ข้อเสนอขบวนชุมชน 9 จังหวัดภาคกลางเพื่อแก้ปัญหามหาอุกทกภัยระดับชาติ
ข้อเสนอขบวนชุมชน 9 จังหวัดภาคกลางเพื่อแก้ปัญหามหาอุกทกภัยระดับชาติ
งาน "ฟื้นฟูชุมชนที่ประสบภัยพิบัติ สู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองลุ่มน้ำภาคกลาง” ปี 2554
โดย เครือข่ายองค์กรชุมชนภาคกลาง
ข้อเสนอของขบวนชุมชน 9 จังหวัดภาคกลาง (นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี อยุธยา) เพื่อแก้ปัญหาภัยพิบัติ (อุทกภัย)…
สิ่งที่ขบวนองค์กรชุมชนจะดำเนินการเอง
1.จัดตั้งกองทุนแก้ปัญหาภัยพิบัติระดับตำบล/เมือง ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนสวัสดิการชุมชน
2.ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการลุ่มน้ำ
3.จัดทำแผนป้องกันและรับมือภัยพิบัติในระดับตำบลหรือเครือข่าย ครอบคลุมระบบฐานข้อมูลชุมชน ข้อมูลคน สัตว์เลี้ยง เพื่อรองรับการอพยพ มีระบบอาสาสมัคร ศูนย์ประสานงาน กำหนดจุดปลอดภัย จุดเสี่ยงภัย เส้นทางอพยพ อาหาร เครื่องดื่ม อุปกรณ์การเดินทางทั้งทางบกและทางน้ำ
4.จัดตั้งศูนย์ประสานงานและศูนย์เตือนภัยในชุมชน เพื่อสื่อสารเตือนภัยและช่วยเหลือตนเองของชุมชน
5.จัดระบบดูแลกันเองเบื้องต้น เช่น แต่ละตำบลมีข้าวสารอาหารเพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างน้อยหนึ่งเดือนระหว่างเกิดภัย
6.ปรับวิถีการทำเกษตร/การทำนา เว้นการทำนาฤดูน้ำหลาก และเก็บเกี่ยวให้เสร็จสิ้นก่อนเพื่อลดการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตร
7.ประสานงานกับหน่วยงานภายนอก เพื่อรับการช่วยเหลือและแก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วม
ข้อเสนอเชิงนโยบาย
1.ท้องถิ่นและรัฐบาลสมทบงบประมาณเข้ากองทุนแก้ปัญหาภัยพิบัติของชุมชน
2.ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะการเปิด-ปิดน้ำในเขื่อนโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมและประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย โดยอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่แก้มลิงเพื่อเก็บน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก พัฒนาและจัดระบบห้วยหนองคลองบึง ให้สามารถกักน้ำและระบายน้ำได้รวดเร็ว โดยเชื่อมโยงกับลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำสาขา สร้างระบบทางด่วนพิเศษให้น้ำท่วมไหลหลาก มีหน่วยงานรัฐรับผิดชอบดูแลจัดการภัยพิบัติโดยตรง ปรับปรุงระบบระบายน้ำท่วมให้มีประสิทธิภาพ เช่น ขยายประตูน้ำให้สอดคล้องกับขนาดคลอง ขุดลอกสม่ำเสมอ ควบคุมการสร้างถนนในอนาคตที่ปิดกั้นทางน้ำ
3.รัฐบาลสนับสนุนศูนย์จัดการภัยพิบัติระดับชุมชนท้องถิ่น ส่งเสริมให้ท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางแก้ปัญหาภัยพิบัติ โดยสนับสนุนภาคประชาชน สภาองค์กรชุมชน ชุมชนท้องถิ่น และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นร่วมบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ และจัดทำแผนรับมือภัยพิบัติระดับพื้นที่เอง
4.มีระบบการเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงกับศูนย์ประสานงานหรือศูนย์เตือนภัยชุมชน
5.ปรับปรุงมาตรฐานการรับมือภัยน้ำท่วม การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ที่รวดเร็วและเป็นธรรม
6.ท้องถิ่นและรัฐบาลสนับสนุนพันธุ์ข้าวที่ทนต่อน้ำท่วมให้เกษตรกร หรือปลูกพืชทดแทนที่ใช้เวลาน้อย หน่วยงานหลักคือกรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ต้องร่วมกำหนดแผนงานที่สอดคล้องกันเพื่อแก้ปัญหาประชาชน
7.ให้มีหน่วยงานภัยพิบัติที่รับผิดชอบโดยตรง และมีการศึกษาวิจัยเพื่อลดปัญหาภัยพิบัติ
8.ให้ชุมชนมีส่วนร่วมกำหนดพื้นที่ประกาศภัยพิบัติ และมีส่วนร่วมบริหารจัดการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัย