ประกาศแล้ว! กฏเหล็ก กกต.ช่วงประชามติ ห้ามรณรงค์ปลุกปั่น-สื่อโดนด้วย
ประกาศทางการแล้ว! กฎเหล็ก กกต. ช่วงทำประชามติ ห้ามให้สัมภาษณ์สื่อด้วยถ้อยคำก้าวร้าว-หยาบคาย-ปลุกระดม รณรงค์เลือกข้างใดไม่ได้ จัดสัมมนาต้องมีตัวแทนหน่วยงานรัฐ-สถานศึกษาร่วม ใส่เสื้อ-แสดงสัญลักษณ์-แจกใบปลิวเพื่อหวังผลการเมืองไม่ได้ สื่อโดนด้วย
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559
ประกาศดังกล่าว ระบุว่า อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 มาตรา 5 มาตรา 7 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 และข้อ 21 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ คําอธิบายสาระสําคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นเพิ่มเติม คําอธิบายหลักการและเหตุผลของประเด็นเพิ่มเติม กระบวนการและขั้นตอนการออกเสียงและการจัดสรรเวลาออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2559 ประกอบกับมติคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในการประชุมครั้งที่ 19/2559 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2559 คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559”
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ในประกาศนี้
“การออกเสียง” หมายความว่า การออกเสียงประชามติตามมาตรา 39/1 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2559
“ผู้มีสิทธิออกเสียง” หมายความว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
ข้อ 4 ในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียง บุคคลสามารถดําเนินการด้วยวิธีการที่ไม่มีลักษณะผิดไปจากข้อเท็จจริง รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดมหรือข่มขู่ และไม่ขัดต่อกฎหมายอื่น เช่น
(1) ศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นเพิ่มเติมให้เข้าใจอย่างครบถ้วนจากเว็บไซต์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการแสดงความคิดเห็นของตน
(2) แสดงความคิดเห็นโดยใช้ถ้อยคําที่สุภาพ
(3) แสดงความคิดเห็นด้วยข้อมูลที่มีความชัดเจน ไม่กํากวมอันอาจทําให้บุคคลอื่นเห็นว่าเป็นการบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง
(4) การนําเสนอหรืออ้างอิงงานวิจัยตามหลักวิชาการเพื่อประกอบการแสดงความคิดเห็นให้ผู้มีสิทธิออกเสียง บุคคลนั้นควรตรวจสอบความถูกต้องและแสดงที่มาของงานวิจัยนั้นด้วย
(5) การสัมภาษณ์ผ่านสื่อ เพื่อแสดงความคิดเห็นพร้อมเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งของตน
(6) การนําเข้าข้อมูลเกี่ยวกับความคิดเห็นพร้อมเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งของตนในเว็บไซต์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือการส่งต่อข้อมูลดังกล่าว โดยไม่มีการเพิ่มเติมความเห็น
ข้อ 5 ในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียง ห้ามมิให้บุคคลกระทําการเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง หรือเพื่อให้สําคัญผิด ในวัน เวลา ที่ออกเสียงหรือวิธีการลงคะแนนออกเสียง ด้วยวิธีการ ดังนี้
(1) การสัมภาษณ์ผ่านสื่อด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคายปลุกระดมหรือข่มขู่
(2) การนําเข้า หรือการส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคายปลุกระดมหรือข่มขู่ ในเว็บไซต์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์
(3) การทําหรือส่งสัญลักษณ์หรือเครื่องหมาย อันมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคายปลุกระดมหรือข่มขู่
(4) การจัดเวทีสัมมนา อภิปราย โดยกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ไม่มีหน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษาหรือองค์กรที่ประกอบกิจการด้านสื่อสารมวลชนตามกฎหมาย เข้าร่วมและมีเจตนาเพื่อปลุกระดมทางการเมือง
(5) การชักชวนให้ใส่เสื้อ หรือติดป้าย เข็มกลัด ธง ริบบิ้น หรือเครื่องหมายที่แสดงสัญลักษณ์ความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือการขาย การแจกจ่ายสิ่งของดังกล่าวในลักษณะรณรงค์ทั่วไป เพื่อนําไปสู่การปลุกระดมทางการเมือง
(6) การแจกเอกสาร ใบปลิว หรือแผ่นพับ ที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือมีลักษณะรุนแรงก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดมหรือข่มขู่ เพื่อก่อความวุ่นวาย หรือการชุมนุมทางการเมือง
(7) การรายงานข่าวหรือการจัดรายการของสื่อมวลชนที่นําไปสู่การปลุกระดมหรือสร้างความวุ่นวายในสังคม
(8) การรณรงค์เพื่อให้เกิดการคล้อยตามของคนในสังคมเพื่อให้ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งอันมีลักษณะเป็นการปลุกระดม หรือขัดขวางการออกเสียง
ข้อ 6 สื่อมวลชนสามารถรายงานหรือเสนอข่าวตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพด้วยความรับผิดชอบ เป็นกลาง โดยคํานึงถึงความเท่าเทียมกันและไม่เป็นการขัดต่อกฎหมาย
ข้อ 7 ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามประกาศนี้
ประกาศ ณ วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2559
ศุภชัย สมเจริญ
ประธานกรรมการการเลือกตั้ง
นอกจากนี้ยังเผยแพร่ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยคำร้องเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 เนื้อหาสำคัญคือ เมื่อสำนักงาน กกต.จังหวัด ได้รับคำร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว ให้พนักงานที่ได้รับมอบหมายตรวจคำร้องโดยเร็ว และดำเนินการ
โดยคำร้องที่เข้าข่ายเป็นความผิดทางอาญา หรือเป็นคำร้องอาญา ให้เสนอ ผอ.กกต.จังหวัด เพื่อสั่งให้ส่งคำร้องดังกล่าวให้พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และคำร้องที่มีลักษณะเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติ ให้เสนอ ผอ.กกต.จังหวัด เพื่อสั่งให้แจ้งเรื่องดังกล่าวไปยังฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับความมั่นคงในพื้นที่เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
ซึ่งคำร้องทั้งสองส่วนนี้ ผู้ถูกร้องไม่สามารถยื่นคัดค้านได้
อ่านประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 ฉบับเต็ม : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/A/039/11.PDF
อ่านระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยคำร้องเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ฉบับเต็ม : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/A/039/1.PDF