ของสูญหาย-ยืมแล้วไม่คืน! จับสัญญาณอันตราย พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ.กำแพงเพชร
"..ของบางชิ้นหายไปก่อนที่อาตมาจะเข้ามารับผิดชอบงานในส่วนนี้ แต่เท่าที่ทราบทางวัดก็พยายามติดตามทวงของคืนจากบุคคลที่มาลงชื่อยืมไปแล้ว ส่วนของที่สูญหายไปบางชิ้นทางวัดก็ขอให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจมาช่วยติดตามคืนด้วย.."
"ของดีมีอยู่"
น่าจะเป็นคำพูดสรุปความ ของ 'พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน: ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลนครชุม" ซึ่งตั้งอยู่ใน วัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง ใน จ.กำแพงเพชร ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 5-8 พ.ค.2559 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้มีโอกาสติดตามคณะนักศึกษาวารสารศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม (มจษ.) เดินทางไปออก "ค่ายพิราบสู่ไพรกว้าง" (เขียนสร้างสรรค์-ถ่ายภาพวารสารฯ) ที่ จ.กำแพงเพชรและมีโอกาส เข้าไปเยี่ยมชม 'พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน' แห่งนี้ด้วย
จากการเดินสำรวจภายใน 'พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน' ซึ่งมีลักษณะเป็นเรือนไทย 2 ชั้น พบว่ามีโบราณวัตถุและเครื่องมือเครื่องใช้สมัยโบราณอยู่จำนวนมาก อาทิ ขวานหินขัดและภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เครื่องสังคโลก เครื่องถ้วยจีน เครื่องถ้วยเบญจรงค์ เครื่องเขิน ภาชนะทองเหลือง พระกรุเมืองกำแพงเพชร-นครชุม ฉัตรพระบรมธาตุสมัยรัชกาลที่ 5 พัดรองที่ระลึก เงินโบราณ ตราชั่งโบราณ ตราสัญลักษณ์และอุปกรณ์ไปรษณีย์โทรเลข เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวนครชุมในอดีต บางชิ้นมีอายุเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (ดูภาพประกอบ)
'พระสมุห์บุญธรรม มหาวีโร' ผู้ทำหน้าที่เฝ้าดูแลความเรียบร้อยในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งนี้ เล่าให้ฟังว่า พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งนี้ ตั้งขึ้นเป็นทางการช่วงปลายปี 2546 มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ เผยแพร่วัฒนธรรมไทย และวิถีชีวิตไทย ของคนในชุมชน ต.นครชุม อ.เมืองกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร
ส่วนจุดเริ่มต้นการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งนี้ เกิดขึ้นจากดำริท่านเจ้าคุณพระศรีวชิรา ภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง รองเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร (มหานิกาย) ที่เห็นว่าการอนุรักษ์และรวบรวมโบราณวัตถุและเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ไว้ จะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญยิ่งของอนุชนรุ่นหลัง
จึงได้รวบรวมโบราณวัตถุที่ขุดพบภายในวัดและที่พุทธศาสนิกชนนำมาบริจาคให้ทางวัด จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการรับบริจาคเครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิตของชาวนครชุมในอดีตจากพุทธศาสนิกชน ซึ่งมีผู้นำสิ่งของมาบริจาคไว้ให้เป็นจำนวนมากด้วย
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลในสมุดบันทึกประจำวันของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งนี้ พบว่า มีการระบุถึงของบางส่วนที่สูญหายไป หรือ มีผู้ทำเรื่องขอหยิบยืมออกไป
แต่มิได้ระบุถึงการนำของกลับมาคืนพิพิธภัณฑ์ อยู่จำนวนหลายชิ้นด้วยกัน
จากการสอบถาม 'พระสมุห์บุญธรรม มหาวีโร' ถึงกรณีของโบราณบางชิ้นที่หายไป หรือถูกยืมออกไปและไม่ได้นำกลับมาคืน ได้รับการยืนยันว่า "ยอมรับว่ามีปัญหาเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง"
"ของบางชิ้นหายไปก่อนที่อาตมาจะเข้ามารับผิดชอบงานในส่วนนี้ แต่เท่าที่ทราบทางวัดก็พยายามติดตามทวงของคืนจากบุคคลที่มาลงชื่อยืมไปแล้ว ส่วนของที่สูญหายไปบางชิ้นทางวัดก็ขอให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจมาช่วยติดตามคืนด้วย"
เมื่อถามย้ำว่า ปัจจุบันทางวัดมีการวางระบบป้องกันการลักขโมย หรือยืมของโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเดิมเหมือนที่ผ่านมา
'พระสมุห์บุญธรรม ตอบว่า "สิ่งของที่หายไป หรือถูกยืมออกไปไม่ได้มีจำนวนมากนัก แต่ในส่วนของที่เป็นสมบัติล้ำค่า อย่างเช่น คัมภีร์โบราณยังอยู่ครบทั้งหมด ถูกเก็บอยู่ในตู้ล็อคกุญแจอย่างดี ห้ามใครนำออกไปจากพิพิธภัณฑ์โดยเด็ดขาด ขณะที่ทางกรมศิลปากร ก็ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยดูแลขึ้นทะเบียนของทุกชิ้นไว้หมดแล้ว"
"ปัจจุบันทางวัดอยู่ระหว่างการสร้างพิพิธภัณฑ์อีกหลังหนึ่ง ขึ้นมาแยกส่วนเก็บรักษาคัมภีร์โบราณโดยเฉพาะ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้การบริหารจัดการ การดูแลรักษาสิ่งของ ซึ่งเป็นสมบัติสำคัญของชาติ มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน" พระสมุห์บุญธรรม ระบุ
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อเท็จจริงและสถานการณ์ล่าสุดของ 'พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน: ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลนครชุม' ณ วัดพระบรมธาตุ จ.กำแพงเพชร
ที่ดูเหมือนจะมีสัญญาณเตือนบางอย่าง ที่น่าเป็นห่วงอยู่มิใช่น้อย
โดยเฉพาะในการบริหารจัดการ ดูแลเฝ้าระวัง สิ่งของล้ำค่า อันเป็น 'สมบัติของชาติ' ซึ่งดูเหมือนจะมี 'จุดอ่อน' หลายประการ
และเป็นเรื่องสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องรีบเข้าไปช่วยทางวัดดูแลจัดการโดยเร็วที่สุด
ก่อนที่จะเกิดปัญหาใหญ่ตามมาในอนาคต และสุดท้าย 'ของดี' อาจจะไม่มีหลงเหลืออยู่อีกแล้วก็เป็นได้