'ที่นี่ไม่มีที่ว่างให้ปลูกป่าเเล้ว' ถอดบทเรียนจัดการป่าชายเลน ชุมชนเปร็ดใน จ.ตราด
1.
“ที่นี่ไม่มีพื้นที่ให้ปลูกป่าแล้ว” อาจฟังดูเป็นคำพูดเกินจริงไปหน่อย ในภาวะที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการลดลงของผืนป่าอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ใช่สำหรับคนที่นี่ ที่บ้านเปร็ด ตำบลห้วงน้ำขาว อ.เมือง จ.ตราด นายอำพร แพทย์ศาสตร์ ปราชญ์ชาวบ้าน กล่าวกับเราอย่างนั้น
หากย้อนเวลากลับไป เดิมพื้นที่บริเวณบ้านเปร็ดใน เคยเสื่อมโทรมอย่างหนัก อันเนื่องมาจากนโยบายให้สัมปทานการทำไม้แก่นายทุน กว่า 1,000ไร่ นอกจากนี้ กลุ่มนายทุนยังเอาพื้นที่ป่าชายเลนมาทำนากุ้ง ซึ่งกำไรดีกว่าการทำนาข้าว ที่เดิมเป็นอาชีพของชาวบ้านในแถบนี้
ปัญหาก็ตามมา เมื่อมีการปล่อยน้ำทิ้งจากบ่อกุ้ง จนทำให้พื้นที่รอบๆ ที่เป็นนาข้าวเสียหายอย่างหนัก นอกจากนี้ยังมีปัญหาการปนเปื้อนของสารเคมีจากนากุ้ง ซึ่งส่งผลต่ออาชีพจับปูแสม ทั้งยังทำให้ป่าชายเลนเปร็ดเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว
“เวลานั้นชาวบ้าน ไม่ลงรอย นายทุน และราชการ ทำให้ปัญหาการจัดการยิ่งหนักลงอีกขั้น” อำพร เล่าย้อนเวลา และยังบอกถึงการเป็นหนี้เป็นสินของชาวบ้านเปร็ด บางคนหลักแสน บางคนหลักล้าน จากการไปกู้เงินมาทำนากุ้ง และเมื่อสิ่งแวดล้อมเสียหาย นากุ้งก็ล่มไม่เป็นท่าเช่นเดียวกัน
2.
เมื่อปัญหาเดินทางมาถึงจุดหนึ่ง ผู้นำชุมชนและชาวบ้านจึงรวมตัวกันจัดการตัวเอง นายอำพร เล่าว่า ช่วงแรกการทำงานระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานราชการค่อนข้างมีปัญหาอย่างมาก เพราะราชการคิดไปอย่าง ขณะที่ชาวบ้านก็เดินไปอีกทาง จนต้องมีการพยายามปรับจูนแนวคิดการพัฒนาชุมชนหลายรอบ รวมไปถึงการเจรจากับกลุ่มนายทุน แม้ว่าจะถูกตอบโต้กลับมาด้วยความรุนแรงหลายครั้ง แต่ด้วยความตั้งใจฟื้นฟูเเละพัฒนา พวกเขาเดินทางขึ้นลงหน่วยงานราชการทั้งในระดับจังหวัดและระดับกระทรวง รวมถึงความพยายามในการใช้ช่องทางทางกฎหมาย จนกระทั่งแผนพัฒนาเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่าง
นี่เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมาของป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน
3.
อำพร เล่าว่าราวปี 2531 ชาวบ้านและภาคีต่างๆ ได้เริ่มปลูกป่าทดแทนในส่วนที่เสียหาย ต่อมาเริ่มก่อตั้ง “กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน” เพื่อกำหนดกรอบกติกาในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าชายเลนและมีการกำหนดการเฝ้าระวัง ตรวจตรา
“เพราะหลังจากนายทุนจากไป ชาวบ้านยังพบปัญหาการบุกรุกของเรืออวนรุน อวนลากที่เข้ามาจับสัตว์น้ำตามแนวชายฝั่ง”
ช่วงนั้นยังมีชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่เข้าแนวทางอนุรักษ์ ยังคงตัดไม้เพื่อนำไปใช้ในกิจการตัวเอง จึงเริ่มตั้งกลุ่มและกำหนดกรอบกติการ่วมกัน เพื่อให้ทุกคนเป็นเจ้าของและดูเเลผืนฝ่าผืนนี้ไว้ รวมถึงการกำหนดโซนพื้นที่ใช้ประโยชน์และพื้นที่อนุรักษ์อย่างชัดเจน
“เราไม่ได้ห้ามตัดไม้ แต่การตัดไม้ต้องเพื่อการใช้อย่างเหมาะสมจริงๆ และตัดไปแล้วต้องมาปลูกเพิ่มด้วย” อำพร อธิบาย
4.
