ชายแดนใต้แล้งจัดชาวบ้านละหมาดขอฝน ถวายโอ่งน้ำให้พระ
สถานการณ์ภัยแล้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าขั้นวิกฤติ โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.นราธิวาส ซึ่งมีไฟป่าซ้ำเติม ทำให้พี่น้องมุสลิมในหลายพื้นที่จัดพิธีละหมาดขอฝน ซึ่งเป็นไปตามหลักการทางศาสนา
ภาวะฝนทิ้งช่วงลุกลามอย่างหนักหน่วงแม้แต่ในพื้นที่ที่มีฝนตกเกือบตลอดทั้งปีอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรากฏว่าปีนี้ก็ต้องเผชิญปัญหาภัยแล้งเช่นกัน โดยหลายพื้นที่บ่อน้ำและลำคลองเริ่มแห้งขอด ชาวบ้านไม่มีน้ำกินน้ำใช้ พืชผลทางการเกษตรเริ่มเสียหาย ชาวบ้านบางคนต้องนำกระเบื้องหลังคาบ้านมากั้นน้ำในคลองเพื่อกรองน้ำที่พอมี นำมาล้างจานและอาบน้ำ
จากสถานการณ์วิกฤติ ทำให้ผู้นำศาสนาและพี่น้องมุสลิมในหลายพื้นที่ ร่วมกันทำพิธีละหมาดอิสติสกอฮ์ หรือละหมาดขอฝน บางพื้นที่มีชาวบ้านรวมตัวกันละหมาดมากถึง 500 คน เช่น ที่ อ.มายอ ทุ่งยางแดง ยะหริ่ง ยะรัง จ.ปัตตานี, อ.ระแงะ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส รวมทั้งที่ อ.รามัน อ.ยะหา จ.ยะลา โดยบางพื้นที่ชาวบ้านรวมตัวกันทำพิธีภายในชุมชนไม่กี่คน แต่ส่วนใหญ่จะทำละหมาดบริเวณสนามหรือพื้นที่กลางแจ้ง
ขณะที่ นางคอรีเยาะ หะหลี แกนนำผู้หญิงบ้านส้ม ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี หนึ่งในผู้สูญเสียจากเหตุการณ์กรือเซะ เผยว่า ได้ประสานกับผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี ผู้กำกับการ สภ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เจ้าอาวาสวัดในพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนทั้งพุทธและมุสลิม ร่วมรับมอบโอ่งน้ำที่ทหารนำมาให้ กระจายกันไปตั้งไว้รอรับน้ำ ทั้งในวัด โรงเรียน และชุมชนต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน
ความหมายของละหมาดขอฝน
นายอูมา มูซา ผู้นำศาสนาในพื้นที่ปัตตานี กล่าวว่า การละหมาดอิสติสกอฮ์ หรือการละหมาดขอฝน ถือว่าเป็นสุนัตมุอักกะดะฮ์ (การสมควรเน้นหนักให้ทำ) เป็นการละหมาดตามศาสดา
“สมัยอดีต ชาวบ้านจะทำพิธีละหมาดขอฝนบ่อยมาก เพราะในพื้นที่จะมีความแห้งแล้งกว่าปัจจุบัน สำหรับในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยธรรมชาติ ปลูกพืชทุกอย่างขึ้น ได้ผลสวยงาม ลงทะเลก็มีปลา มีสัตว์น้ำจำนวนมาก แต่ปีนี้ความแห้งแล้งกำลังจะมาหาพี่น้องทุกคน แม้กระทั่งช่วงฤดูฝน น้ำที่เคยท่วมขังกลับไม่ท่วม เพราะฝนตกลงมาน้อย หลายเดือนแล้วที่ไม่มีฝนตกลงมา ทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย ทั้งๆ ที่เป็นช่วงทุเรียนออกดอก ทำให้ชาวบ้านหลายครอบครัวรู้สึกกังวลว่าจะไม่มีรายได้จากส่วนนี้มาเสริม ซ้ำเติมปัญหายางราคาถูก” ผู้นำศาสนา กล่าว
หวั่นกระทบลูกหลานช่วงเปิดเรียน
ชาวบ้านในหมู่บ้านเล่าถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำว่า ขณะนี้ต้องการน้ำอุปโภคบริโภค เพื่อให้ได้มีน้ำใช้ช่วงก่อนเปิดภาคเรียนของเด็กๆ เพราะหากยังไม่มีฝนตกในพื้นที่ หรือยังมีปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องไปอย่างนี้ เด็กๆ ในโรงเรียนอีกกว่า 500 คน รวมถึงสถานีอนามัย วัด มัสยิด จะประสบปัญหาและได้รับความเดือดร้อนทั้งหมด
