"มาราฯ"ผิดหวังไทยไม่รับรอง TOR พูดคุยดับไฟใต้ ปิดช่องถก"พื้นที่ปลอดภัย"
มารา ปาตานี เผยผลประชุมร่วมกับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฝ่ายรัฐบาลไทย ยอมรับผิดหวังไทยไม่ยอมรับรองร่างทีโออาร์ แต่ยังให้เวลาพิจารณาทบทวน ทว่าระหว่างนี้จะไม่มีการพูดคุยประเด็นอื่น โดยเฉพาะ "พื้นที่ปลอดภัย"
ผู้ใช้นามว่า อาบู ฮาฟิซ อัล ฮากิม ซึ่งทำงานให้กับ มารา ปาตานี ได้เผยแพร่เอกสารคล้ายชอร์ตโน้ต สรุปผลการประชุมระหว่างคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งระบุสถานะว่าเป็นการพบปะพูดคุยแบบเต็มคณะอย่างไม่เป็นทางการรอบที่ 3 เมื่อวันพุธที่ 27เม.ย.59 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
หัวหน้าคณะพูดคุยของทั้งสองฝ่าย คือ พล.อ.อักษรา เกิดผล กับ อุสตาซ มะสุกรี ฮารี โดยมี ดาโต๊ะ สรี อะหมัด ซัมซามิน ฮาซิม จากมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ใช้เวลาการประชุม 1 ชั่วโมง 15 นาที
วาระการประชุมที่สำคัญก็คือ การให้ความเห็นชอบร่างข้อตกลงที่เป็นกรอบการพูดคุย หรือ ทีโออาร์ และการนำเสนอแนวคิดเรื่องการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน ซึ่งเป็นข้อเสนอของฝ่ายรัฐบาลไทย
ผลการประชุมก็คือ หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทยบอกกับวงพูดคุยว่า ไม่พร้อมลงนามรับรองร่างทีโออาร์ ซึ่งฝ่าย มารา ปาตานี รู้สึกผิดหวังกับการตัดสินใจของฝ่ายไทย แต่ก็ให้ความเคารพ ฉะนั้นประเด็นเรื่องพื้นที่ปลอดภัยจึงไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือกัน
สำหรับความเห็นของฝ่าย มารา ปาตานี ก็คือ ไม่แน่ใจว่าฝ่ายไทยต้องการทบทวนร่างทีโออาร์ หรือจะแขวนไว้ หรือจะยกร่างใหม่ ทราบแต่เพียงว่านายกรัฐมนตรีของไทยยังไม่อนุมัติร่างทีโออาร์ฉบับนี้
ร่าง TOR ผ่านการตกลงร่วมกันของคณะทำงานเทคนิคร่วมฯ หลังจากประชุมกันมา 3 รอบ ตั้งแต่เดือน ต.ค.ปีที่แล้ว จนถึงเดือน มี.ค.ปีนี้ เชื่อว่าน่าจะเป็นการปูทางสำหรับกระบวนการพูดคุยอย่างเป็นทางการให้เดินหน้าต่อไปได้ ขณะที่คณะกรรมการอำนวยการของ มารา ปาตานี ให้ความเห็นชอบกับร่างทีโออาร์นี้ตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.
มีความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเปลี่ยนตัว พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง ออกจากคณะพูดคุยฯ โดยฝ่ายมารา ปาตานี มองว่าเหตุผลของการเปลี่ยนตัวอาจสะท้อนผ่านการตัดสินใจเรื่องร่างทีโออาร์ เพราะ พล.ท.นักรบ เป็นตัวจักรสำคัญ และเห็นหัวหน้าคณะทำงานเทคนิคร่วมฯฝ่ายไทย ทั้งยังเคยมองในแง่ดีว่า ร่างทีโออาร์ จะได้รับการรับรองจากรัฐบาลไทยและคณะพูดคุยฝ่ายไทย
มารา ปาตานี ยังเห็นว่า ตราบใดที่กระบวนการพูดคุยยังดำเนินอย่างไม่เป็นทางการอยู่เช่นนี้ สืบเนื่องจากร่างทีโออาร์ไม่ได้รับการรับรอง ประเด็นใหญ่ๆ ที่ต้องหารือกันต่อไป เช่น การกำหนดพื้นที่ปลอดภัย ก็จะไม่ถูกหยิบยกมาหารือร่วมกัน
ในตอนท้ายของเอกสารสรุปผลการพูดคุยฯยังระบุว่า ทีโออาร์ เปรียบเหมือนกฎหรือข้อบังคับในเกมกีฬา ซึ่งหากไม่มี ก็ไม่สามารถเล่นต่อไปได้ ฉะนั้น มารา ปาตานี จะให้เวลากับฝ่ายไทยเพื่อตัดสินใจใหม่ในเรื่องนี้ เพราะการรับรองร่างทีโออาร์ จะเป็นสัญญาณหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความจริงใจและความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข และผลักดันให้กระบวนการเดินหน้าต่อไป
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : มารา ปาตานี ขณะเปิดแถลงข่าวเมื่อเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย