'นิมิตร์’ ชี้ร่าง รธน.มีชัย ประเด็นสุขภาพล้าหลัง-กีดกัน ปชช.
นิมิตร์ เทียนอุดม ชี้ร่าง รธน.ปี 2559 ฉบับมีชัย เนื้อหาสุขภาพล้าหลัง แนวคิดจัดแบบสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ลิดรอนสิทธิภาคเอกชนและประชาชน กันไม่ให้มีส่วนร่วมจัดบริการสุขภาพ
เมื่อเร็วๆ นี้ นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และอดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพสัดส่วนภาคประชาชน กล่าวถึงสิทธิการรักษาพยาบาลและบริการสุขภาพในร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 ฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมลงประชามติทั่วประเทศ ว่า มีการลิดรอนสิทธิของภาคเอกชน และประชาชนในการเข้ามีส่วนร่วมจัดบริการสุขภาพ ซึ่งเดิมรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้เคยระบุได้ชัดเจนในมาตรา 80 (2) ที่สนับสนุนและส่งเสริมให้ให้เอกชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาพและการจัดบริการสาธารณสุข แต่ร่างรัฐธรรมนูญของนายมีชัย กลับมีการตัดเรื่องเหล่านี้ออกหมด เท่ากับว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มุ่งไปสู่การปฎิรูปรัฐธรรมนูญเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งระบบสุขภาพไม่ใช่แค่เรื่องของหมอและกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น
นายนิมิตร์ กล่าวถึงมาตรา 258 (4) ที่ระบุว่า ปรับระบบหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนได้รับสิทธิและประโยชน์จากการบริหารจัดการ และการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและสะดวกทัดเทียมกัน มองว่า เป็นการเขียนถึงระบบหลักประกันสุขภาพที่กว้างมาก ไม่มีเป้าหมายและความชัดเจน ไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพแต่อย่างใด แม้ว่าจะมีการระบุว่าให้มีการปรับระบบสุขภาพ ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าให้ปรับอย่างไร ให้เหลือระบบเดียวหรือไม่ หรือบริหารจัดการอย่างไร
นอกจากนี้ นายนิมิตร์ ระบุว่า การที่ร่างฉบับนี้กำหนดไว้ว่า บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ เท่ากับเป็นการเขียนเช็คเปล่าให้กับระบบ ให้กับนักการเมืองที่จะก้าวขึ้น หากเมื่อไหร่กังวลว่างบประมาณของประเทศว่าจะถูกใช้ด้านการรักษาพยาบาลมากไป ก็ไม่ต้องมีพันธะผูกพันการจัดสวัสดิการรักษาพยาบาลให้กับประชาชน และอาจให้มีการเรียกเก็บเงินได้ ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัว และระบบจะกลับไปสู่การสงเคราะห์หรือไม่สงเคราะห์ก็ได้
นายนิมิตร์ กล่าวด้วยว่า ขณะที่ทั่วโลกต่างชื่นชมระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย แต่ร่างฉบับนี้กลับมีเส้นแบ่งของสิทธิที่ระบุถึงความยากไร้ เป็นการร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่ยึดโยงกับประชาชน และไม่ได้ศึกษารากเหง้าของระบบสุขภาพที่ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นใหม่นี้ควรเป็นส่วนหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำ แต่กลับทำให้การปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศเกิดการชะงักแทน
"การร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องยึดโยงกับกฎหมายที่มีด้วย รวมไปถึงกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่ระบุถึงความเท่าเทียมด้านสุขภาพ ซึ่งต้องยืนยันว่าทุกคนมีสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกันที่จะได้รับบริการสุขภาพจากรัฐ ” ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวและว่า เราเริ่มปฏิรูปประเทศตั้งแต่ปี 2540 และต่อมาได้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2545 โดยในรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้มีการระบุถึงการจัดบริการและการเปิดให้มีส่วนร่วมทั้งจากภาคเอกชน ประชาชน และชุมชน ซึ่งมีรัฐบาลคอยสนับสนุนและส่งเสริม เป็นการดึงทรัพยากรทุกอย่างเข้ามาร่วมและช่วยกันในระบบสุขภาพของประเทศ นับเป็นวิวัฒนาการของระบบสุขภาพประเทศ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้นอกจากริดรอนสิทธิประชาชนด้านสุขภาพ ยังถอยหลังกลับไปก่อนปี 2540 ซึ่งล้าหลังมาก.