เฉลี่ยช่วงอายุละ 3 หมื่นคน ซึ่งหากนับย้อนหลัง 5 ปี ขณะนั้นมีอัตราการเกิด 1.2 ล้านคน นั่นแสดงว่า มีผู้ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ร้อยละ 2.5 ของจำนวนทั้งหมด ถือว่ามีผลกระทบต่อคุณภาพเยาวชนในอนาคต ทำให้สูญเสียทรัพยากรของประเทศ
ทั้งนี้ แม้หลักสูตรเพศศึกษาวิถีจะไม่เป็นเครื่องมือที่จะตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาทั้งหมด แต่ก็สามารถช่วยลดทอนปัญหาได้ แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน นอกจาก ศธ.แล้ว ยังมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย และชุมชน จะช่วยให้การเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษาประสบความสำเร็จในเชิงการดูแลที่ดีขึ้น
ด้าน รศ.ดร.พิมพวัลย์ บุญมงคล หัวหน้าโครงการวิจัยเพศวิถีศึกษา ม.มหิดล ระบุว่า การศึกษาวิจัยฉบับนี้เป็นการทบทวนแง่มุมต่าง ๆ ของการเรียนการสอนวิชาเพศวิถีศึกษาในสถานศึกษา เช่น ทัศนคติครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครอง ตลอดจนความสำเร็จและช่องว่างต่าง ๆ ในการจัดการเรียนการสอน อย่างไรก็ตาม ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ยังเป็นปัญหาใหญ่ในวัยรุ่นไทย รวมถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวี
ข้อมูลจากสำนักอนามัยเจริญพันธุ์ ปี 2557 เปิดเผยว่า มีแม่วัยรุ่นคลอดบุตรวันละประมาณ 320 คน ในขณะที่รายงานเรื่อง วิเคราะห์สถานการณ์และปัจจัยที่มีผลต่อการติดเชื้อเอชไอวีของกลุ่มเยาวชนในประเทศไทย พบร้อยละ 70 ของผู้ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์รายใหม่อยู่ในกลุ่มวัยรุ่น .