สองปีของครอบครัวมะมัน...เรื่องร้ายๆ ที่ไม่ใช่ความฝันกับการสูญเสีย 3 ลูกน้อย
เหตุระเบิดมอเตอร์ไซค์บอมบ์ที่หน้าสถานีรถไฟจะนะ จ.สงขลา ที่ทำให้เด็กน้อยวัยเพียง 4 ขวบต้องสังเวยชีวิต และเด็กหญิงตัวเล็กๆ อีก 2 คนต้องได้รับบาดเจ็บ ทำให้เสียงประณามการก่อความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนที่ชายแดนใต้ดังก้องขึ้นอีกครั้ง
เหตุร้ายที่มีเด็กตกเป็นเหยื่อในดินแดนปลายด้ามขวานตั้งแต่ต้นปี 2547 เป็นต้นมา ถึงวันนี้ต้องบอกว่านับไม่ถ้วน แต่เหตุการณ์หนึ่งที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจของผู้คนจำนวนไม่น้อยในประเทศนี้คือ เหตุยิงเด็กน้อย "3 พี่น้องตระกูลมะมัน" จนเสียชีวิตทั้ง 3 คนเมื่อวันที่ 3 ก.พ.57
ถึงวันนี้ผ่านมาแล้ว 2 ปี ครอบครัวพ่อแม่ของเด็กน้อยที่ยังต้องใช้ชีวิตอยู่กับฝันร้ายที่ตามหลอกหลอน พวกเขารับมือ รับความรู้สึกกันมาได้อย่างไร
เมื่อไม่นานมานี้ “ทีมข่าวอิศรา” เดินทางไปเยี่ยมครอบครัวมะมันในวันที่ไร้ลูกชายทั้ง 3 คน...
ภาพผู้ชายร่างเล็กอุ้มเด็กหญิงตัวน้อยในอ้อมกอด ชูมือบอกถึงจุดหมายที่นัดกันไว้ในชุมชนที่ห่างจากตัวอำเภอบาเจาะ จ.นราธิวาสเพียงกิโลกว่าๆ เด็กหญิงยิ้มร่าทักทายด้วยทำให้โลกใบเศร้านี้สว่างไสวขึ้นไม่น้อย
ผู้ชายที่โบกมือให้เราคือ เจ๊ะมุ มะมัน วัย 43 ปี ส่วนเด็กหญิงในอ้อมแขน คือลูกสาววัยเกือบสองขวบของเขา อุมมุซซาลามะห์ มะมัน เด็กหญิงในครรภ์ที่รอดชีวิตจากค่ำคืนอันเลวร้ายของครอบครัวเมื่อวันที่ 3 ก.พ.สองปีที่แล้ว ที่บ้านเลขที่ 143/4 หมู่ 7 บ้านปะลุกาแปเราะ ต.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ซึ่งคนร้ายกับอาวุธสงครามได้พรากชีวิตลูกชาย 3 คนของเขาไป คือ ด.ช.มูยาเฮด มะมัน อายุ 11 ปี ด.ช.บาฮารี มะมัน อายุ 9 ปี และ ด.ช.อิลยาส มะมัน อายุ 6 ปี
ขณะที่เจ๊ะมุได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ส่วน พาดีละห์ แมยู ภรรยา ซึ่งตั้งท้องเด็กหญิงได้ 3 เดือนในขณะนั้น ถูกยิงที่แขนขวาได้รับบาดเจ็บสาหัส
หลังจากเกิดเหตุ 1 เดือน ตำรวจได้ติดตามจับกุมทหารพราน 2 นาย คือ อาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) มะมิง บินมามะ อายุ 22 ปี สังกัดกองร้อยทหารพรานที่ 4607 (ร้อย ทพ.4607) หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 46 (ฉก.ทพ.46) และ อส.ทพ.ซากือระ เจ๊ะแซ อายุ 25 ปี สังกัดร้อย ทพ.4609 ฉก.ทพ.46 เช่นกัน
จากการสอบปากคำ อส.ทพ.มะมิง หนึ่งในผู้ต้องหาให้การว่า สาเหตุที่พวกเขาลงมือก่อเหตุ เพราะเชื่อว่าเจ๊ะมุเป็นคนยิง นายอับดุลเลาะ บินมามะ พี่ชาย และ นางรอกีเยาะ สระราวอ พี่สะใภ้ เสียชีวิตทั้งคู่ในพื้นที่ ต.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ เมื่อวันที่ 24 ส.ค.56 โดยขณะถูกยิง พี่สะใภ้ตั้งท้องได้ 4 เดือน โดย อส.ทพ.มะมิง เชื่อว่าพี่ชายของเขาถูกเจ๊ะมุสังหาร เพราะไปเป็นพยานในคดีที่เจ๊ะมุตกเป็นผู้ต้องหายิงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านใน ต.ไทรทอง อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี จนเสียชีวิตก่อนหน้านั้น แต่เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ ทำให้ศาลจังหวัดปัตตานีมีคำพิพากษายกฟ้อง ส่งผลให้เจ๊ะมุรอดคุก
