2 ปี การหายตัวไปของบิลลี่ กับสถานการณ์การอุ้มหายในไทย
"การบังคับสูญหายไม่ใช่เรื่องไกลตัว อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้อาจเป็นคนในครอบครัวคุณหรือคนที่คุณรัก” อังคนา นีละไพจิตร
ย้อนไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 บิลลี่ หรือ นายพอละจี รักจงเจริญ ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่ด่านตรวจแม่มะเร็ว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในช่วงที่เขาถูกควบคุมตัวนั้นเป็นช่วงเวลาขณะเดินทางจากบ้านโป่งลึก ไปยังตัวอำเภอเพื่อเตรียมข้อมูลคดีชาวบ้านฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรจากเหตุเผาบ้านกะเหรี่ยงและทรัพยสินของชาวบ้านในเขตอุทยานแห่งชาติระหว่างปี 2553 และ 2554
นายชัยวัฒน์ ให้การอ้างว่า วันที่ควบคุมตัวนายบิลลี่ จำเป็นต้องควบคุมตัวบิลลี่เนื่องจากเป็นผู้ครอบครองน้ำผึ้งป่าอย่างผิดกฎหมาย แต่ยืนยันว่า ได้ปล่อยตัวไปแล้ว แต่จากวันนั้น ถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 2 ปี ที่ไม่มีใครพบเห็นบิลลี่อีกเลย แม้จะมีความพยายามกดดันจากหลายฝ่ายทั้งองค์กรในประเทศ และนานาชาติ
วันที่ 24 เมษายน 2557 น.ส.พิณนภา พฤษาพรรณ หรือ มึนอ ภรรยาของบิลลี่ ร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรีให้ไต่สวนความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมตัวสามีของเธอ
ระหว่างนั้นกลุ่มเสรีนททรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกลุ่มชาวบ้านขบวนการประชาชนเพื่อสังคมเป็นธรรม ยื่นหนังสือกดดันให้กรมอุทยานย้ายนายชัยวัฒน์ออกจากพื้นที่ป่าแก่งกระจาน รวมถึงหน่วยงานภาคประสังคมต่างๆ ทั่วประเทศ พยายามกดดันกรมอุทยานให้รีบจัดการเรื่องอย่างเร่งด่วน
กระทั่งวันที่ 11 มิถุนายน 2557 กรมอุทยานฯมีคำสั่งย้ายนายชัยวัฒน์ไปช่วยปฏิบัติราชการที่กรุงเทพฯ
ต่อมาในวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 หกวันหลังการไต่สวน ศาลมีคำวินิฉัยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบิลลี่ยังคงถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวในช่วงที่เขาหายตัวไป แม้จะมีการอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์ แต่ก็ไม่ส่งผลให้มีข้อมูลเพิ่มเติมที่ชี้ว่า บิลลี่อยู่ที่ใดและมีชะตากรรมอย่างไร
ในวันที่ 2 กันยายน 2558 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องคดีต่อนายชัยวัฒน์ อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ศาลเห็นว่า ไม่มีพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่จะเอาผิดนายชัยวัฒน์และเจ้าหน้าที่คนอื่น
ก่อนหน้าคำพิพากษาของศาลฎีกา มึนอ ยื่นคำร้องไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2558 หลังจากไม่มีความคืบหน้าในการสอบสวนของตำรวจ ซึ่งมีรายงานข่าวว่า ดีเอสไอ ได้ทำการรวบรวมปากคำของพยาน และได้นำรถยนต์ของอุทยานแห่งชาติมาตรวจสอบ ภายหลังพบคราบเลือดที่อยู่บนพรมของรถคนหนึ่งหลังบิลลี่หายตัวไป ทางดีเอสไอ ตั้งรางวัล 1 แสนบาท สำหรับผู้ให้เบาะแสการหายตัวของบิลลี่
