เปิด 3 ประเด็นไทยรับไม่ได้ในร่างทีโออาร์ นายกฯพูดชัดไม่คุยกับองค์กรผิดกฎหมาย
นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาพูดอย่างชัดเจนว่าพยายามหลีกเลี่ยงกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่ใช้ชื่อว่า "มารา ปาตานี" เพราะเชื่อว่าแก้ไขปัญหาไม่ได้ ที่ผ่านมาเป็นเพียงการตามแก้ปัญหาที่รัฐบาลชุดที่แล้วก่อเอาไว้
เมื่อวันที่ 27 เม.ย.59 คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯของรัฐบาลไทย นำโดย พล.อ.อักษรา เกิดผล ได้นัดพบปะพุดคุยกับคณะพูดคุยของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ที่ใช้ชื่อว่า “มารา ปาตานี” นำโดย นายมะสุกรี ฮารี ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก
อย่างไรก็ดี การพูดคุยใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงเศษก็ต้องยุติลง เนื่องจากฝ่ายไทยไม่ยอมลงนามในร่างข้อตกลงเบื้องต้นซึ่งเป็นกรอบการพูดคุย หรือที่เรียกว่า ทีโออาร์ โดยให้เหตุผลว่านายกรัฐมนตรียังไม่อนุมัติ
ฝ่ายความมั่นคงให้ข้อมูลกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า สาระสำคัญ 3 ประเด็นที่ทำให้คณะพูดคุยฝ่ายไทยไม่สามารถลงนามรับรองร่าง ทีโออาร์ ได้ ก็คือ
1.การให้รัฐบาลไทยยอมรับชื่อ “มารา ปาตานี” เป็นองค์กรตัวแทนของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อพูดคุยกับรัฐบาลไทย
2.ให้รัฐบาลไทยรับรองการพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติ โดยรัฐสภาต้องให้ความเห็นชอบ
3.ต้องให้ความคุ้มครองทางกฎหมายและความปลอดภัยกับสมาชิกมารา ปาตานี เพราะบางคนมีหมายจับของศาลไทย
สำหรับประเด็นการไม่ยอมรับชื่อ “มารา ปาตานี” นั้น เมื่อเร็วๆ นี้ในการประชุมสุดยอดผู้นำองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี เจ้าหน้าที่ไทยได้พยายามล็อบบี้ไม่ให้มีการเขียนชื่อกลุ่ม “มารา ปาตานี” ลงไปในแถลงการณ์อย่างเป็นทางการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย แต่ให้ใช้คำว่า “กลุ่มผู้แทนชุมชนมุสลิมในภาคใต้” แทน (อ่านประกอบ : โอไอซีห่วงไฟใต้-หนุนพูดคุย ไทยโล่งไม่เอ่ยถึง "มารา ปาตานี" ในแถลงการณ์)
ส่วนการให้ความคุ้มครองทางกฎหมายแก่สมาชิกมารา ปาตานีนั้น ถูกคัดค้านจากหน่วยงานรัฐหลายหน่วย เพราะอาจเข้าข่ายการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
นายกฯลั่นไม่คุยองค์กรผิดกฎหมาย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 29 เม.ย.ถึงกระแสข่าวการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯไม่ประสบความสำเร็จว่า “อยากจะเตือนว่าการวิพากษ์วิจารณ์โดยที่ไม่มีข้อมูลก็เขียนกันอยู่นั่น แก้ปัญหาไม่สำเร็จ พูดคุยสันติภาพไม่สำเร็จบ้าง มันจะแก้ได้อย่างไรถ้าอีกฝ่ายไม่มีเจตนารมณ์ที่ตรงกัน”