หลังถูกจับกุม ทหารพรานทั้งสองถูกปลดออกจากราชการ จึงกลายเป็นอดีตทหารพราน และไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจังหวัดนราธิวาสตลอดมา กระทั่งเมื่อวันจันทร์ที่ 26 ม.ค.58 หรือราว 11 เดือนหลังถูกจับกุม ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดี โดยเหตุผลที่ศาลอธิบาย คือ คดีไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนฆ่า มีเพียงคำรับสารภาพของจำเลยเท่านั้น ส่วนภรรยาของผู้เสียหาย คือ พาดีละห์ ก็ไม่สามารถจดจำใบหน้าของผู้ก่อเหตุได้
คดีนี้ภาครัฐไม่ถือว่าเป็นคดีความมั่นคง แม้ผู้ก่อเหตุจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็ตาม เพราะถือว่ามีมูลเหตุจากความโกรธแค้นส่วนตัว
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เด็กในครรภ์ของพาดีละห์ กลายเป็น ด.ญ.อุมมุซซาลามะห์ หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู เด็กหญิงผิวขาวเหมือนพ่อ และติดพ่อมาก ไปไหนไปกันทุกที่ เพราะเจ๊ะมุและภรรยาเลี้ยงดูลูกเอง น้ำเสียง ท่าทางของหนูน้อยเรียกรอยยิ้มและหน้าตาเปี่ยมสุขจากเจ๊ะมุได้เสมอ ทำให้พอคลายเศร้าจากฝันร้ายที่ต้องสูญเสียลูกชายสามคนในคราวเดียว
และครอบครัวมะมันกำลังจะมีสมาชิกใหม่ออกมาลืมตาดูโลกอีกคนในเดือน เม.ย.นี้
พาดีละห์ ภรรยาวัย 35 ปีของเจ๊ะมุ ย้อนความตอนเกิดเหตุร้ายกับครอบครัวของเธอ และผลร้ายนั้นส่งผลให้แขนขวาของเธอไม่สามารถใช้งานได้เป็นปกติมาจนถึงทุกวันนี้
“ตอนถูกยิง ตอนนั้นตั้งท้องอุมมุซซาลามะห์ได้ 3 เดือน กระสุนไม่ได้ถูกท้อง ถูกที่แขนขวาอย่างเดียว โดนเส้นประสาท ต้องผ่าตัดใส่เหล็ก นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา) อยู่ 40 วัน จากนั้นก็ยืดแขนไม่ได้ ใช้งานได้ไม่เหมือนเดิม ดีที่นิ้วมือไม่เป็นอะไร ยังพอหยิบจับและขยับได้ จะผ่าเอาเหล็กออกแต่ท้องแก่ หมอนัดผ่าออกในเดือน ก.ค.ปีนี้ ส่วนลูกในท้องตอนนั้นปลอดภัย คลอดออกมาด้วยน้ำหนัก 3 กิโลกว่า เวลาให้นมก็อุ้มได้บ้าง” พาดีละห์ เล่า
ด้านเจ๊ะมุเองก็มีอาการปวดเส้นประสาทตั้งแต่สะโพกจนถึงแผ่นหลัง ด้วยสาเหตุจากการทำงานหนักมาตลอด ทั้งไถนา ทำนา และงานอื่นๆ ตามประสาชาวบ้าน เพิ่งมาออกอาการในขณะนี้ เขาไปรับการรักษาและรับยาจากโรงพยาบาลแต่ก็ยังไม่หาย ต้องเข้ารับการรักษาด้วยแพทย์แผนไทย มีการอบสมุนไพรและนวดตัว ทำให้รู้สึกดีขึ้นมาบ้าง