นอกจากนี้ชาวชุมชนเริ่มทดลองเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำโดยการทำธนาคารปูดำ บ้านปลา กลายเป็นอีกผลสัมฤทธิ์ที่เป็นประจักษ์จากความร่วมมือ คือการมีแหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า มีความหลากหลายทั้งชนิดและปริมาณของประชากรปลากว่า 55 ชนิด ทั้งยังเป็นแหล่งเพาะพันธ์ุสัตว์น้ำวัยอ่อนที่สำคัญ ส่งผลโดยตรงกับชาวบ้านที่ประกอบอาชีพจับปูแสมพบว่า จากที่เคยจับได้เฉลี่ย 7-8 กิโลกรัมต่อคน ปัจจุบันสามารถจับได้มากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว
มีตัวเลขชี้ชัด จากสำรวจล่าสุด พบว่า ในปี 2552 มีปริมาณปูแสมเพิ่มขึ้นเป็น 95 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 4.7 ล้านบาท ความสำเร็จในครั้งนี้ อำพร บอกว่า เกิดจากข้อตกลงร่วมของชุมชนที่ใช้ชื่อว่า “หยุดจับร้อยคอยจับล้าน”
สำหรับการจับปูแสมสามารถจับได้ตลอดทั้งปี แต่ช่วงที่มีการห้ามจะมีแค่ 3 วันต่อปีเท่านั้น เป็นช่วงที่เป็นฤดูกาลวางไข่ นั่นคือคืนแรม 4-5-6 ค่ำ ในเดือน 11 หรือตุลาคม
5.
ผลจากการอนุรักษ์นี้ ทำให้จากเดิมที่ชาวบ้านเคยเป็นหนี้สินท่วมตัว สามารถปลดหนี้ปลดหนี้ลงไปได้กว่า 80% นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งกองทุน กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ของเปร็ดใน ซึ่ง อำพร เล่าว่า ได้แนวคิดเรื่องการเงินชุมชนเพื่อการพึ่งตนเองมาจากพระอาจารย์สุบิน ปณีโต จากวัดไผ่ล้อม อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ซึ่งจัดการภายใต้วิธีคิดแบบอริยสัจสี่ คือ เน้นการรู้ปัญหา-ชี้ทางแก้-รวมตัว-รวมทุนและรวมการจัดการ
กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ของเปร็ดใน ไม่เน้นโลภ แต่เน้นความอยู่รอดเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาการออมได้ช่วยให้ชาวบ้านที่ประสบปัญหาหนี้สิน สามารถหลุดพ้นได้และมีเงินเหลือไว้จัดสวัสดิการต่างๆ สำหรับสมาชิกชุมชน เช่นค่ารักษาพยาบาล ค่าฌาปกิจ ค่าเบี้ยผู้สูงอายุ รวมถึงสนับสนุนโครงการเพื่อ ส่งเสริมอาชีพ เป็นต้น
ปัจจุบันกลุ่มสัจจะฯ มีเงินหมุนเวียนอยู่กว่า 20 ล้านบาทและไม่มีหนี้เสียเลย
6.
จากความร่วมมือทั้งจากพลังของคนในชุมชน และองค์ภายนอกทั้งเอกชนและราชการ ปัจจุบันชุมชนได้ขยายพื้นที่จัดการป่าเป็นเครือข่ายจาก 6 ตำบลใกล้เคียง บทบาทการมีส่วนร่วมในการจัดการป่าชายเลนชุมชนเปร็ดในแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ 1. กลุ่มและองค์กรภายในชุมชน 10 องค์กร 2. กลุ่มองค์ภายนอกชุมชนอีก 15 องค์กร บทบาทการปกป้องและฟื้นฟูป่าของชุมชนทำให้ที่นี่กลายเป็นที่รู้จักและเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนต่างๆ
สิ่งที่ชาวเปร็ดใน ภูมิใจมากที่สุด คือ เมื่อปี 2551 สมเด็จพระเทพฯ เสด็จมาเยี่ยมชมป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน และได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 1 ในปีพ.ศ. 2542 รวมทั้งในปี พ.ศ. 2548 ชุมชนได้รับรางวัล “สิปปนนท์ เกตุทัต 5 ปีแห่งความยั่งยืน” และ “โครงการเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งป่ายชายเลนยั่งยืน” ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทำงานกับชุมชนเปร็ดใน จนได้รับรางวัลความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมประจำปี 2558 ประเภทการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมในระดับดีเยี่ยม จากสำนักงาน ก.พ.ร.
7.
จากการนำเอาความรู้และภูมิปัญญาของชุมชน เป็นเครืองมือหลักในการเรียนรู้ เข้าใจปัญหา ร่วมหาทางแก้ไข จนวันนี้พื้นที่ป่าของเปร็ดในแน่นขนัดบนพื้นที่กว่า 9,435 ไร่ ส่งผลขยายต่อไปยังหมู่บ้านอื่นในจังหวัดตราดตลอดแนวชายฝั่งมาวันนี้ ตราดมีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีเพียง 1.04 ล้านไร่ เป็น 1.56 ล้านไร่ ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 5 แสนไร่ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่า 4 หมื่นบาทต่อไร่
ถ้าจะพูดว่า ที่นี้ไม่มีที่ว่างให้ปลูกป่าเเล้ว ก็คงจะจริงอย่างที่ ปราชญ์ชาวบ้าน กล่าวอย่างภาคภูมิใจทิ้งท้าย...