ในวันที่ 14 มกราคม 2559 คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดประชุมเพื่อพิจารณาความคืบหน้าในคดีนี้ โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบไปด้วยตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ปปท.) เป็นไปตามคำร้องของภรรยาบิลลี่ จากข้อมูลที่ประชุม ตำรวจมีความเห็นว่าเจ้าหน้าที่อุทยานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวบิลลี่ให้ปากคำ “ ที่ไม่สอดคล้องกัน” ตำรวจยังตั้งรางวัล 1 แสนบาท ให้กับบุคคลที่ให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อคดี
ส่วนทางปปท.ได้รวบรวมปากคำของพยานในคดีภายหลังรับกรณีเข้าสู่การพิจารณา และอยู่ระหว่างการพิสูจน์หลักฐานตามหลักนิติเวช รวมทั้งคราบเลือดในรถของนายชัยวัฒน์
ปปท.ได้เสนอรายงานการสอบสวนต่อพนักงานอัยการในเดือนมีนาคม 2559 ซึ่งอัยการจะพิจารณาว่าจะมีการสร้างสั่งฟ้องคดีข้อกล่าวหาปฎิบัติหน้าที่มิชอบต่อเจ้าหน้าที่อุทยานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวบิลลี่หรือไม่
ส่วนของ กสม.ได้ให้ข้อมูลโดยระบุว่า ประเทศไทยยังขาดกรอบกฎหมายเพื่อการรับผิดในคดีการบังคับให้สูญหาย
ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ที่บิลลี่หายไป มึนอ ภรรยาของบิลลี่ เดินทางขึ้นลงโรงพัก และศาลเพื่อยื่นคดี รวมทั้งเร่งรัดให้มีการสืบสวน แต่ดูเหมือว่า ความหวังทางกระบวนการศาลก็ริบหรี่เต็มที่
ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา และเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี พร้อมผู้แทนภาคส่วนต่างๆ กว่า 22 องค์กรเข้ายื่นจดหมายร้องเรียน เรื่องการขอให้สั่งให้ข้าราชการที่ถูกฟ้องคดีอาญา พักราชการ หรือคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวนเพื่อพิจารณาหรือผลแห่งคดีที่ถูกฟ้องคดีอาญาต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา โดยมีนายเรืองศักดิ์ ทีฆะสุข รักษาการผู้อำนวยการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นผู้รับจดหมาย โดยทางด้านนายเรืองศักดิ์ กล่าวว่าจะรีบนำส่งหนังสือถึงอธิบดีต่อไป พร้อมทั้งระบุว่า ท่านอธิบดีมีความยุติธรรมและจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
กรณีของบิลลี่ ถือเป็นหนึ่งในอีกหลายคดีที่มีการบังคับสูญหายในเมืองไทย จากสถิติที่มีการรวบรวมโดยคณะทำงานว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายหรือการสูญหายโดยไม่สมัครใจ ระหว่างปี 2523 ถึง 2557 ประเทศไทยมีการบังคับสูญหาย 89 กรณี (รวบรวมผ่านการร้องเรียน) ถือว่ามากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยใน 81 กรณีหรือ กว่า 91% ยังไม่ได้รับการแก้ไข
กรณีล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2559นายฟาเดล เสาะหมาน อดีตผู้ต้องขังถูกเจ้าหน้าที่จับกุมฟ้องร้องดำเนินคดีเกี่ยวกับความมั่นคงที่ศาลจังหวัดปัตตานีได้มีคำพิพากษายกฟ้อง ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ 3 คนใช้กำลังบังคับเอาตัวและหายสาบสูญไป ขณะที่เข้าไปทำภารกิจในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี จนกระทั่งวันนี้ยังไม่มีพบตัวหรือทราบชะตากรรมของเขาอีกเลย
ดร.ประทับจิต นีละไพจิตร ให้ความเห็นว่า ในสังคมไทย การนำเทคนิค วิธีการบังคับบุคคลสูญหายมาใช้ อุบัติขึ้นในปี 2490 เป็นเพราะว่ามีเอกสารบันทึกเอาไว้ว่า ในช่วงนั้นเป็นช่วงสงครามโลก ซึ่งแนวคิดแบบนี้ถูกส่งต่อจากสหรัฐฯ เข้ามา ซึ่งช่วงนั้นทำไมตำรวจถึงเป็นหน่วยงานแรกที่ถูกบันทึกว่า เกี่ยวข้องกับการบังคับบุคคลสูญหาย
จากการศึกษาพบเอกสารฉบับหนึ่งจากต่างประเทศ ที่พูดถึงการเเลกเปลี่ยนวิธีการในการจับผู้ต้องหา ผู้ต้องสงสัย สอบเค้นข้อเท็จจริง หนึ่งในนั้นคือ การบังคับสูญหาย สันติบาลไทยเป็นหน่วยงานแรกที่ซื้อวิธีการนี้มาใช้ เพราะฉะนั้นในช่วงทศวรรษดังกล่าว ผู้ใช้วิธีการนี้เป็นวิธีการหลักคือ ตำรวจ
ในส่วนของรูปแบบการถูกทำให้หายไปนั้น ดร.ประทับจิต ชี้ว่า นิยมทำกันอยู่หลัก 3 รูปแบบ อย่างที่หนึ่งคือ ทำให้หายไประหว่างการเดินทาง ซึ่งหลายคนเป็นอย่างนั้นเช่น ทนายสมชายก็ได้หายไประหว่างเดินทาง แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าอยู่ดีๆ จะเกิดขึ้น
จากการศึกษาพบว่า มีการติดตามตัวจนรู้ว่าช่วงเวลาไหนใคร จะเดินทางไปไหน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทั่วประเทศ กรณีของฮัจยีสุหลงหายไปในแบบที่สอง นั้นคือ ถูกเชิญตัวไป พบเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในสัญญาว่าด้วยการบังคับบุคคลสูญหาย ถือว่าผู้ที่อยู่กับคนคนนั้นเป็นคนสุดท้าย ต้องเป็นคนรับผิดชอบ
กรณีของ บิลลี่ ที่ถูกเจ้าหน้าเรียกไปและหายตัวไป แบบที่สามคือ การถูกจับกุม จะเห็นว่ารูปแบบเหมือนกัน สิ่งที่เปลี่ยนไปและน่าสนใจคือเหตุผล ข้ออ้างในการรองรับให้บุคคลสูญหาย ก็ขยายออกมาเรื่อยๆ ซึ่งแน่นอนว่าเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ
หากเราได้ติดตามจะเห็นว่ากรณีคนหายส่วนมากรัฐไม่ได้เงียบ รัฐมักตอบ โดยมากรัฐไทยมักจะตอบในลักษณะ เช่น “เข้ามาพบสันติบาลจริงแต่ได้ปล่อยตัวไปแล้ว คาดว่าน่าจะหนีไปต่างประเทศ” หรือในกรณีทนายสมชาย ก็ได้รับคำตอบจากรัฐว่า คุณสมชายทะเลาะกับภรรยาและได้หนีไปต่างประเทศ ซึ่งเวลารัฐตอบ รัฐมักจะอธิบายว่าเป็นความขัดแย้งส่วนตัว และเป็นการหายไปเอง หายไปด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่เป็นการ ควบคุมบังคับสูญหาย
ในเวทีการประชุมกระบวนการทบทวนรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย หรือ UPR (Universal Periodic Review) ในปี 2554 รัฐบาลไทยยอมรับข้อเสนอแนะ 6 ข้อที่จะลงนามหรือให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (CED) ตามข้อเสนอของออสเตรีย ฝรั่งเศส ญี่ปั่น นิคารากัว สเปน และอุรุกวัย รวมทั้งข้อเสนอแนะของฝรั่งเศสที่ให้สอบสวนตามข้อกล่าวหาว่ามีการบังคับให้สูญหายทุกกรณี ระหว่างการพิจารณาการดำเนินงานของไทยโดยคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน(CAT) ในเดือนมิถุนายน 2557 คณะกรรมการต่อต้านการทรมานเสนอให้รัฐบาล “ ดำเนินการมาตรการทั้งปวงที่จำเป็นเพื่อการป้องกันการบังคับบุคคลให้สูญหายและการแก้ปัญหาการลอยนวลพ้นผิดอันเนื่องมาจากการบังคับบุคคลสูญหาย"
แต่พบว่า ที่ผ่านมาไทยมีความก้าวหน้าเพียงเล็กน้อย นับตั้งแต่การทบทวนตามกระบวนการ UPR และการพิจารณาของคณะกรรมการต่อต้านการทรมานในปี 2557
และจากการลงนาม CED ที่ทำโดยสมัครใจของรัฐไทยในเวที UPR ครั้งที่ 1 อย่างไรก็ดี อนุสัญญาดังกล่าวไม่มีผลบังคับใช้ในประเทศไทยเนื่องจากยังไม่มีการให้สัตยาบัน และต่อมาในเดือนมกราคม 2558 มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ......... เข้าสู่การพิจาณาของคณะรัฐมนตรี จนกระทั่งปัจจุบัน ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
จะเห็นได้ว่า การขาดกรอบกฎหมายเพื่อการดำเนินการแก้ไขปัญหาการบังคับสูญหาย ส่งผลให้ไม่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีรับผิดชอบต่อการบังคับให้สูญหาย และการบังคับบุคคลให้สูญหายยังคงเป็นหนึ่งวิธีการที่รัฐใช้จัดการกับประชาชนผู้เห็นต่าง
