'ร.ร.บ้านจันทร์' ต้นแบบดี จัดการศึกษาสร้างสุขภาวะ ชูนวัตกรรม 'PLC'
“โรงเรียนบ้านจันทร์” ต้นแบบดี จัดการศึกษาสร้างสุขภาวะ ไม่แคร์โอเน็ตปลื้มนวัตกรรม “PLC” เหมาะสมกับเด็กไทย
“สิ่งที่ชุมชนวัดจันทร์ต้องการ แม้เป็นชนเผ่า แต่ก็คาดหวังให้ลูกเป็นเจ้าคนนายคน ด้วยความหวังของพ่อแม่ไม่ผิด แต่เด็กเรียนจบออกมาส่วนมากก็กลับมาว่างงานอยู่แถวบ้าน เพราะทักษะชีวิตไม่เกิดก็ไม่รู้จะทำอะไร ทั้งที่กิจการค้าขายมีมาก แต่คิดไม่เป็น”
นางสาวสมจิต ตาคำแสง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านจันทร์ กล่าวต่อว่าโรงเรียนบ้านจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ เปิดสอนระดับอนุบาลถึงม.3 มีครู 24 คน นักเรียน 265 คน จัดการเรียนรู้ในบริบทของพหุวัฒนธรรม (ชาติพันธุ์)เป็นโรงเรียนบนยอดดอยโอบล้อมด้วยขุนเขา ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ชุมชน และวัด
จุดเปลี่ยนของการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับวิถีของโรงเรียนเน้นเด็กเป็นสำคัญให้เรียนรู้อย่างมีความสุข เริ่มต้นด้วยการปรับเปลี่ยนเป้าหมายของโรงเรียน โดยมีการสำรวจและสอบถามความสมัครใจของพ่อแม่ ผู้ปกครองและชุมชน ว่าถ้าโรงเรียนบ้านจันทร์จะจัดการศึกษาในรูปแบบการจัดการศึกษาที่สร้างสุขภาวะในโรงเรียน จะพอใจหรือไม่ แต่ทั้งนี้จะไม่ทิ้งทักษะพื้นฐานอ่านออก เขียนได้ แต่จะเพิ่มทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ
ผลปรากฏว่าทุกคนเห็นดีเห็นงามโดยการหันกลับมามองเนื้องานที่เกิดขึ้นจริง จนบอกว่าให้ลูกทำเกษตร ทำอาชีพอะไรก็ได้ที่มีความรู้ เพื่อให้เขาสามารถอยู่รอดได้ ดังนั้น เมื่อทัศนคติเปลี่ยนไปความร่วมมือก็กลับมา
การจัดการศึกษาที่สร้างสุขภาวะในโรงเรียน คือการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการและการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนที่มุ่งเสริมสร้างสุขภาวะผู้เรียนที่สอดคล้องกับบริบทเฉพาะของแต่ละโรงเรียน ซึ่งในขณะนั้นได้เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างพลังอำนาจการจัดการศึกษาที่สร้างสุขภาวะในโรงเรียน โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา(IRES) เป็นผู้ดำเนินโครงการ จากการสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โดยการพัฒนาโรงเรียนภายใต้แนวคิดการเสริมสร้างสุขภาวะโดยใช้ฐานโรงเรียนมีองค์ประกอบ 5 องค์ประกอบคือ
(1) ผู้เรียนเป็นสุข
(2) โรงเรียนเป็นสุข
(3) สภาพแวดล้อมเป็นสุข
(4) ครอบครัวเป็นสุข
(5) ชุมชนเป็นสุข
ทั้ง 5 องค์ประกอบมีความเกี่ยวเนื่องและส่งผลต่อกัน เนื่องจากต้องมีเป้าหมายเพื่อสร้างเสริมให้ "ผู้เรียนเป็นสุข" โดยการปรับสภาพ ลดปัจจัยเสี่ยง จัดโครงสร้างและระบบต่างๆ ให้โรงเรียน สภาพแวดล้อม ครอบครัว และชุมชนเป็นพื้นที่ปลอดภัย และส่งเสริมสุขภาวะของผู้เรียนทั้งด้านกาย ใจ สังคม และปัญญาซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดที่จะนำมาวัดผลสำเร็จที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน
สิ่งที่ได้กับตัวเด็ก ด้วยบริบทชาติพันธุ์ ปกติที่พยายามสอนอย่างไรก็ได้ให้เด็กรู้ภาษาไทยได้มากที่สุด ครูก็กังวลเด็กก็กังวล เมื่อมาปรับวิธีการสอนโดยพาเด็กออกน้องห้องเรียนมากขึ้น มาเรียนรู้ในศาลา ในสวน แปลงผักเล้าไก่ ในวัด ชุมชน เด็กเริ่มเรียนรู้อย่างมีความสุข สนุกสนานตื่นเต้นกับการบูรณาการภาษาอังกฤษในสวน ท่องสูตรคูณได้ก็เพราะไข่ เด็กคิดเป็นระบบจากภาพจริงที่เกิดขึ้น ดังนั้น การเรียนรู้จากปัญหาเป็นฐาน จึงสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กได้มาก
