4 อำเภอสงขลาป่วนเชิงสัญลักษณ์ เชื่อฝีมือกลุ่มคัดค้านพูดคุยดับไฟใต้
การลอบวางระเบิดแบบมอเตอร์ไซค์บอมบ์ 2 ครั้งซ้อนในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ซึ่งเป็นรอยต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ที่ อ.จะนะ เมื่อวันที่ 11 เม.ย. และที่ อ.เทพา วันที่ 19 เม.ย. โดยก่อความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินไม่น้อย ทำให้สถานการณ์ไฟใต้กลับมาถูกจับจ้องจากฝ่ายต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง
แน่นอนว่านี่ไม่ใช่การ “ขยายพื้นที่ปฏิบัติการ” หรือ “ไฟใต้ลามสงขลา” อย่างที่บางคนเข้าใจ เพราะ 4 อำเภอรอยต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี ในเขตปกครองของสงขลานั้น เคยเกิดเหตุรุนแรงมาตลอดตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นสถานการณ์ความไม่สงบเมื่อปี 2547 เพียงแต่ไม่ได้มีความถี่ของเหตุร้ายเหมือนกับพื้นที่สามจังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เท่านั้นเอง
นับตั้งแต่ปี 2547 พื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เป็นพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึก และปรากฏเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ มาโดยตลอด
เหตุสลดที่มีวัยรุ่นและเยาวชนพยายามเข้าโจมตีป้อมจุดตรวจกว่า 10 แห่งทั่วสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 หรือที่รู้จักกันดีในนาม “เหตุการณ์กรือเซะ” ก็มีเหตุร้ายที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ด้วยเช่นกัน เมื่อทีมฟุตบอลเยาวชนในพื้นที่พยายามก่อเหตุรุนแรง และถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมเสียชีวิตถึง 19 ศพ
นั่นจึงสะท้อนว่าพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เป็นแหล่งบ่มเพาะนักรบในสงครามต่อต้านรัฐไทย และเป็นพื้นที่ปฏิบัติการความรุนแรง รวมทั้งหลายๆ ครั้งยังเป็นทางผ่านในการเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิดเข้าไปก่อเหตุในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ หัวเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างด้วย
แม้ว่าตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.52 รัฐบาลได้ยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา แต่ก็ได้ประกาศเป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์กระทบต่อความมั่นคง ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ต่อเนื่องมา จึงสรุปได้ว่าพื้นที่นี้ยังคง “ไม่สงบเรียบร้อย”
นับเฉพาะตั้งแต่ต้นปี 59 เป็นต้นมา ก็จะเห็นได้ว่ามีเหตุรุนแรงในระดับน่าตกใจเกิดขึ้นหลายครั้ง
18 ม.ค. คนร้ายลอบวางระเบิด 2 ลูกซ้อน ที่ร้านขวัญข้าวคาราโอเกะ บริเวณหาดสร้อยสวรรค์ หมู่ 7 ต.เกาะสะบ้า อ.เทพา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 8 ราย
12 ก.พ. คนร้ายใช้อาวุธปืนยิง นายมนตรี พุทธโชติ ปลัดอำเภอสะบ้าย้อย เสียชีวิตขณะขี่รถจักรยานออกกำลังกายในละแวกบ้านพัก ต.ท่าม่วง อ.เทพา