นางอังคณา นีละไพจิตรภรรยาของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมและรองประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสภาทนายความ ได้เขียนบรรยายความรู้สึก พร้อมทั้งตั้งแคมเปญรณรงค์ใน เว็ปไซด์change.org ภายหลัง ศาลฎีกาตัดสินเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ยกฟ้องตำรวจทั้ง 5 นาย โดยอังคนาระบุว่า ศาลพิพากษาโดยไม่พิจารณาหลักฐานเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์ที่มีความน่าเชื่อถือซึ่งฝ่ายตนยื่นไป สิ่งที่เกิดขึ้นเสมือนเป็นการซ้ำเติมความทุกข์ทรมานทางจิตใจตลอด 12 ปีของพวกเราให้เพิ่มขึ้นทวีคูณ
พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง เร่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้สืบคดีของนายสมชาย อย่างจริงจัง สอบสวนการหายตัวไปของนายสมชาย และผู้ที่คาดว่าถูกอุ้มหายทุกคนในประเทศไทย อย่างเป็นอิสระ โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ มีการสั่งพักงานเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นไปได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการอุ้มหาย ตลอดจนนำตัวผู้ต้องสงสัยเข้าสู่การพิจารณาคดีที่เป็นธรรม
นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. .... โดยที่เนื้อหาต้องสอดคล้องกับ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ซึ่งรวมถึงการกำหนดให้การทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย (อุ้มหาย) เป็นความผิดทางอาญาอย่างชัดเจน ตามนิยามในอนุสัญญาฉบับดังกล่าวด้วย ให้สัตยาบันต่อ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และบังคับใช้กฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับข้อบทของอนุสัญญาดังกล่าว ระบุที่อยู่และชะตากรรมของผู้ที่คาดว่าถูกอุ้มหาย ตลอดจนนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รับประกันว่าผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและครอบครัวจะได้รับการเยียวยาอย่างเต็มที่
ในช่วงท้ายของข้อความรณรงค์ นางอังคนา กล่าวไว้ว่า "แม้ดิฉันจะได้รับข้อมูลว่าทนายสมชายถูกทรมานจนเสียชีวิต แต่ก็ไม่มีหน่วยงานรัฐไหนที่รายงานอย่างเป็นทางการได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นกับทนายคนสำคัญของไทยและสมาชิกคนสำคัญของครอบครัวนีละไพจิตรคนนี้กันแน่
ความจริง ยังคงหลบซ่อนอยู่ในมุมมืดที่ใดสักแห่งในสังคมไทย ดิฉันขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยร่วมกันใช้โอกาสครบรอบ 12 ปีการหายตัวไปของทนายสมชายเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องนำความยุติธรรมมาสู่ทนายสมชาย ครอบครัวนีละไพจิตร ตลอดจนผู้ที่คาดว่าถูกอุ้มหายคนอื่นๆ ในประเทศต่อไปด้วย
"การบังคับสูญหายไม่ใช่เรื่องไกลตัว มันอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ อาจเป็นคนในครอบครัวคุณหรือคนที่คุณรัก”
ช่วงเวลา 2 ปีการหายไปของบิลลี่ ไม่ต่างกับ 12 ปีที่เสาหลักของครอบครัวนีละไพจิตรหายไป และอาจจะมีอีกหลายคน อีกหลายครอบครัวที่ต้องมาเผชิญกับชะตากรรมที่ไม่อาจรับได้ คงถึงเวลาเสียทีที่คนในสังคมไทยต้องถามตัวเองว่า เราอยากให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเราอีกหรือไม่.
ขอบคุณภาพประกอบจาก
FB: Where is Somchai Neelapaijit ?
InfoGraphic จาก FB: Where is Billy?
website: change.org