ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอร่างกฎหมายเพื่อการปฏิรูปการศึกษาของชาติทั้งระบบ
ผู้ตรวจการแผ่นดิน ระดมบุคลากรทางการศึกษาจัดทำ “ข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินในการปฏิรูปการศึกษาชาติทั้งระบบ” เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนแก่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาใช้ในการปฏิรูปการศึกษาไทยในทุกระดับ
ศาสตราจารย์ศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ปัจจุบันคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อย ๆ เกิดจากปัญหาในด้านต่าง ๆ เช่น ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ คุณภาพครู ผลการศึกษาของนักเรียน นักศึกษาต่ำกว่ามาตรฐานสากล การทุจริตในการใช้จ่ายงบประมาณ รวมถึงความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ ส่งผลให้การจัดลำดับสถานศึกษาไทยและนักเรียนไทย ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ในลำดับท้าย ๆ เห็นว่าปัญหาดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความเสียหายของประชาชนส่วนรวม จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 13 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 หยิบยกขึ้นมาพิจารณา
โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำข้อเสนอในการปฏิรูปการศึกษาชาติทั้งระบบ จัดทำข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาหลัก 4 กลุ่ม ได้แก่ (1) ปัญหาหลักเกี่ยวกับนโยบายการศึกษา (2) ปัญหาหลักเกี่ยวกับโครงสร้างการบริหารจัดการการศึกษา (3) ปัญหาหลักเกี่ยวกับระบบการจัดการศึกษา (4) ปัญหาหลักเกี่ยวกับคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน พร้อมกับปรับปรุงแก้ไขและเสนอร่างกฎหมายใหม่รวมทั้งสิ้น 15 ฉบับ เพื่อวางหลักการแก้ไขปัญหาทางการศึกษาทุกข้อ ทุกประเด็นในทุกด้านไปพร้อมกัน ซึ่งหากนำร่างกฎหมายตามข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินไปพิจารณาออกเป็นกฎหมายมาใช้บังคับจะส่งผลต่อการแก้ปัญหาการศึกษาในทุกๆ มิติได้อย่างรวดเร็ว
ศาสตราจารย์ศรีราชา กล่าวต่อว่าการประชุมครั้งนี้เป็นการชี้แจงให้ทราบถึงข้อเสนอประเด็นการปฏิรูปที่สำคัญและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ผู้บริหารการศึกษาในกระทรวงศึกษาธิการทุกระดับตั้งแต่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการของหน่วยงานระดับสูง ผู้ที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับวงการการศึกษา ผู้สนใจการปฏิรูปการศึกษากว่า 40 คน เพื่อจะได้เข้าใจถึงหลักการสำคัญ ๆ ในการแก้ไขปัญหาการศึกษาตามร่างกฎหมายใหม่ 15 ฉบับ และตอบโจทย์ปัญหาด้านต่าง ๆ ทั้งความไม่ต่อเนื่องด้านนโยบายและทิศทางการพัฒนาการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาสังคมและประเทศไทย ปัญหาการบริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการ ปัญหาเรื่องคุณภาพครูและคุณภาพการศึกษา ปัญหาการบริหารบุคคลที่ครูไม่ได้รับความเป็นธรรม พร้อมทั้งนำข้อสังเกต ข้อโต้แย้ง คำแนะนำไปพิจารณาทบทวนข้อเสนอในการปฏิรูปการศึกษาเพื่อแก้ไขให้ดีขึ้น แล้วนำข้อสรุปสุดท้ายนี้เสนอต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาดำเนินการนำไปใช้ในการปฏิรูปการศึกษาในทุกระดับต่อไป
“หวังให้ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะในวงการการศึกษาได้นำข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษานี้ไปพิจารณาว่าเหมาะสมและมีความเป็นไปได้เพียงใด หากมีข้อโต้แย้งจะนำไปพิจารณาทบทวน เพื่อให้ได้ข้อยุติที่เป็นประโยชน์ และสามารถแก้ไขปัญหาได้จริง จะเสนอให้ดำเนินการจัดตั้งสภานโยบายการพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ เพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางการปฏิรูปการศึกษาให้เสร็จสิ้นภายในไม่เกิน 1 ปี แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการ ให้มีการกระจายอัตรากำลังไปสู่ส่วนท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมรับผิดชอบในการจัดการศึกษาในท้องถิ่นมากขึ้นกว่าเดิม หากร่างพระราชบัญญัติการศึกษาทั้ง 15 ฉบับผ่านจะได้เชื่อมโยงการทำงานได้ทั้งระบบ และนำข้อเสนอปฏิรูปการศึกษาไปสู่การปฏิบัติให้ได้อย่างจริงจังและครบถ้วนอย่างช้าภายในไม่เกิน 5 ปี” ศาสตราจารย์ศรีราชา กล่าว
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.manager.co.th