ฉากชีวิตทุกจังหวะทางการเมือง 'บรรหาร ศิลปอาชา' ปิดตำนานมังกรสุพรรณ
“..ผมทดลองออกไปพบชาวบ้าน ออกไปให้ไกลจากตลาด คะเนเอาว่าไม่มีใครรู้จักแล้ว จึงเดินไปถามคุณยายขายกล้วยแขก บอกว่ายายผมมาสมัครผู้แทน ผมชื่อบรรหาร ศิลปอาชา ไง…ยายรู้จักไหม ยายก็บอกว่าโอ๊ย...ถ้ายายเลือกยายขอเลือกอีตาบรรหารแจ่มใสดีกว่า ผมก็ถามว่าทำไมล่ะ ยายก็ตอบว่าเขาสร้างโรงเรียน..”
เช้าตรู่วันที่ 23 เมษายน 2559 ประเทศไทยต้องสูญเสียนักการเมืองคนสำคัญที่ชื่อ 'บรรหาร ศิลปอาชา' อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ของประเทศ ถึงแก่อนิจกรรมด้วยวัย 83 ปี
“บรรหาร” เกิดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2475 เป็นบุตรของนายเซ่งกิม และนางสายเอ็ง แซ่เบ๊ ดังนั้นนามสกุลเดิมของ “บรรหาร” คือ “แซ่เบ๊” ซึ่งเป็นภาษาจีนแปลว่าม้า เมื่อเปลี่ยนนามสกุลก็ไม่อยากทิ้งต้นกำเนิดของตัวเอง จึงใช้นามสกุล “ศิลปอาชา” โดย “อาชา” ในภาษาไทยก็แปลว่า “ม้า”
“บรรหาร” สมรสกับ “คุณหญิงแจ่มใส ศิลปอาชา” มีบุตร-ธิดา 3 คน ประกอบด้วยนายวราวุธ ศิลปอาชา นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา และนางสาวปาริชาติ ศิลปอาชา
ด้วยรากฐานธุรกิจก่อสร้างบริษัท สหศรีชัยเคมิคอลล์ จำกัด “บรรหาร” ตัดสินลงสนามการเมือง เมื่อปี 2517 หลังถูก “บุญเอื้อ ประเสริญสุวรรณ” ชักชวนเข้าสังกัดพรรคชาติไทย แต่ขณะนั้นชื่อของ “บรรหาร” กำลังเนื้อหอมโดนหลายพรรคการเมืองรุมจีบ
“บรรหาร” เล่าในหนังสืออัตชีวประวัติส่วนตัวว่า “ขณะที่กำลังพิจารณาอยู่ พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย ให้เกียรติผม เดินทางมาชักชวนผมถึงบ้าน จึงตัดสินใจเข้าสังกัดพรรคชาติไทย”
จากนักธุรกิจดังเมืองสุพรรณ สร้างตึก-โรงเรียน จะติดชื่อว่า “บรรหาร-แจ่มใส” แต่น้อยคนที่จะรู้จักหน้า “บรรหาร” เมื่อลงเล่นการเมืองจึงต้องเปิดหน้ามากขึ้น
“ผมทดลองออกไปพบชาวบ้าน ออกไปให้ไกลจากตลาด คะเนเอาว่าไม่มีใครรู้จักแล้ว จึงเดินไปถามคุณยายขายกล้วยแขก บอกว่ายายผมมาสมัครผู้แทน ผมชื่อบรรหาร ศิลปอาชา ไง…ยายรู้จักไหม ยายก็บอกว่าโอ๊ย...ถ้ายายเลือกยายขอเลือกอีตาบรรหารแจ่มใสดีกว่า ผมก็ถามว่าทำไมล่ะ ยายก็ตอบว่าเขาสร้างโรงเรียน”
“บรรหาร” ถึงกับอึ้งกับข้อมูลที่ได้รับ จึงเร่งเดินสายแนะนำตัวอย่างหนัก กระทั่งการเลือกตั้ง 4 เมษายน 2519 “บรรหาร” ได้รับเลือกตั้งสมัยแรก ด้วยคะแนน 57,530 คะแนน มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ
บทบาทของ “บรรหาร” ในพรรคชาติไทยเริ่มเด่นชัด จนได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่ากระทรวงอุตสาหกรรม จนกระทั่งปี 2523 ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมัยรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