สิ่งที่ได้กับครูโดดเด่นและเห็นผลสำเร็จที่ดีมากคือกระบวนการพัฒนาครูเชิงวิชาชีพให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ หรือ PLC ไม่ใช่การประชุมธรรมดา แต่เป็นการพูดคุยในเรื่องที่อยากรู้ และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งหมด
แม้ครูโรงเรียนบ้านจันทร์จะอยู่บนดอย แต่ครูของเราทุกคนรู้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอน Active learning ที่เรียนรู้จากปัญญาเป็นฐาน ซึ่งตอนนี้ครูทุกคนเห็นดีเห็นงามและมีกำลังใจที่จะทำ และทำด้วยความสุข โดยทางโรงเรียนจะพูดคุยกับครูทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์
ผลการดำเนินงานเชิงวิชาการ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (O NET) พบว่า วิชาภาษาไทยมีคะแนนสูงถึง 47 % จากที่คาดว่าไม่เกิน 30 % ซึ่งสูงเป็นอันดับ 1 ในอำเภอกัลยาณิวัฒนา แต่โรงเรียนก็ยังเชื่อว่าวัดไม่ได้ เพราะคะแนน 30-40 ข้อ เด็กอาจจะกาแม่น เราก็ยังไม่ศรัทธาคะแนนโอเน็ตที่ออกมาอยู่ดี เพราะเด็กที่อยู่บ้านจันทร์บางคนคะแนนสูงแต่เรียนไม่รู้เรื่องเลยดังนั้น โรงเรียนหวังผลระยะยาวในการที่เด็กมีพฤติกรรมเปลี่ยนมีความคิด ความอ่านที่ดี เฉลียวฉลาดมากขึ้น เพราะมีวิธีคิดที่เปลี่ยนไป
รางวัลการันตีความสำเร็จ ปี 2558 รางวัลศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง 1 ใน 41 แห่งทั่วประเทศ โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รางวัลต้นแบบนักเรียนไทยสุขภาพดี (Best of The Best) ปี 2559 รางวัล MOE Award ของกระทรวงศึกษาธิการ ในสาขาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
“โอเน็ตและรางวัลต่างๆ คือผลพลอยได้ แต่เป้าหมายความสำเร็จของโรงเรียนจริง ๆ คือ เด็กนักเรียน ซึ่งเป็นเด็กด้อยโอกาสที่ต้องได้รับการพัฒนา โดยนวัตกรรมของโรงเรียนสุขภาวะ นำมาปรับใช้ได้ทุกรูปแบบแม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตาม สามารถสำเร็จได้ทุกเรื่อง” นางสาวสมจิต กล่าว
รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา(IRES) ในฐานะผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่าโรงเรียนบ้านจันทร์เข้าร่วมโครงการฯ มากว่า 2 ปี โดยเน้นให้มีการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการเอาชีวิตเด็กเป็นตัวตั้งพบความโดดเด่นในเรื่องการพัฒนาครูเชิงวิชาชีพ (PLC) สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการสอนและการจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยเน้นวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งการเรียนรู้จากปัญหา (problem- based Learning) และการบูรณาการวิชาและทักษะต่างๆ เพื่อการแก้ปัญหาและค้นหาทางออกในสถานการณ์ชีวิตจริง รวมทั้งสร้างวัฒนธรรมการทำงานใหม่ที่เน้นการเรียนรู้ร่วมกัน (collective learning) ให้เกิดขึ้นกับครู ฉะนั้น ครูต้องปรับกระบวนทัศน์ ปรับวิธีคิดการทำงานใหม่ บูรณาการทำงานร่วมกับเด็ก โดยเอาเด็กเป็นตัวตั้ง เอาปัญหาของเด็กมาเป็นโจทย์ทั้งหมด เพราะการปฏิรูปการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือเอาเด็กเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง
