ครป.จี้ ป.ป.ช.หยุดถอนฟ้องคดีสลายม็อบพันธมิตร
ครป.ออกแถลงการณ์จี้ ป.ป.ช.ยุติการถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อ 7 ต.ค.2551 เหตุทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บสาหัสทั้งขา มือ และนิ้วเท้าขาดเกือบครึ่งพัน ลั่นถ้ายังเดินหน้าจะประสานเครือข่ายภาคประชาชนคัดค้านถึงที่สุด
นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เปิดเผยว่า ครป.ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “ขอให้ ป.ป.ช.ทบทวนมติการยื่นถอนฟ้องคดีเจ้าหน้าที่รัฐปราบปรามประชาชนในเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551” และมีการนำเผยแพร่ต่อสาธารณะแล้ว โดยเนื้อหาของแถลงการณ์มีรายละเอียดดังนี้
ตามที่มีรายงานข่าวว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีการประชุมร่วมกันช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ กรณี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) จำเลยในคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 ยื่นขอความเป็นธรรมต่อ ป.ป.ช. ว่า มีหลักฐานใหม่ในคดีดังกล่าว และขอให้พิจารณาถอนฟ้องคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
โดยที่ประชุมมีมติ 6 : 1 ว่า ตามข้อกฎหมาย ป.ป.ช.มีสิทธิในการยื่นคำร้องถอนฟ้องคดี มีเพียงแต่ นางสุภา ปิยะจิตติ เท่านั้นที่ลงมติไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า กฎหมายของ ป.ป.ช.เป็นกฎหมายมหาชน เมื่อไม่ได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้จึงไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการถอนฟ้อง
ครป.ขอแถลงท่าที และข้อเรียกร้องต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้
1.เราเห็นว่ามติที่ประชุมดังกล่าวอาจเป็นการกระทำที่เกินอำนาจของตน และส่อว่ากระทำผิดต่อกฎหมาย ป.ป.ช. เนื่องจากคดีดังกล่าวอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว กฎหมายก็ไม่ได้ให้อำนาจต่อ ป.ป.ช.ไปถอนฟ้องได้ พฤติกรรมที่สวนทางต่อกฎหมายที่ตนกำกับอยู่ที่ต้องเอาผิดต่อบุคคลที่ทุจริตฉ้อฉล หรือใช้อำนาจมิชอบ หรือกระทำผิดจริยธรรม ถือเป็นหน้าที่ที่ ป.ป.ช.ต้องชี้มูลเพื่อลงโทษบุคคลเหล่านี้
การกระทำเช่นนี้ ทำให้สังคมสงสัยในความเป็นอิสระ และความซื่อสัตย์สุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช.
2.กรณีการปราบปรามประชาชนในเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 เป็นที่รับทราบร่วมกันของสังคมไทยแล้วว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำเกินกว่าเหตุ ทำให้ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ และสารวัตรจ๊าบ เสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บสาหัส ขาขาด มือขาด นิ้วเท้าขาดจำนวนมาก
ดังรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ระบุว่า มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้ารัฐสภาในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จำนวน 471 ราย รักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 86 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 14 ราย ประชาชน 72 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย
อีกทั้งที่ประชุมของ ป.ป.ช.ได้มีมติเมื่อ 7 กันยายน 2552 ชี้มูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ดังนั้น ป.ป.ช.จะมาเขียนด้วยมือแล้วลบด้วยเท้า ด้วยการยื่นถอนฟ้องคดีนี้ไม่ได้
3.เราขอเรียกร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ได้ทบทวนมติการประชุมดังกล่าว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนในการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของตน ให้เป็นไปด้วยความอิสระ โปร่งใส และสุจริตยุติธรรม
“ทั้งนี้ หาก ป.ป.ช.ยังดึงดันที่ทำตามมติที่ประชุมดังกล่าว เราก็พร้อมจะประสานงานกับองค์กรภาคประชาชนเพื่อเคลื่อนไหวต่อต้านการใช้อำนาจหน้าที่ที่มิชอบ และสร้างมาตรฐานที่ถูกต้องเป็นธรรมต่อกรณีดังกล่าวถึงที่สุด” แถลงการณ์ ครป.ระบุ