ถอดบทเรียน “คนหลังไมค์” ต่อลมหายใจวิทยุชุมชน
เบื้องหลังเสียงที่ก้องออกจากหน้าปัดคลื่นวิทยุ คือ “คนหลังไมค์” ที่ไม่ได้มีอยู่เฉพาะคลื่นกระแสหลัก แต่ยังรวมถึงสื่อท้องถิ่นอย่าง “วิทยุชุมชน” ที่มีบทบาทอย่างยิ่งต่อการรับรู้ข่าวสารของชาวบ้าน
กว่า 1 ทศวรรษกับการเดินทางของวิทยุชุมชน หลายสถานีต้องโบกมือลาจากไปเพราะไม่อาจอยู่ได้ท่ามกลางสื่อกระแสทุน แต่อีกหลายสถานีแม้ล้มลุกคลุกคลานก็ยังคงยืนหยัดอยู่ได้ และรอการพิสูจน์ทองเนื้อแท้ว่าเป็น “วิทยุชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน” ที่แตกต่างจากวิทยุธุรกิจหรือวิทยุท้องถิ่นทั่วไป
เร็วๆนี้กว่า 20 สถานีวิทยุชุมชน ได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนบทเรียนการสร้างสรรค์สื่อเพื่อชาวบ้าน ในเวที “สร้างเสริมศักยภาพในการสื่อสารของวิทยุชุมชน”โดยศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ขอทำหน้าที่เป็นตัวกลางถ่ายทอดประสบการณ์เหล่านั้น…
ทอดผ้าป่าหารายได้ ต่อลมหายใจ “วิทยุชุมชนจอมทอง”
นอกจากอาชีพนักดนตรี “สุนทร กริชแก้วศิริ” มีประสบการณ์การทำงานวิทยุชุมชนในฐานะนักจัดรายการมาพอๆกับอายุของรัฐธรรมนูญปี2540 เพราะการเกิดขึ้นของวิทยุชุมชนที่เขากับเพื่อนร่วมกันปลุกปั้นขึ้นมากับมือ เกิดจากการต้องการรักษาสิทธิ์ตัวเองตามรัฐธรรมนูญ แม้ว่าตอนเริ่มต้นจะอยากมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเป็นของตัวเองเพราะหลงใหลในกลิ่นหมึก แต่ก็มาจบลงที่เสาอากาศและเครื่องส่งในห้องสี่เหลี่ยมภายใต้ชื่อ “วิทยุชุมชนคนจอมทอง” ด้วยทุนเริ่มต้นไม่กี่หมื่นบาท
“จริงๆแล้วส่วนตัวไม่เคยคิดเคยฝันจะมาทำข่าว มาเป็นนักจัดรายการ เพราะชอบทางดนตรีและเล่นดนตรีมาเกือบจะทั้งชีวิต ปัจจุบันก็เป็นครูสอนดนตรี แรกๆก็ชวนเพื่อนทำหนังสือพิมพ์แต่ก็ติดขัดในเหตุผลบางประการไม่สามารถทำได้ จึงคุยกันว่าจะทำวิทยุชุมชน เพื่อนก็ถามว่าทำทำไมเพื่อธุรกิจหรือเพื่อสังคม ผมก็บอกว่าเพื่อสังคมสินั่นคือจุดเริ่มต้นของวิทยุชุมชนคนจอมทอง”
สุนทร เล่าอีกว่า แรกๆการทำงานค่อนข้างลำบากเพราะสถานียึดมั่นในอุดมการณ์คือไม่ให้มีการโฆษณา แต่ก็หารายได้สำหรับนำมาจ่ายค่าน้ำค่าไฟจากค่าขอบคุณเดือนละประมาณ 2-3 พันบาทก็พออยู่ได้ ซึ่งมีช่วงหนึ่งฟ้าผ่าเสาอากาศพังต้องใช้เงินจำนวนมากในการซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ได้รับความเสียหายตัดสินใจทอดผ้าป่าได้เงินมาจำนวน 90,000 บาท ลมหายใจสถานีจึงกลับฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง
“คนทำวิทยุชุมชนต้องทำด้วยใจรักจริงๆถึงจะอยู่ได้ ก่อนหน้านี้สถานีเรามีคนจัดเยอะมาก แต่หลายคนต้องการค่าตอบแทนซึ่งทางสถานีไม่มีให้ก็เลยออกไป ทุกวันนี้เหลือคนช่วยกันทำงานจริง 4-5 คน พระในชุมชนก็เข้ามาช่วย ซึ่งด้วยจำนวนคนน้อย ข่าวสารที่จะนำมาออกอากาศไม่มีคนทำ จึงใช้วิธีดึงเอาคลิปเสียงข่าวจากหน้าเว็บไซต์โต๊ะข่าวชุมชน สำนักข่าวอิศรามาเปิดออกอากาศหรือเอาข่าวหน้าเว็บมาอ่าน บางทีก็เอาจากไทยพีบีเอสบ้างซึ่งก็ช่วยได้เยอะเหมือนกัน” สุนทร กริชแก้วศิริ กล่าว
วิทยุสร้างชุมชนเข้มแข็งได้ คำยืนยันจาก “วชช.ชาวนนทบุรี”
คุณป้านิเวศน์ ปัจจุสมัย สถานีวิทยุชุมชนชาวนนทบุรี สถานีตั้งอยู่ตำบลบางศรีเมือง นนทบุรี ช่วงสถานการณ์น้ำท่วมได้รับความเดือดร้อน สถานีถูกน้ำท่วมสูงประมาณ 1 เมตรเครื่องส่งได้รับความเสียหาย ปัจจุบันใช้ห้องนอนเป็นห้องออกอากาศ บอกเล่าถึงประสบการณ์และความคาดหวังจากการทำหน้าที่สื่อท้องถิ่นว่า การก่อตั้งวิทยุชุมชนเป็นการรวมตัวของกลุ่มสตรีกลุ่มหนึ่งที่อยากบำเพ็ญประโยชน์ให้กับสังคม เรียนจบด้านพยาบาล มีความรู้เรื่องสมุนไพรด้วยจึงอยากบอกเล่าให้สังคมได้รับรู้เรื่องความรู้ด้านต่างๆ
สถานีตั้งมากว่า 10 ปีไม่มีโฆษณา รายการก็มีการนำเสนอข่าว งานทางวิชาการ งานด้านสุขภาพ ที่ผ่านมาทำข่าวแบบลูกทุ่งเพราะไม่ได้ฝึก แต่เมื่อได้มาสัมมนากับอิศราก็ได้เรียนรู้เรื่องการทำข่าวเพิ่มขึ้น
“ดีใจที่ได้มาเติมเต็มจากการอบรม กลับไปจะนำทักษะที่ได้เรียนรู้ทำสกู๊ปข่าว สารคดีข่าว เผยแพร่ให้ชุมชน โดยจะเริ่มจากเรื่องสุขภาพให้สอดคล้องกับสุขภาพวิถีไทย คาดหวังอยากเห็นเครือข่าย อยากเห็นเพื่อนๆมีสิ่งดีๆมาแลกเปลี่ยนเพื่อยกระดับชุมชนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น”
“วิทยุชุมชนสหพัฒนา” เติมเต็มความสุขให้ผู้สูงวัย
คุณป้าจันทร์ทัย กลิ่นโกศล อายุ 76 ปีจากสถานีวิทยุชุมชนสหพัฒนา กรุงเทพฯ สัดส่วนผังรายการส่วนใหญ่เป็นรายการเกี่ยวกับผู้สูงอายุ บอกว่า ก่อนหน้านี้รับราชการเมื่อเกษียณแล้วรู้สึกเหงาเลยหากิจกรรมทำ ช่วงหนึ่งกรรมการชุมชนของชุมชนสวัสดิการมาขอให้เป็นกรรมการชุมชนด้วยเลยไปร่วมและช่วยกันก่อตั้งสถานีขึ้นมา เมื่อตั้งสถานีแล้วก็ไม่มีรายได้เพราะไม่มีโฆษณา ต้องตั้งตู้รับบริจาคก็ผู้มีศรัทธามีแฟนรายการเข้ามาบริจาคช่วยค่าน้ำค่าไฟให้สถานีอยู่ได้
“ทำวิทยุชุมชนสนุกดีเพราะคนแก่เวลานอนน้อยนอน มันตื่นเองก็ไม่รู้จะทำอะไร ก็ต้องอ่านหนังสือมั้งทำอะไรมั้ง พอมีคนขอเพลงเราก็ได้ฟังไปด้วย มีความรู้สึกเหมือนได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง มีความสุขเล็กๆน้อยๆที่ได้ทำอะไรเพื่อประชาชน ถ้าวันไหนไม่ได้จัดรายการชีวิตเหมือนมันขาดอะไรไปสักอย่าง”
คุณป้ายังบอกอย่างอารมณ์ดี ว่าการได้เข้ามาร่วมอบรมกับสถาบันอิศราเป็นการต่อยอดจากงานวิทยุชุมชนที่ทำอยู่ ได้เรียนรู้ทักษะเพิ่มเติม เช่น การตัดต่อเสียง ได้เข้าใจในกระบวนการทำงานข่าวมากขึ้น
