พูดคุยดับไฟใต้สะดุด! "อักษรา"ปัดลงนามร่างทีโออาร์
การนัดพบปะกันรอบที่ 4 แบบเต็มคณะของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลไทย กับกลุ่ม "มารา ปาตานี" ตัวแทนผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียนั้น มีอันต้องสะดุด เนื่องจากยังตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับร่างกรอบการพูดคุยร่วม หรือร่างทีโออาร์
การพบปะกันมีขึ้นเมื่อวันพุธที่ 27 เม.ย.59 โดยคณะพูดคุยฝ่ายไทย นำโดย พล.อ.อักษรา เกิดผล อดีตประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก ขณะที่ฝ่าย มารา ปาตานี นำโดย นายอาวัง ยาบะ ประธานมารา ปาตานี
อย่างไรก็ดี การหารือเต็มคณะยังไม่อาจลงลึกในประเด็นต่างๆ ได้ เนื่องจากยังไม่สามารถลงนามในร่างข้อตกลงที่จะเป็นกรอบการพูดคุยร่วมกันต่อไป หรือที่เรียกว่า “ร่างทีโออาร์” โดยฝ่ายไทยให้เหตุผลว่า ร่างทีโออาร์ฉบับนี้ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะอำนวยการกระบวนการพูดคุยฯ หรือ steering committee ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธาน
แหล่งข่าวบางแหล่งในมาเลเซีย ระบุถึงขนาดว่า การพูดคุยอย่างเป็นทางการยังไม่เริ่มขึ้นด้วยซ้ำ เพราะตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับร่างทีโออาร์ดังกล่าว
สำหรับร่างข้อตกลงร่วมที่จะเป็นกรอบการพูดคุยนั้น ฝ่ายมารา ปาตานี อ้างว่าผ่านความเห็นชอบจากคณะทำงานเทคนิคร่วมฯ หรือคณะพูดคุยชุดเล็กของทั้งสองฝ่ายมาแล้ว โดยแกนนำมารา ปาตานี บางคนเพิ่งให้สัมภาษณ์สื่อมาเลเซียในเรื่องนี้ก่อนการพูดคุยเพียงไม่กี่วัน
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า ร่างทีโออาร์ที่ฝ่ายมารา ปาตานี อ้างว่าผ่านความเห็นชอบของคณะทำงานเทคนิคร่วมฯมาแล้วนั้น เป็นการทำงานร่วมกันของคณะพูดคุยชุดเล็ก ซึ่งฝ่ายไทยมี พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ขณะที่ พล.ท.นักรบ เพิ่งถูกเปลี่ยนตัวออกจากคณะพูดคุยฯไปเมื่อไม่นานนี้ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนถึงสาเหตุการเปลี่ยนตัว แต่ก็มีข่าวบางกระแสระบุว่ามีเหตุผลมาจากผลการหารือของคณะทำงานเทคนิคร่วมฯ ที่มี พล.ท.นักรบ เป็นหัวหน้าคณะทำงานนั่นเอง
หากข่าวดังกล่าวนี้เป็นจริง ก็มีความเป็นไปได้ว่า คณะกรรมการอำนวยการกระบวนการพูดคุย หรือ steering committee ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ไม่ให้ความเห็นชอบร่างทีโออาร์ที่เสนอมาจากคณะทำงานเทคนิคร่วมฯ โดยอาจมีบางประเด็นที่ทำให้รัฐบาลไทยเสียเปรียบ ซึ่งก็สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 เม.ย.59 ที่บอกว่าไม่สามารถยอมรับความต้องการของกลุ่มผู้เห็นต่างได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ การพูดคุยก็จะดำเนินการเพียงคณะย่อย จนกว่าจะมีความเห็นตรงกัน จึงจะพูดคุยคณะใหญ่ (อ่านได้ใน นายกฯแจงย้าย "พล.ท.นักรบ" และอนาคตของพูดคุยสันติสุข)
ข่าวการพูดคุยรอบที่ 4 สะดุด เพราะตกลงกันไม่ได้เรื่องร่างทีโออาร์นี้ ได้รับการยืนยันจากผู้แทนส่วนราชการหลายหน่วยงานที่อยู่ในคณะพูดคุยฯ และสอดคล้องกับข้อมูลของ เสริมสุข กษิติประดิษฐ์ หัวหน้ากองบรรณาธิการ สถานีโทรทัศน์ นิว ทีวี ซึ่งเป็นอดีตบรรณาธิการศูนย์ข่าวอิศรา ที่โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คอ้างแหล่งข่าวในมาเลเซีย ระบุว่า การพูดคุยเพื่อสันติสุขฯแบบเต็มคณะต้องเลื่อนออกไป หลังจาก พล.อ.อักษรา ไม่ลงนามในกรอบการพูดคุย หรือ ทีโออาร์ ที่คณะทำงานเทคนิคร่วมฯ ได้หารือไว้ก่อนหน้านี้ โดยให้เหตุผลว่านายกรัฐมนตรียังไม่ให้ความเห็นชอบ
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (ภาพใหญ่) คณะแกนนำมารา ปาตานี (ภาพเล็ก) พล.อ.อักษรา เกิดผล