“ผมเห็นที่สื่อมวลชนเขียนระบุว่า ทำไมไม่จริงใจในการแก้ปัญหา มันยอมรับกระบวนการได้หรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่ เป็นการสร้างอาชญากรรมที่ร้ายแรงหรือไม่ กลุ่มผู้เห็นต่างที่เอาปืนมายิงกันนั้นผิดกฎหมาย องค์กรที่มีชื่อขึ้นตามทะเบียนต่างๆ เหล่านั้นก็ผิดกฎหมายทั้งหมด รัฐบาลไม่สามารถที่จะนำกฎหมายในประเทศไปต่อรองได้ ประเทศไทยเจรจากับผู้กระทำความผิดไม่ได้ เอากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมมาว่ากัน ซึ่งต้องดูตรงนี้ และคณะพูดคุยฯก็จะนำเรื่องไปหารือว่าเขาจะยอมรับได้หรือไม่ ถ้ายอมรับไม่ได้ก็กลับมา”
“ทำไมเราต้องไปยอมรับกติกาในการให้เรียกชื่อ ไม่เห็นใครเขาจะสนใจ แล้วมันมีกี่กลุ่มรู้ไหม แล้วรู้ไหมทำไมเขาต้องไปคุยที่ต่างประเทศ เพราะเจรจากับใครไม่ได้ รัฐบาลเป็นรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพราะฉะนั้นมันถึงต้องไปคุยนอกประเทศ และจะไปดึงเขาเข้ามาในประเทศอีก ไม่เข้าใจกันสักเรื่อง แล้วก็วิพากษ์วิจารณ์ส่งเดชไปเรื่อย หลายคนนะ ผมดูตามหน้าหนังสือพิมพ์ ก็วิจารณ์กันไปเรื่อย อยากนี่อยากโน่นแต่ไม่เคยเข้าใจ”
“เราหลีกเลี่ยงอยู่แล้วเรื่องการพูดคุย รัฐบาลที่แล้วอยากจะคุยก็เชิญ ผมก็ต้องมาตามแก้อยู่นี่ไง แล้วมันจะจบไหมล่ะคุยกัน เจตนาวันแรกก็ไม่ตรงกันแล้วที่จะขอให้ผมเรียกชื่อกลุ่มเขา ผมรับรองชื่อเขาได้ไหม ถ้ามันมีชื่อขึ้น ก็จะมีกลุ่มอื่นตามมาเรื่อยๆ แล้ววันหลังก็ขึ้นทะเบียนไป รัฐก็ผิด ฉะนั้นใครไปคุยในประเทศเมื่อไหร่ก็ผิดกฎหมายผิดรัฐธรรมนูญเมื่อนั้น”
“เข้าใจให้ตรงกันด้วย ทำให้คนเขาสงบ อย่าไปเพิ่มศักยภาพในการพูดคุยว่า ถ้าหากพูดคุยแล้วจะกดดันจากการใช้ความรุนแรงและอาวุธ ผมให้ไม่ได้ ดังนั้นการที่ขอให้เป็นพื้นที่ปิด เพื่อดูแลกิจกรรม ดูแลครู เด็กนักเรียน ก็ค่อยๆ ทำ ถ้าคิดว่าจะพูดคุยกัน ถ้าพูดคุยแล้วจะเร่งรัดให้เรียกชื่อ ให้แสดงความจริงใจ ให้กำหนดในรัฐธรรมนูญว่าให้เป็นวาระแห่งชาติ มันอะไรกัน การแก้ปัญหาภาคใต้ก็เป็นวาระแห่งชาติอยู่แล้ว”
“เขียนให้ดีนะ ผมจะติดตาม เพราะฝ่ายความมั่นคงแจ้งมา เขาบอกว่ารับไม่ได้ การแก้ปัญหาวุ่นวายสับสนไปหมด เพราะการสร้างกระแสให้สังคมไม่เข้าใจ ไม่ตรงกันหมด ไอ้นี่พูดอย่าง ไอนั่นพูดอย่าง รัฐบาลเขาตั้งหลักไว้แล้ว มีเจตนารมณ์ที่ตั้งใจจะแก้ปัญหาของชาติให้เป็นธรรม เท่าเทียม ใครบอกไม่เป็นธรรม ไม่เท่าเทียมก็ร้องมา จะสอบให้ ใครจะกลับบ้านก็มีกระบวนการมาตรา 21 (พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551) เขามีไว้หมดแล้ว มันจะอะไรกันอีก ก็เริ่มกันไม่ได้ แล้วมันจะไปตรงอื่นได้อย่างไร บางอย่างในตำราก็คือตำรา วิชาการก็คือวิชาการ มันอยู่ที่การปฏิบัติ นี่คือความแตกต่างในการทำงาน ไม่ใช่เอาปัญหาทุกปัญหามาตีกัน มันไปไหนไม่ได้ทั้งนั้น”
"อักษรา"เดินหน้าพูดคุยต่อ-ยันไม่ชะงัก
ด้าน พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยฯของรัฐบาล กล่าวว่า กระบวนการพูดคุยยังคงดำเนินต่อไป และยังคงอยู่ในกรอบนโยบายของ นายกรัฐมนตรี โดยในระยะของการสร้างความไว้วางใจต้องใช้เวลาดำเนินการ และไม่ได้หยุดชะงักแบบที่สื่อมวลชนหรือนักวิเคราะห์นำเสนอข่าวออกมา รวมถึงนำไปเชื่อมโยงกับการปรับ พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง อดีตเลขานุการคณะพูดคุยฯออกด้วย ทั้งที่ พล.ท.นักรบ ได้รับพระราชทานยศสูงขึ้น และปรับย้ายตามวาระ ซึ่งช่วงนี้ก็มีปรับย้ายหลายคน แต่ยืนยันกระบวนการพูดคุยยังคงเดินหน้าต่อตามปกติ
และเมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา ทางคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ได้เดินทางไปประเทศมาเลเซีย เพื่อทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้เห็นต่าง หรือ Party B แล้ว ซึ่งตนก็ได้นำความปรารถนาดีของนายกรัฐมนตรีแจ้งต่อผู้ที่มาพูดคุย และขอบคุณที่ทุกฝ่ายยังร่วมกันพูดคุยเพื่อแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง ให้เกิดความสันติสุขในพื้นที่ต่อไป
ย้ำต้องกำหนดพื้นที่ปลอดภัยให้ได้ก่อนลงนามทีโออาร์
“มีเรื่องเดียวที่ทางคณะพูดคุยฯ และฝ่ายผู้เห็นต่างยังเห็นไม่ตรงกัน คือการที่ตนตั้งคณะทำงานเทคนิค ให้ไปช่วยกันกำหนดพื้นที่ปลอดภัยเพื่อสร้างความไว้วางใจกับประชาชน แต่ฝ่ายผู้เห็นต่างอยากได้บันทึกข้อตกลงร่วม ทั้งที่เคยแจ้งไปแล้วว่า พวกคุณไม่มีสถานะอะไร ในขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีชัดเจน จึงขอให้มีการพิสูจน์ความไว้วางใจกันก่อน เพราะบันทึกข้อตกลงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความร่วมมือ แต่หากยังมีเหตุความรุนแรงในพื้นที่ สังคมจะไม่ไว้ใจกระบวนการพูดคุย ดังนั้นจำเป็นต้องยุติความรุนแรงในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งให้ได้ก่อน แล้วค่อยมาร่วมกันจัดทำข้อตกลงให้ครอบคลุมการปฏิบัติในห้วงเวลาของระยะการสร้างความไว้วางใจ”
พล.อ.อักษรา กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เจ้าหน้าที่พยายามทำ คือแยกกลุ่มผู้เห็นต่างที่ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ออกจากขบวนการผิดกฎหมายอื่นๆ ซึ่งกลุ่มผู้เห็นต่าง หรือ Party B ก็มีความเข้าใจว่า หากมีความไว้ใจแล้ว ก็จะเกิดความร่วมมือในการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันต่อไป
ส่วนบันทึกข้อตกลงที่ดำเนินการมาแล้ว จะให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปตรวจดูถ้อยคำไม่ให้ขัดต่อกฎหมายและกติกาสากล โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. จะส่งให้นายกรัฐมนตรีเห็นชอบก่อน
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 พล.อ.อักษรา (ขวา) จับมือกับ ดาโต๊ะ สรี อะหมัด ซัมซามิน ฮาซิม (ซ้าย) ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุย
2 คณะพูดคุยฯของรัฐบาลไทยถ่ายภาพร่วมกัน
ขอบคุณ : ภาพจาก พล.อ.อักษรา เกิดผล