“เป็นคนชอบอ่านหนังสือ เขียนหนังสืออยู่แล้วก็เลยได้ความรู้ไปต่อยอดการทำงาน ได้เรียนรู้ในรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆในการออกอากาศด้วย” คุณป้าจันทร์ทัย กล่าว
ต่อยอดทักษะ พัฒนาควบรู้ “ดีเจลิซ่า”ควบสองสถานี
ขณะที่ดีเจสาวเสียงนุ่ม “ จิระลิสา ชัยมุสิก”หรือที่แฟนๆรายการสถานีวิทยุชุมชนสว่างเบญจธรรม เมืองแม่กลอง รู้จักในนาม “ดีเจลิซ่า” บอกว่า การเข้ามาเป็นคนวิทยุชุมชนเหมือนเป็นเรื่องบังเอิญ แต่เมื่อได้มาทำแล้วรู้สึกรักการจัดรายการวิทยุ อีกทั้งมูลนิธิสว่างเบญจธรรมเป็นองค์กรเพื่อสังคมการได้ทำงานตรงนี้จึงเป็นเรื่องที่ให้ทั้งความสุขและช่วยสังคมด้วย
“วันแรกที่เข้าไปจัดรายการเหงื่อตกรู้สึกกลัวแต่พอพูดๆไปก็เลยรู้สึกว่าจริงๆแล้วเราก็พูดได้ ตรงนี้ก็ทำให้เกิดความมั่นใจ จากนั้นพี่ๆที่สถานีก็ให้ไปฝึกอบรม เพื่อเพิ่มทักษะให้ตัวเองก็ช่วยได้เยอะ”
ดีเจลิซ่า บอกอีกว่า การทำงานวิทยุชุมชนเป็นเหมือนสิ่งดีๆที่เกิดขึ้นในชีวิต ความกลัวหมดไปหากเข้าใจในเนื้อแท้ของงานที่ทำอยู่ และการได้เข้าร่วมฝึกอบรมกับสถาบันอิศราทำให้คิดงานได้เพิ่มอีกด้วย
“การได้เข้าร่วมอบรมกับสถาบันอิศรา นอกจากได้เจอเพื่อนที่มีจิตอาสาในวงการเดียวกัน ยังได้ความรู้มากขึ้น มีความมั่นใจขึ้น หลังจากกลับจากอบรมรอบแรกปีก่อนก็คิดงานได้เพิ่มคือจัดรายเพิ่มอีกหนึ่งรายการที่สถานี FM 103.35 สถานีวิทยุเพื่อการจราจรของสถานีตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสงคราม” ..........................................
นั่นคือเสียงสะท้อนบางส่วนจากคนหลังไมค์วิทยุชุมชน ที่วันนี้หลายคนไม่ว่าจะเป็น เกียรติศักดิ์ ศิริเกตุจากกุฉินารายณ์ กาฬสินธิ์, ชวฤทธิ์ เจนจัด วิทยุคนเมืองวัง ลำปาง, ตฤณ ใหม่เอี่ยม วิทยุคนแปลงยาว แปดริ้ว,นำชัย รักทรัพย์ วิทยุคนบ้านนา นครนายก,ประพิศ ชุ่มอภัย คลื่นเพื่อผู้ด้อยโอกาส ปทุมธานี,พรชัย ผิวฝ้าย วิทยุพลเมืองนนท์, พะเนาะ ศรีพันลม วิทยุชาวธาตุพนม นครพนม
ภินวรรณ สุนทรนาค วิทยุท้องถิ่นธัญบุรี ปทุมธานี,เยาวรัตน์ไชยหอม วิทยุคนลุ่มภู กาฬสินธิ์,ราตรี จันทร์หอม วิทยุคนบางสะพาน ประจวบฯ,ฉัตรชัย ไชยโยธา วิทยุคนอุทุมพร ศรีสะเกษ,วรเดช วิบุญกุล วิทยุสังคมอยู่เย็นเป็นสุข ร้อยเอ็ด,เสริม เชาวะวณิชย์ หนอกจอก กรุงเทพฯ,สำคัญ วรรณบวร วิทยุคนแม่ทะ ลำปาง,สยาม แสงคุณ วิทยุคนเมืองเกษ ร้อยเอ็ด,อำพล ผิวอ่อน จากศรีสะเกษ,ประกอบ กล้าหาญ FM 107.75 วัดนาคปรก กรุงเทพฯและอุดรดิษณ์กร หมื่นเหล็ก จากวิทยุคนแม่ทะ 96.25 ลำปาง
ต่างยืนยันว่าจะยังคงสร้างสรรค์สื่อเพื่อชาวบ้านในนาม “วิทยุชุมชน” และหลายคนหวังว่าจะร่วมกันต่อยอดสร้างเครือข่ายคนทำสื่อท้องถิ่น ที่มุ่งมั่นเผยแพร่สิ่งดีงามให้ชุมชนไทยเข้มแข็งพัฒนา .