ทุกวันนี้ โรงเรียนสอนโดยเอาวิชาเป็นตัวตั้งยัดความรู้ให้เด็ก เพื่อให้ได้คะแนนมากขึ้น ดังนั้น แค่เปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนวิธีคิด โดยตั้งเป้าหมายที่เด็กให้มีโอกาสเรียนรู้อย่างมีความสุข ฉะนั้น โอเน็ตจะสูงหรือไม่อยู่ที่เด็กไม่ใช่ครู หากเด็กมีความสุขที่ โรงเรียนได้เรียนรู้วิเคราะห์กิจกรรมที่ครูจัดให้เด็กก็จะดีขึ้นเอง จึงอยากจะให้ โรงเรียนบ้านจันทร์ ช่วยสนับสนุนเครือข่ายเรียนรู้อีก 10 แห่ง ในบริบท โรงเรียนทางภาคเหนือ โดยเลือกจาก โรงเรียนที่ผู้บริหารมีใจอยากจะทำ เพราะเราไม่มีเกียรติบัตรอะไรให้ เนื่องจากเราทำงานเพื่อต้องการสร้างความเป็นกัลยาณมิตรของ โรงเรียนร่วมกัน ที่สำคัญแม้กระทรวง โครงสร้าง จะเปลี่ยนไปอย่างไร การทำงานแนวราบเป็นการทำงานที่เข้มแข็งมากกว่า และเป็นการทำงานเพื่อเด็ก ซึ่งเป็นการตอบโจทย์คุณภาพการศึกษามากที่สุดนี่คือเป้าหมายของโครงการ
ด้านนางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัวกล่าวว่า จุดสำคัญที่สุดในการพัฒนาผู้เรียนต้องมี 3 องค์ประกอบ คือ 1.ผู้บริหาร 2.ครู และ 3.การเรียนการสอน ซึ่งโรงเรียนบ้านจันทร์มีครบทุกองค์ประกอบสำหรับการเป็นโรงเรียนที่ดี นอกจากนี้ยังมีการทำงานร่วมกับชาวบ้านและชุมชน ซึ่งชุมชนมีส่วนสำคัญในการพัฒนาโรงเรียนมีพ่อแม่ ผู้ปกครองที่เข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของเด็กและเข้ามามีส่วนร่วมกับโรงเรียนในแง่ของการพัฒนา มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการพัฒนาเด็ก เพราะมีแหล่งเรียนรู้จำนวนมาก ดังนั้น สสส.คงทำไม่ได้ทั้ง 30,000 โรงเรียน แต่สิ่งที่จะทำได้คือยกระดับเป็นศูนย์เรียนรู้แบบ โรงเรียนบ้านจันทร์ ที่มีความพร้อม นอกจากพัฒนาตนเองได้แล้ว ก็ทำหน้าที่ในการเป็นวิทยากรอีกบทบาทหนึ่งที่ไม่ใช่ครูผู้ปฏิบัติอย่างเดียว โดยจะมีการฝึกอบรมครูเพื่อพร้อมให้เพื่อนมาเรียนรู้ โดยคาดหวังว่าจะมีโรงเรียนเครือข่ายซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ 20 กลุ่ม ขยายเครือข่ายอีกกลุ่มละ 10 แห่ง ก็จะได้โรงเรียนสุขภาวะประมาณ 200 แห่งขึ้นพร้อมกัน โดยโอกาสของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของแต่ละกลุ่มจะเป็นส่วนสำคัญในการปรับวิธีคิด วิธีการทำงานซึ่งกันและกัน
นางจีรัชญ์พัฒน์ ใจเมือง ผู้อำนวยการโรงเรียนเจริญใจ อ.แม่ใจ จ.พะเยา กล่าวว่า โรงเรียนเจริญใจ มีบริบทเหมือนกับโรงเรียนบ้านจันทร์ โรงเรียนตั้งมาตั้งแต่ปี 2524 จัดการศึกษาพหุวัฒนธรรม (ชาติพันธุ์)ดูแลเด็กตลอด 24 ชั่วโมง พ่อแม่ ผู้ปกครองทำไร่กาแฟ ปลูกข้าว ลักษณะครอบครัวฐานะยากจน วันนี้ เรากำลังจะตายอยู่ในห้อง ICU อาการโคม่าหนักมาก ดังนั้น การได้มีโอกาสพาคณะครูมาเรียนรู้ต้นแบบการจัดการศึกษาที่สร้างสุขภาวะในโรงเรียนของโรงเรียนบ้านจันทร์ ต้องขอบคุณที่เปิดช่องทางให้โอกาสและเป็นการจุดประกาย ชี้ให้เห็นทาง ครูทุกคนมีใจอยากจะทำ ก็คิดว่าจะทำโรงเรียนสุขภาวะเพื่อจะได้ช่วยชีวิตเด็ก และชุมชน ซึ่งต้องยอมรับว่าเรายังขาดกระบวนการในการพัฒนาเด็ก เมื่อมีหน่วยงาน องค์กรมาช่วยให้เราเดินถูกทางก็น่าจะไปได้
ต้นแบบการจัดการศึกษาที่สร้างสุขภาวะ ในบริบทโรงเรียนพหุวัฒนธรรม สามารถพัฒนาเด็กและเยาวชน มีสุขภาวะที่ดีได้บนพื้นฐานวิถีและวัฒนธรรมของตนเอง .