เปิด 4 พฤติการณ์‘หมอเลี๊ยบ-ประเสริฐ’ โดน สตง.ฟันคดีท่อก๊าซ-ไฉน‘ปิยสวัสดิ์’รอด?
“…ว่าง่าย ๆ กระทรวงพลังงานเหมือนถูกลืม ไม่มีบทบาท จะบอกละเว้นด้วยหรือไม่ ดูเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่คนที่ทำให้เกิดความเสียหาย เราก็ต้องนำมาสรุปผลก่อน ถ้ามัวแต่รอตรงนี้ก็สรุปผลไม่ได้เสียที นี่ขนาดรีบดำเนินการแล้ว และใช้ความละเอียดรอบคอบของ คตง. กลั่นกรองแล้วด้วย ส่วนที่ไม่มี รมว.พลังงานนั้น ในหลักฐานพบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมมีมติให้ทำแน่ แต่ไม่มีบทบาทเข้ามาในส่วนนั้น…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นคำวินิจฉัยชี้มูลความผิดแก่นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.คลัง นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 6 ราย ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ที่สรุปรายผลงานการตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรณีไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 (รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) และไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2550 ในการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ท่อก๊าซ) ทำให้รัฐขาดรายได้จากการใช้ทรัพย์สินไม่น้อยกว่า 32,613.45 ล้านบาท
(อ่านประกอบ : สตง.เชือด‘หมอเลี๊ยบ-ประเสริฐ’คดีส่งคืนท่อก๊าซ ปตท.ไม่ครบเสียหาย 3.2 หมื่นล.)
เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วง 2 รัฐบาล ได้แก่ รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี (1 ต.ค. 2549-23 ธ.ค. 2550) และรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี (6 ก.พ. 2551-9 ก.ย. 2551) โดยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 เกิดขึ้นเมื่อสมัย พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ เป็น รมว.พลังงาน ส่วนการดำเนินการทำในช่วงรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ที่มีนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็น รมว.คลัง
โดยมีประเด็นสำคัญคือ การไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 และไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2550 การจัดทำบันทึกแบ่งแยกทรัพย์สินฯไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงให้การต่อศาลเป็นเท็จ เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2551
ทั้งนี้ที่ประชุม คตง. พิจารณาแล้วมีมติเห็นพ้องกับผลการตรวจสอบของ สตง. ดังนี้
หนึ่ง การแบ่งแยกทรัพย์สินฯ มีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2550
กล่าวคือ ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาในคดีดังกล่าว ให้คณะรัฐมนตรี (รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์) นายกรัฐมนตรี (พล.อ.สุรยุทธ์) รมว.พลังงาน (นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิบัตรของ ปตท. ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550
แต่จากการตรวจสอบของ สตง. พบว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3 มิได้มีส่วนร่วมในการกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินฯ ตามคำพิพากษา โดยการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ มิได้ถูกนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาก่อนการลงนามบันทึกการแบ่งแยก ตลอดจนมิได้นำเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนการยื่นคำร้องรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2551
และไม่ปรากฏว่านายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ รมว.พลังงาน (นายปิยสวัสดิ์) ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เข้ามีส่วนร่วมในการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ
สอง การแบ่งแยกทรัพย์สินฯ มีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550
กล่าวคือ คณะรัฐมนตรีมีมติในวันดังกล่าว ทำนองว่า “เห็นชอบหลักการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ให้เป็นของกระทรวงการคลังตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยให้ สตง. เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง”
แต่จากการตรวจสอบของ สตง. พบว่า การแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ของการปิโตรเลียมฯ มิใช่เป็นกรณีกระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการตามที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนด และมิได้ให้ สตง. เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง หากมีข้อโต้แย้งทางกฎหมาย ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติต่อไป
นอกจากนี้สำหรับกรณีท่อก๊าซในทะเลซึ่งเป็นเรื่องที่มีความเห็นไม่ตรงกัน โดย สตง. มีหนังสือแจ้งข้อทักท้วงให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานทราบ เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2551 และมีหนังสือ สตง. ลงวันที่ 28 ม.ค. 2551 ซึ่งเป็ฯกรณีที่มีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเกี่ยวกับการตีความตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ปตท. ได้ยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2551 โดยไม่มีการนำเรื่องท่อก๊าซในทะเลให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาให้มีข้อยุติ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว
สาม การจัดทำบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
กล่าวคือ การแบ่งแยกทรัพย์สินของ ปตท. เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการแบ่งแยกและโอนให้แก่กระทรวงการคลัง ตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542
จากการตรวจสอบพบว่า ไม่มีการเสนอบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ให้คณะรัฐมนตรีในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ แต่กลับมีกระบวนการเสนอให้ใช้อำนาจของ รมว.คลัง ขณะนั้น (นายสุรพงษ์) ให้ความเห็นชอบร่างบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ซึ่ง รมว.คลัง มิใช่บุคคลตามบังคับของคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และคณะรัฐมนตรีมิได้มอบหมายให้ รมว.คลัง สามารถพิจารณาอนุมัติการแบ่งแยกทรัพย์สินได้แต่เพียงผู้เดียว
ดังนั้น การที่ รมว.คลัง ได้ให้ความเห็นชอบโดยมิได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจและเป็นไปโดยมิชอบ นอกจากนี้กระบวนการจัดทำร่างบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ มีกรณีการไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2535 คือมิได้ส่งร่างบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯให้สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ตรวจพิจารณา อันทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
สี่ การเสนอรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษา โดยแจ้งเนื้อหาที่เป็นเท็จในสาระสำคัญ และปกปิดข้อเท็จจริงในสาระสำคัญที่จะต้องรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด
กล่าวคือ ภายหลังการลงนามบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯแล้ว ปตท. ได้ทยอยส่งมอบพื้นที่และทรัพย์สินตามที่ปรากฏในบันทึกให้กับกรมธนารักษ์ กระทั่งเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2551 ได้มีการประชุมร่วมระหว่าง สตง. กับ ปตท. ซึ่ง สตง. ได้เสนอร่างรายงานการตรวจสอบฯ ให้กระทรวงการคลังต่อประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. (นายประเสริฐ) โดยมีความเห็นว่า การแบ่งแยกและโอนทรัพย์สินฯ ให้แก่กระทรวงการคลังยังไม่ครบถ้วน
ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2551 ปตท. มีหนังสือถึงอธิบดีกรมธนารักษ์ แจ้งว่า ปตท. ได้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินฯให้แก่กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเสร็จสิ้นแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2551 กรมธนารักษ์ มีหนังสือถึง ปตท. แจ้งว่า ปตท. ดำเนินการแบ่งแยกและโอนทรัพย์สินให้แก่กระทรวงการคลังครบถ้วนตามที่กรมธนารักษ์และ ปตท. ได้ร่วมกันตรวจสอบและกระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบแล้ว ขอให้รายงานศาลปกครองสูงสุด เพื่อทราบต่อไป
หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2551 ปตท. ในฐานผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้ยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด ทำนองว่า “ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งรัดดำเนินการเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยร่วมกันแบ่งแยกทรัพย์สินฯ เสร็จสิ้นแล้ว” โดยมิได้รอผลการตรวจสอบของ สตง.