ด้านความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ ได้ระดมกันขนน้ำไปแจกจ่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น เช่นที่ จ.ยะลา ตำรวจพลร่มประจำฐานปฏิบัติการบ้านกาเต็ง ต.แม่หวาด อ.ธารโต ได้นำรถบรรทุกน้ำไปสูบน้ำจากเขื่อนบางลาง เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในพื้นที่
ขณะที่ตำรวจพลร่ม ได้ประสานขอรถบรรทุกน้ำจากกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 ค่ายพญาลิไท จ.ยะลา นำน้ำไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้านเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
ไฟไหม้ป่าพรุเริ่มลามหนัก ต้องใช้ ฮ.บินดับไฟ
ด้านสถานการณ์ไฟป่าใน อ.สุไหงปาดี และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันศุกร์ที่ 6 พ.ค. เฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ติดตะกร้าน้ำขนาด 500 ลิตร บินไปตักน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงเพื่อนำไปโปรยน้ำดับไฟ โดยเฉพาะในจุดที่มีต้นเพลิงที่ค่อนข้างรุนแรงในพื้นที่ป่าสงวนลุ่มน้ำบางนราแปลงที่ 2 และป่าพรุโต๊ะแดง ใน อ.สุไหงปาดี เพื่อเร่งควบคุมเพลิง เป็นปฏิบัติการดับไฟทางภาคพื้นอากาศ
ขณะที่ภาคพื้นดิน เจ้าหน้าที่นำรถแบ็คโฮ 2 คัน ขุดแนวกันไฟเพื่อควบคุมพื้นที่ไฟไหม้ป่าให้อยู่ในวงจำกัด รวมทั้งการขุดหาแหล่งน้ำ เพื่อให้ชุดเสือไฟนำเครื่องสูบน้ำไปฉีดดับไฟได้สะดวก โดยเฉพาะจุดศูนย์กลางที่เกิดไฟไหม้ รวมทั้งใช้เครื่องสูบน้ำระยะไกลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย จังหวัดสงขลา จำนวน 2 เครื่อง สูบน้ำจากแหล่งน้ำแล้วระบายเข้าพื้นที่ป่าสงวนลุ่มน้ำบางนราแปลงที่ 2 และป่าพรุโต๊ะแดง เพื่อให้ผืนป่ามีความชุ่มน้ำ ป้องกันไฟไม่ให้ลุกลาม
จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า มีพื้นที่ที่เกิดไฟป่าจำนวน 5 หมู่บ้าน 2 ตำบล 2 อำเภอ โดยแยกเป็น อ.สุไหงปาดี 3 หมู่บ้าน และ อ.สุไหงโก-ลก 2 หมู่บ้าน พื้นที่ป่าได้รับความเสียหายประมาณ 2,500 ไร่ แยกเป็นพื้นที่ป่าสงวนลุ่มน้ำบางนราแปลงที่ 2 เสียหายร้อยละ 90 พื้นที่ทำกินของชาวบ้านและพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดง ประมาณร้อยละ 10
ก่อนหน้านั้นได้มีการประสานให้ทีมปฏิบัติการฝนหลวง ขึ้นบินทำฝนหลวง จนฝนตกลงมาบางพื้นที่ ป้องกันไฟป่าได้ระดับหนึ่ง
นายสิทธิชัย ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ขณะนี้ได้ตั้งศูนย์อำนวยการร่วมเฉพาะกิจในพื้นที่ อ.สุไหงปาดี และสุไหงโก-ลก เพื่อให้การปฏิบัติการดับไฟป่าเป็นเอกภาพและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกันนี้ได้ระดมสรรพกำลังของทุกภาคส่วน ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทหาร อาสารักษาดินแดน (อส.) และชุดควบคุมไฟป่า กระจายกันลงพื้นที่เพื่อคลี่คลายสถานการณ์
ปัญหาที่พบตอนนี้คือพื้นที่เกิดไฟป่าเป็นดินพรุ จึงต้องมีการใช้เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งเฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเข้ามาช่วยลำเลียงน้ำไปที่จุดหัวไฟที่อยู่ห่างจากแหล่งน้ำคลองชลประทานปาเสมัสมากกว่า1กิโลเมตร เพราะรถบรรทุกน้ำขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงได้
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพจากกลุ่มร่วมด้วยช่วยกัน เครือข่ายประชาสังคม และเจ้าหน้าที่ทั้งทหาร ฝ่ายปกครอง