ทุ่ม 300 ล้านตั้ง "โรงเรียนภาษาอาเซียน" ผลิตนักเรียนพูด "มลายู-อาหรับ "บุกตลาดแรงงาน
การก้าวสู่ "ประชาคมอาเซียน" หรือ ASEAN Community ในปี พ.ศ.2558 ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกด้วยนั้น ไม่มีใครปฏิเสธว่าเป็น "โอกาส" ในหลายๆ ด้านที่แต่ละประเทศสมาชิกจะได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การเคลื่อนย้ายแรงงาน และที่มองข้ามไม่ได้เลยคือเรื่องการศึกษา
แต่สำหรับประเทศไทย อาจได้รับประโยชน์มากถึงขั้นเป็น "โอกาสในวิกฤติ" เลยทีเดียว โดยเฉพาะกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เพราะห้าจังหวัดในดินแดนปลายสุดด้ามขวาน คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูลนั้น มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และที่สำคัญคือใช้ "ภาษามลายู" ในการสื่อสาร ขณะที่หลายประเทศในอาเซียนใช้ "ภาษามลายูกลาง" (หรือใกล้เคียง) เป็นภาษาทางการและภาษาทำงาน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน สิงคโปร์ (จัดเป็นภาษาทางการ 1 ใน 4 ภาษา) และติมอร์ตะวันออก
หากมองในมิติของความเป็นชาติมุสลิม อินโดนีเซียจัดเป็นประเทศมุสลิมที่มีประชากรมากที่สุดในโลก นอกจากนั้นยังมีชุมชนมุสลิมขนาดใหญ่ในเกาะทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ เช่น เกาะมินดาเนาด้วย
นี่คือลู่ทางของการพัฒนาซึ่งต้องเตรียมความพร้อมสำหรับ "โอกาส" ในการก้าวสู่ "ประชาคมอาเซียน" ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้จับมือกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เดินหน้าโครงการโรงเรียนภาษาอาเซียนชายแดนภาคใต้ เพื่อพัฒนาทักษะทางด้านภาษาต่างประเทศของนักเรียนในพื้นที่เพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานที่กว้างขวางขึ้น
อย่างไรก็ดี โครงการนี้ไม่ได้ตีกรอบเฉพาะภาษามลายู แต่มองไกลไปถึงภาษาอื่นๆ ที่ใช้อยู่ในพื้นที่ซึ่งมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมด้วย กล่าวคือ ประชาชนใช้ภาษามลายูถิ่นสื่อสารในชีวิตประจำวัน, ประชาชนผู้นับถือศาสนาอิสลามใช้ภาษาอาหรับในการปฏิบัติศาสนกิจ และประชาชนเชื้อสายจีนในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และ อ.สะเดา จ.สงขลา มีโรงเรียนที่เปิดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาจีนอยู่แล้ว
ขณะที่ในภาพใหญ่ของอาเซียนใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการติดต่อสื่อสารกัน
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงเดินหน้าจัดตั้ง "โรงเรียนภาษาอาเซียนชายแดนภาคใต้" โดยมีโรงเรียนเป้าหมายนำร่อง 16 โรงเรียน แบ่งเป็น โรงเรียนระดับประถมศึกษา 8 โรง ประกอบด้วย จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส จังหวัดละ 2 โรง จ.สงขลา สตูล จังหวัดละ 1 โรง, โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา 8 โรง ประกอบด้วย จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส จังหวัดละ 2 โรง และ จ.สงขลา กับสตูล จังหวัดละ 1 โรง
โครงการนี้ใช้งบประมาณ 268 ล้านบาท เป็นงบผูกพัน 3 ปี ตั้งแต่ปี 2555-2557 โดยโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะเปิดสอนภาษามลายูกลาง ภาษาอินโดนีเซีย (ภาษาบาฮาซา ซึ่งแปลงมาจากภาษามลายู) ภาษาจีน ภาษาอาหรับ และภาษาอังกฤษ มีการจ้างครูพิเศษ และสร้างห้องปฏิบัติการภาษา เป้าหมายคือพัฒนาทักษะด้านภาษาต่างประเทศแก่นักเรียน เพื่อให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพ เพิ่มขีดแข่งขัน ทั้งยังเพื่อเปิดตลาดการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และพลังงานในอนาคตด้วย
นอกจากโครงการโรงเรียนภาษาอาเซียนชายแดนภาคใต้แล้ว ยังมีโครงการคู่ขนานที่จะทำไปพร้อมกัน คือ โครงการส่งเสริมการจัดการศึกษาชายแดนภาคใต้รองรับการรวมกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียน โดยจะจัดตั้ง "ศูนย์ประสานงานอาเซียนศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้" ขึ้น 1 ศูนย์ เพื่อรับผิดชอบกิจกรรมพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน
ทั้งนี้ มีเป้าหมายพัฒนาครูและผู้บริหารสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จำนวน 100 คน, ครูและผู้บริหารสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จำนวน 300 คน รวมทั้งครูและผู้บริหารสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อีก 100 คน พร้อมพัฒนาครูที่มีอยู่แล้วและจัดหาครูสอนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษามลายูกลาง และภาษาอาหรับเพื่อการสื่อสาร โดยเฉพาะครูต่างชาติที่เป็นเจ้าของภาษาอีก 20 คนด้วย
ในแง่ของการพัฒนานักเรียน ให้จัดกิจกรรมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีวิตของนักเรียนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กิจกรรมค่ายลูกเสือ ค่ายภาษาอังกฤษ ค่ายสิ่งแวดล้อม และจัดตั้งศูนย์ภาษาอาเซียนใน จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ในสถานศึกษานำร่อง โดยการพัฒนาห้องปฏิบัติการด้านภาษาอังกฤษ จีน มลายูกลาง และอาหรับ
นอกจากนั้น ให้จัดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องอาเซียน เช่น หลักสูตร สื่อ นิทรรศการ และเพลงของกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 10 กิจกรรม, จัดกิจกรรมความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและสถาบันการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กับโรงเรียนในกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เช่น กิจกรรมโรงเรียนคู่แฝด การแลกเปลี่ยนนักศึกษาฝึกงาน เป็นต้น โดยใช้งบประมาณผูกพัน 3 ปี ตั้งแต่ปี 2555-2557 จำนวน 62 ล้านบาท
ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ ผู้อำนวยการสำนักประสานนโยบายการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม และกีฬา ศอ.บต. กล่าวว่า ที่ผ่านมาเยาวชนไทยมีปัญหาเรื่องการพูดภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศอื่นๆ ซึ่งยังสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ จึงต้องเร่งพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพของการสื่อสาร และรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สาเหตุที่เลือกพื้นที่นี้เพราะมีต้นทุนเรื่องภาษามลายูอยู่ แต่ก็เป็นภาษามลายูถิ่น ไม่ใช่ภาษามลายูกลางที่ใช้กันในหลายประเทศ จึงต้องมีการยกระดับและพัฒนา
"เรื่องเป้าหมายจำนวนเด็กนักเรียนที่เราต้องการพัฒนาศักยภาพ ขณะนี้ยังตอบเป็นตัวเลขชัดๆ ไม่ได้ เพราะกำลังอยู่ในช่วงเริ่มดำเนินการ แต่ที่ผ่านมาเรามีโครงการแลกเปลี่ยนกับมิตรประเทศในกลุ่มอาเซียนหลายด้าน เช่น ความร่วมมือกับรัฐบาลมาเลเซียส่งเด็กของเราไปเรียนระดับมัธยมศึกษาจำนวน 240 คน จากที่ตั้งเป้าไว้ทั้งหมด 350 คน ส่วนระดับมหาวิทยาลัย เราก็ส่งไปที่อินโดนีเซีย 152 คน เข้าเรียนทุกสาขา ทั้งแพทย์ เภสัชกร รัฐศาสตร์"
"ระดับอาชีวะก็มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเด็กอาชีวะของมาเลเซีย มีการฝึกอาชีพต่างๆ ร่วมกัน เช่น ช่างไม้ ช่างเฟอร์นิเจอร์ ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า หรือช่างซ่อม ส่งไปแล้ว 24 คน ส่วนครูเราก็มีการพัฒนาบุคลากรด้วย ไม่ได้จ้างมาอย่างเดียว ที่ผ่านมาก็เคยมีโครงการอบรมครูภาษามลายูที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ดร.พีรศักดิ์ กล่าว
ในมุมของ ศอ.บต. เขาเห็นว่าโครงการโรงเรียนภาษาอาเซียนฯ จะช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ได้ระดับหนึ่ง เพราะสามารถพัฒนาเยาวชนให้มีศักยภาพ สามารถหางานทำได้ และตลาดแรงงานก็จะเปิดมากขึ้นด้วย
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เด็กนักเรียนที่ชายแดนใต้ (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)