ซึ่งเป็นข้อกล่าวอ้างที่แจ้งเนื้อหาที่เป็นเท็จในสาระสำคัญ และปกปิดข้อเท็จจริงในสาระสำคัญ เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3 ไม่ได้ร่วมกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ และในประเด็นเรื่องท่อก๊าซในทะเลยังมีข้อโต้แย้งที่ยังไม่ได้ข้อยุติว่าถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ แต่ในคำร้องดังกล่าวมิได้ระบุถึงเรื่องท่อก๊าซในทะเล ให้ศาลปกครองสูงสุดรับทราบข้อเท็จจริง และไม่ได้รายงานว่าประเด็นเรื่องท่อก๊าซในทะเลนั้น มิได้นำเสนอให้คณะรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณา
การยื่นคำร้องดังกล่าว เป็นผลให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2551 ทำนองว่า “ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว” ซึ่งการยื่นคำร้องดังกล่าวเป็นการแจ้งเนื้อหาที่เป็นเท็จในสาระสำคัญ และปกปิดข้อเท็จจริงในสาระสำคัญที่จะต้องรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด ถือเป็นการกระทำโดยมิชอบ
ดังนั้น การที่ ปตท. ได้ยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2551 โดยไม่ปรากฏการแบ่งแยกทรัพย์สิน มูลค่า 32,613.45 ล้านบาท ให้แก่รัฐ รวมทั้งไม่ได้รายงานทรัพย์สินที่จะแบ่งแยกให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อน ทำให้มีทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินคงเหลือที่ยังไม่ได้แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังคิดเป็นมูลค่าความเสียหายไม่น้อยกว่า 32,613.45 ล้านบาท และเนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าวถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งมิได้ถูกโอนให้แก่รัฐตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2554 ทำให้รัฐขาดรายได้จากค่าใช้ทรัพย์สินซึ่งถือเป็นความเสียหายอีกส่วนหนึ่ง
ทั้งหมดคือ 4 พฤติการณ์หลัก ที่ทำให้ คตง. เห็นชอบตาม สตง. ‘เชือด’ นายสุรพงษ์-นายประเสริฐ พร้อมกับพวกที่เป็นอดีตเจ้าหน้าที่กรมธนารักษ์รวม 6 ราย มีความผิดดังกล่าว
อย่างไรก็ดีหลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมชื่อของ ‘ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์’ อดีต รมว.พลังงาน และเป็นผู้ที่ถูกอ้างว่ามีบทบาทสำคัญในการผลักดันเรื่องดังกล่าวสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ถึงไม่ถูก สตง. ดำเนินการอะไร ?
โดยเรื่องนี้ น.ส.รสนา โตสิตระกูล รวมถึงสื่อมวลชนที่เข้ารับฟังการแถลงข่าว ได้สอบถามไปยัง ‘พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส’ ผู้ว่า สตง. ด้วย
‘พิศิษฐ์’ ให้คำตอบว่า ในมติคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานเป็นผู้ดำเนินการ แต่ข้อเท็จจริงที่ สตง. ตรวจพบคือ มีการละเว้นมติคณะรัฐมนตรีโดย รมว.พลังงาน มีการส่งเรื่องผ่านกระทรวงการคลัง ไปกรมธนารักษ์ และกรมธนารักษ์ชงเรื่องกลับมาเสนอว่า ทุกอย่างเบ็ดเสร็จแล้ว พร้อมที่จะเข้าสู่การอนุมัติของ รมว.คลัง ทั้งที่รู้ว่าเรื่องนี้เป็นอำนาจตามคณะรัฐมนตรี ตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจฯ แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการต่อ จึงดำเนินการเฉพาะส่วนนี้
“ว่าง่าย ๆ กระทรวงพลังงานเหมือนถูกลืม ไม่มีบทบาท จะบอกละเว้นด้วยหรือไม่ ดูเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่คนที่ทำให้เกิดความเสียหาย เราก็ต้องนำมาสรุปผลก่อน ถ้ามัวแต่รอตรงนี้ก็สรุปผลไม่ได้เสียที นี่ขนาดรีบดำเนินการแล้ว และใช้ความละเอียดรอบคอบของ คตง. กลั่นกรองแล้วด้วย ส่วนที่ไม่มี รมว.พลังงานนั้น ในหลักฐานพบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมมีมติให้ทำแน่ แต่ไม่มีบทบาทเข้ามาในส่วนนั้น ว่ากันตามหลักฐานส่วนนี้ก่อน ถ้ามีมติแล้วกระทรวงพลังงานไม่ทำไว้อีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้นแม้กระทรวงพลังงานจะเริ่มต้น แต่เมื่อมติคณะรัฐมนตรีออกมาก็ไม่ได้ทำอะไรอีกแล้ว”
เป็นคำยืนยันจากผู้ว่าฯ สตง. ต่อกรณีดังกล่าว
อย่างไรก็ดีกรณีนี้ยังต้องผ่านการไต่สวนจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่จะเข้าไปตรวจสอบเส้นทางการเงินในกรณีดังกล่าวด้วย
รวมถึงกระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงาน จะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริงทางวินัย และความผิดทางละเมิดขึ้นอีก เพื่อดูว่าใครควรรับผิดชอบกับความเสียหายเหล่านี้
ท้ายสุด จะมีชื่อใครเพิ่มขึ้นมา หรือชื่อใครหลุดออกไป ต้องติดตามกันต่อไปอีก!