แต่ “บรรหาร” กลับเจอมรสุมทางการเมืองลูกแรกในชีวิต หลังดำรงตำแหน่งรมว.เกษตรฯได้ 8 เดือน เพราะจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 6 ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายค้านได้ยื่นให้ตุลาการรัฐธรรมนูญตีความอาจจะขัดคุณสมบัติ ที่ระบุไว้ว่าผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ต้องสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปลาย
“ตุลาการรัฐธรรมนูญ พิจารณาเรื่องนี้อยู่หลายเดือนก่อนมีคำวินิจฉัยว่า ในช่วงปีพ.ศ.2489-2490 มัธยมปีที่ 6 ถือว่าเป็นมัธยมปลาย ไม่ใช่มัธยมปีที่ 8 เหมือนที่พรรคฝ่ายค้านเข้าใจ ข้อหาดังกล่าวจึงตกไป แต่บางคนไม่พอใจ จึงหาทางแก้ไขกฎหมายเรื่องนี้ เพื่อให้กระทบถึงผมให้ได้”
"บรรหาร” จึงตัดสินใจเรื่องต่อทันที เพื่อจบปัญหาวุฒิการศึกษา จนจบการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี 2526
ขณะที่บทบาทเลขาธิการพรรคชาติไทย “บรรหาร” เผยความผิดพลาดว่า ช่วงปี 2521 พรรคชาติไทยได้รับการเลือกตั้งเป็นอันดับ 2 ได้ 72 เสียง แต่เมื่อรวมเสียงกับพรรคอื่นแล้วได้ 108 เสียง มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล โดยพรรคที่สนับสนุนพยายามพลักดัน “พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
“ผมคิดว่าสถานการณ์ยังไม่เอื้ออำนวยให้พล.ต.ประมาณเป็นนายกฯ ผมจึงรีบไปหาพล.อ.เปรม ที่บ้านสี่เสาฯ แต่ไปช้ากว่าพรรคประชาธิปัตย์ พอเข้าไปหาพล.อ.เปรมท่านก็บอกว่ามาช้าไปแล้ว พล.อ.เปรมรับปากจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์แล้ว และตัดพรรคชาติไทยออกไป”
กระทั่งการเลือกตั้งปี 2531 พรรคชาติไทย ภายใต้การนำของ “พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน” มี “บรรหาร” เป็นแม่บ้านคู่ใจ ชนะการเลือกตั้งได้รับคะแนนเสียง 87 เสียง
“เย็นวันหนึ่งผม ท่านชาติชาย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคกิจสังคม ได้ไปพบพล.อ.เปรม ท่านก็บอกว่าไม่อยากเป็นนายกฯแล้ว ให้ชาติชายมันเป็น แล้วหันไปทุกพรรคก็ไม่มีใครขัดข้อง ท่านชาติชายจึงได้เป็นนายกฯ ตามทำเนียมผมเป็นเลขาธิการพรรค ต้องเป็นรมว.มหาดไทย แต่ต้องยกให้พล.ต.ประมาณเป็น ผมจึงต้องไปเป็นรมว.อุตสาหกรรม”
ต่อมา “บรรหาร” ดำรงตำแหน่งรมว.มหาดไทย-รมว.คลัง ตามลำดับ ก่อนที่จะเป็น “หัวหน้าพรรคชาติไทย” ในปี 2537
และในปี 2538 “บรรหาร” พาพรรคชาติไทยชนะการเลือกตั้ง ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ “บรรหาร” ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ของประเทศไทย
“วันแรกที่เข้าไปทำงานที่ทำเนียบรัฐบาล นักข่าวยื่นไมค์ออกมาถามผมว่า ปัญหาเงินเฟ้อจะแก้อย่างไร ปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสามแสนกว่าล้าน จะแก้อย่างไร ผมบอกไปว่าไม่เป็นไร ผมเพิ่งเข้ามา ให้โอกาสผมหน่อยนะ”
ผลงานที่ถูกกล่าวขานมากที่สุดคือ การเปิดทางให้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 จนถูกยกให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด
ทว่ารัฐบาลบรรหารอยู่ไม่มั่นคงมากนัก เพราะมีกลุ่มการเมืองหลายกลุ่มร่วมกันเป็นรัฐบาล ช่วงเดือนกันยายน ปี 2539 ฝ่ายค้านนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ “บรรหาร” เพียงคนเดียว กลุ่มการเมืองซีกรัฐบาลไม่มีใครอยู่เคียงข้าง “บรรหาร”
“ตลอดเวลาของการอภิปราย ขณะที่ผมนั่งในที่นั่งนายกรัฐมนตรี ในสภา ผมรู้สึกถึงความวังเวงได้อย่างดี ไม่มีรัฐมนตรีขึ้นไปนั่งในฟากของรัฐบาลเลยแม้แต่คนเดียว”
กระทั่งการอภิปรายยาวนาน 3 วันจบ กลุ่มการเมืองซีกรัฐบาล ต่อรองให้ “บรรหาร” ลาออกจากตำแหน่ง แลกกับการยกมือไว้วางใจ
“ผมขอเวลา 30 วัน เขาไม่ให้ ขอเวลา 15 วัน เขาก็ไม่ยอม ผมไม่มีทางเลือกจึงพูดไปว่าจะลาออกภายใน 7 วัน พวกเขาพากันปรบมือ จนวันลงมติผมได้รับความไว้วางใจ 207 เสียง จากทั้งหมด 391 เสียง"
จากนั้นกลุ่มการเมืองเกรงว่า “บรรหาร” จะไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ มีทั้งโทรศัพท์ โทรสาร จดหมาย ส่งถึงทุกวัน เมื่อครบ 7 วัน “บรรหาร” มาทำงานที่ทำเนียบรัฐบาล ทุกพรรคการเมืองเข้าร่วมประชุมนัดสั่งลา
“พอประชุมผมบอกไปว่า เดี๋ยวอีกสักประมาณ 6 โมงเย็น ขอให้ฟังข่าวทางวิทยุ จะมีโปรดเกล้าฯยุบสภา พรรคการเมืองก็บอกว่าอย่ายุบสภา เท่านั้นเองคนในห้องประชุม ก็มีอาการเหมือนผึ้งแตกรัง ผมยังพูดตามหลังคนเหล่านั้นไปว่า เออ..ขอให้จากกันด้วยดีนะ ก็ไปเลือกตั้งกันมาใหม่”
ถือเป็นฉากการเมืองที่ “บรรหาร” จดจำไม่มีวันลืม เพราะในใจคิดเสมอว่าโดนพวกเดียวกันเอง “หักหลัง”
ในช่วงบั้นปลาย “บรรหาร” ฉีกตัวเองมาเป็นเบื้องหลัง “พรรคชาติไทย” และฉากการเมืองที่ต้องจดจำก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อปี 2551 “พรรคชาติไทย” ถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค คดี “มณเฑียร สงฆ์ประชา” กรรมการบริหารพรรค ทุจริตการเลือกตั้ง
ทำให้ “บรรหาร” ถึงกับน้ำตาคลอ ที่ต้องเห็นพรรคที่อยู่มาทั้งชีวิต ต้องถูกยุบทิ้งไป
ต่อมา “บรรหาร“ จัดตั้งพรรคขึ้นมาใหม่โดยใช้ชื่อว่า “พรรคชาติไทยพัฒนา” โดยดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค พร้อมเป็นมือดีลจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์-พรรคเพื่อไทย
ก่อนสิ้นลมช่วงต้นปี 2559 “บรรหาร” ยังเป็นห่วงอนาคตของ “พรรคชาติไทยพัฒนา” สั่งลูกพรรคเช็คคะแนนเสียงของพรรคในรูปแบบการเลือกตั้งแบบใหม่ ซึ่งปรากฎว่าพรรคชาติไทยอาจจะได้ส.ส.เขต ไม่เกิน 15 เสียง ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ 5-6 ที่นั่ง
สรุปยอดตัวเลขบนโต๊ะ “บรรหาร” พรรคชาติไทยพัฒนาจะได้ส.ส. 20 ที่นั่ง เพียงพอจะเข้าร่วมรัฐบาล
ที่สำคัญได้มอบนโยบายให้ “ลูกพรรคทุกคน” เน้นหาเสียง-โกยคะแนน จากบัญชีรายชื่อให้มากที่สุด เพราะส.ส.เขตอาจจะสู้ไม่ได้
เรียกได้ว่าทุกลมหายใจของ “บรรหาร” คือ “การเมือง” ผลงานที่ฝากไว้จึงอยู่ในใจ “ประชาชน” คนไทยเช่นกัน