22 มี.ค. คนร้ายใช้อาวุธปืนยิง นายชู ทองตราชู อายุ 60 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.ลำไพล อ.เทพา เสียชีวิต เหตุเกิดขณะตามพระสงฆ์ออกบิณฑบาต
11 เม.ย. มอเตอร์ไซค์บอมบ์ที่หน้าสถานีรถไฟจะนะ ทำให้ตำรวจเสียชีวิต 1 นาย เด็กชายวัย 4 ขวบสังเวยชีวิต และมีผู้บาดเจ็บอีกนับสิบ
19 เม.ย. มอเตอร์ไซค์บอมบ์ที่หน้าร้านขายของชำ หลังสถานีรถไฟตาแปด อ.เทพา มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 14 ราย ทั้งตำรวจ คนแก่ ผู้หญิง และเด็ก
คำถามที่ต้องเร่งหาคำตอบก็คือ เหตุใดจึงเกิดเหตุรุนแรงถี่ขึ้นในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา
ข้อสันนิษฐานจากการประเมินสถานการณ์ในภาพรวมของฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ พบว่าคลื่นความรุนแรงเริ่มถี่และใหญ่โตขึ้นตั้งแต่เดือน ก.พ.เป็นต้นมา โดยมีตัวเร่งคือคดีที่ศาลแพ่งสั่งยึดที่ดินปอเนาะญิฮาด หรือโรงเรียนญิฮาดวิทยา อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เพราะเชื่อว่าถูกใช้เป็นสถานที่ฝึกของนักรบกลุ่มก่อความไม่สงบ แต่ครอบครัวอดีตผู้บริหารปอเนาะ คือ “ตระกูลแวมะนอ” ไม่ยอมยื่นอุทธรณ์คดี ทำให้คดีจบเพียงศาลชั้นต้น และพวกเขาก็อพยพออกจากปอเนาะไป
ผลของคดีและการตัดสินใจของครอบครัวแวมะนอ สร้างแรงสั่นสะเทือนทางความรู้สึกค่อนข้างมากในพื้นที่ แม้ว่าฝ่ายรัฐจะยืนยันว่าเป็นการดำเนินการตามกฎหมายก็ตาม
ที่สำคัญตระกูล “แวมะนอ” คือตระกูลของ นายดูนเลาะ แวมะนอ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่าเป็นหัวหน้าฝ่ายทหารของบีอาร์เอ็น มีสถานะพอๆ กับผู้บัญชาการทหารบกเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี ยังมีข้อสันนิษฐานเพิ่มเติมจากหน่วยงานความมั่นคงอีกหลายหน่วยว่า แนวโน้มของสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงขึ้น น่าจะมีเบื้องหลังมากกว่านั้น โดยเฉพาะการปรากฏข่าวสารการสั่งการของแกนนำบีอาร์เอ็น ให้เร่งสร้างสถานการณ์ความไม่สงบตั้งแต่เดือน ก.พ.เป็นต้นไป โดยเน้นใช้ “กองกำลังรุ่นใหม่” ที่ยังไม่มีหมายจับ เป็นผู้ปฏิบัติการ
เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานความมั่นคงบางหน่วยวิเคราะห์ว่า ท่าทีของบีอาร์เอ็นที่สั่งเร่งโจมตีแบบปูพรม น่าจะเชื่อมโยงกับโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย เพราะบีอาร์เอ็นแสดงท่าที “ไม่เอาด้วย” กับกระบวนการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม ในนาม “มารา ปาตานี”
ฉะนั้นความรุนแรงที่เกิดขึ้น จึงอาจเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าคัดค้านการพูดคุย
ข้อวิเคราะห์นี้สอดคล้องบางส่วนกับการประเมินของ พล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช รองแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ว่าความรุนแรงที่เกิดถี่ยิบ ทำให้กระบวนการพูดคุยต้องหยุดชะงัก และคณะพูดคุยชุดใหญ่ของทั้งสองฝ่ายก็เลื่อนนัดการพบปะกันมาถึง 3 ครั้งแล้ว
แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีข้อมูลอีกด้านที่ชี้ว่า กลุ่มพูโลบางกลุ่มจาก 3 กลุ่มที่ร่วมโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ในนาม “มารา ปาตานี” พยายามรวม 3 กลุ่มเข้าด้วยกันเพื่อความเป็นเอกภาพ และยังได้ฟื้นกองกำลังขึ้นในพื้นที่เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองกับรัฐบาลไทย
ข้อมูล 2 ชุดหลังนี้ สอดรับบางส่วนกับความเห็นของ “โฮป” อดีตแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่แม้ปัจจุบันจะหันหลังให้กับขบวนการและเลือกใช้ชีวิตอย่างสงบในปัตตานีแล้ว แต่ก็ยังรับรู้ข่าวสารวงในตลอดเวลา
โฮป บอกว่า กลุ่มขบวนการในพื้นที่ โดยเฉพาะบีอาร์เอ็น หรืออาจมีพูโลร่วมด้วย ได้พยายามตอบโต้เจ้าหน้าที่ไทย และแสดงจุดยืนไม่ต้องการการพูดคุยที่ไม่มีความจริงใจ และไม่ยอมรับกลุ่ม “มารา ปาตานี” เพราะมองว่าถูกตั้งขึ้นเพื่อจัดฉากพูดคุยกับรัฐบาลไทย
นอกจากนั้น กลุ่มขบวนการที่เคลื่อนไหวโดยอ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ยังไม่พอใจกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ตั้งขึ้นเพื่อขอเงินงบประมาณจากต่างชาติ เพื่อมาเคลื่อนไหวให้เกิดการพูดคุยสันติสุขซึ่งคนกลุ่มนี้มองว่าเป็นการจัดฉาก โดยละเลยไม่ดูแลปัญหาความเดือดร้อนที่แท้จริงของประชาชนด้วย
“ที่ผ่านมาขบวนการในพื้นที่มีการซาวเสียวประชาชนเป็นระยะ และทราบว่าตอนนี้ชาวบ้านในพื้นที่นอกเขตเมืองจำนวนมาก ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุย เพราะทุกคนมองออกว่าไม่มีทางสำเร็จ” อดีตแกนนำในขบวนการแบ่งแยกดินแดน ระบุ
โฮป บอกด้วยว่า ขบวนการที่อ้างอุดมการณ์จะก่อเหตุต่อเนื่องเพื่อแสดงศักยภาพ โดยเริ่มจากเดือน ก.พ. ยาวไปจนถึงเดือน มิ.ย. ซึ่งจะเป็นช่วงก่อนเข้าสู่เดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอด
เมื่อสภาพการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้เป็นเช่นนี้ ก็น่าคิดว่าอนาคตของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข ระหว่างคณะพูดคุยฯของรัฐบาลไทย กับกลุ่มมารา ปาตานี จะเป็นเช่นไร เพราะล่าสุดมีการนัดหมายพบปะกันอย่างเป็นทางการคณะใหญ่ ในช่วงปลายเดือน เม.ย.หรือต้นเดือน พ.ค.นี้
ทั้งๆ ที่ล่าสุด กลุ่มพูโลที่นำโดย นายกัสตูรี มะห์โกตา ซึ่งอยู่บนโต๊ะพูดคุยด้วย เพิ่งเผยแพร่ข่าวสารบนเว็บไซต์เสมือนหนึ่งท้าทายรัฐบาลไทย ว่าพวกเขาส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมสุดยอดองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือโอไอซี ที่นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี ระหว่างวันที่ 11-15 เม.ย.ที่ผ่านมา ตรงกับช่วงวันหยุดสงกรานต์ในประเทศไทย
ในขณะที่ฝ่ายความมั่นคงไทยเพิ่งโล่งใจที่ในแถลงการณ์โอไอซี ไม่มีการกล่าวถึงกลุ่ม “มารา ปาตานี” ทั้งๆ ที่มีความพยายามยกระดับกลุ่มของตนเองให้เป็นคู่เจรจากับรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่อง
นี่คือความซับซ้อนซ่อนเงื่อนของปัญหาชายแดนใต้ที่ดูเหมือนจะยังไม่หลุดพ้นจากเงาร้ายแห่งความรุนแรง!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ซากความรุนแรงที่หลงเหลือหลังมอเตอร์ไซค์บอมบ์ที่เทพา