“ตอนนี้ทำงานหนักไม่ได้ แค่กรีดยางหน้าบ้านที่เกิดเหตุไม่ถึงไร่ แบ่งหารสอง ยางก็ราคาถูก ย้ายออกจากบ้านนั้นมาตั้งแต่เกิดเหตุ มาอาศัยบ้านน้าสาวของภรรยา ใจจริงอยากกลับไปอยู่บ้านพ่อแม่ เพราะมีแค่พี่สาวอีกคน จะได้ดูแลพ่อแม่ด้วย แต่ภรรยาอยากอยู่ใกล้ชิดญาติๆ เขา จึงสร้างบ้านใหม่ใกล้มัสยิดปะลุกาแปเราะ แต่ยังไม่เสร็จ บ้านที่เกิดเหตุก็ทำรั้วหมดแล้ว จะปลูกผักปลูกแตงโมแต่ก็ไม่ได้ปลูก”
ส่วนเงินเยียวยาที่ได้รับมา เจ๊ะมุ บอกว่านำไปซื้อสวนยาง สวนมะพร้าว กับที่ดินอีกนิดหน่อย และกำลังจะขายเพื่อเอาเงินมาสร้างบ้านต่อให้เสร็จ
สำหรับคำพิพากษาของศาลที่ว่าคดีนี้เป็นเรื่องส่วนตัวนั้น เจ๊ะมุ บอกว่า ช่างเป็นคำตัดสินที่ไม่มีความยุติธรรมกับครอบครัวเขาเลย
“จะเป็นคดีส่วนตัวได้อย่างไร เพราะเจ้าหน้าที่มาก่อเหตุชัดๆ มันไม่ยุติธรรม คาใจ เมื่อจับเจ้าหน้าที่มาได้ก็บ่ายเบี่ยงว่าเป็นคดีส่วนตัว ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐทำจะพ้นผิดตลอด ถ้าเป็นชาวบ้านทำอะไรสักนิดก็ติดคุกหรือถูกวิสามัญฯไปแล้ว หรือไม่มีเรื่องก็ทำให้มีเรื่องจนได้ จนต้องติดคุก”
เหตุร้ายที่เกิดขึ้นกับครอบครัว แม้ผ่านมานานกว่า 2 ปี แต่เจ๊ะมุไม่เคยลืม
“มันแค้นอยู่ในใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกชายทั้งสามคน ถ้าคิดว่าอัลลอฮ์ให้อยู่แค่นี้ก็พอทำใจได้ แต่ความคิดถึงลูกก็ไม่หมด ยิ่งนานยิ่งคิดถึง หมดกำลังใจในการทำงาน แต่ต้องคิดถึงลูกที่ยังอยู่ ลูกที่กำลังจะออกมาดูโลก ทำให้มีกำลังใจสู้ต่อ แต่ไม่รู้จะหาอาชีพอะไรทำ จะปลูกผักหน้าบ้านก็เหงา เมื่อก่อนมีลูกช่วยกันปลูกผัก รดน้ำทุกเย็น จะออกไปทำงานนอกบ้านก็ลำบาก เพราะเจ้าหน้าที่ยังไม่หมดข้อสงสัยในตัวเรา ไม่สบายใจในการไปทำงานที่อื่น เขาหวาดระแวงอะไรไม่รู้ ทำให้เราระแวงเขา เพราะเขามาหาบ่อยเกินไปโดยไม่มีเหตุผล เจ้าหน้าที่ระดับผู้บังคับบัญชาเคยบอกว่า เมื่อมีกำลังพลชุดใหม่มาสับเปลี่ยน ก็จะมาทำความรู้จักเช่นนี้ทุกครั้ง”
พาดีละห์ เล่าเสริมถึงการมาหาถึงบ้านของเจ้าหน้าที่ว่า หลังมีการเปิดศูนย์สันติธรรมชุมชนที่ปะลุกาแปเราะ มีเจ้าหน้าที่แวะไปบ้านที่เกิดเหตุบ่อย เพราะคิดว่าสามีของเธอเป็นแกนนำในเรื่องการจัดตั้งศูนย์สันติธรรมฯ
“เขาบอกว่าต้องเซ็นในสมุดด้วย ถามว่าเซ็นทำไม เขาว่าต้องเซ็นเพื่อให้รู้ว่ามาเยี่ยมแล้ว ถ้าเซ็นไปก็หายไปหลายวัน ถ้าไม่เซ็นก็มาหาบ่อย เขาจะมาบ่อยทำไมก็ไม่รู้ หรือมาทำสถิติ มาเดือนละครั้งก็พอแล้ว จะมาแคะหาอะไรกันอีก เขาพูดว่า ‘เห็นหน้าก๊ะก็รู้ว่าไม่อยากให้มา’ ก็บอกไปว่าไม่อยากให้มาจริงๆ มาบ่อยทำไมทั้งที่ไม่มีอะไร ไม่ต้องมา”
“เขาบอกว่ามาเยี่ยม แต่ขนมให้เด็กก็ไม่มี บอกว่ารัฐไม่มีเงิน บางครั้งก็พูดขู่ คนที่มาก็ซ้ำหน้าบ้าง ล่าสุดขอขึ้นบ้านก็ให้ขึ้น ถ่ายรูป เขาถามว่า ‘ทุกบ้านต้องมีคัมภีร์อัลกุรอานเหรอ ที่ติดข้างฝาคืออะไร เอามาจากไหน’ ก็บอกว่ามุสลิมต้องมีอัลกุรอานและอายะห์อัลกุรอานติดข้างฝาบ้านทุกบ้านเป็นเรื่องปกติ”
“หลังมีการเปิดศูนย์สันติธรรมชุมชนที่ปะลุกาแปเราะ มีเจ้าหน้าที่แวะไปบ้านที่เกิดเหตุบ่อยขึ้น ทำให้เจ๊ะมุที่กำลังวางแผนจะปลูกแตงโม ต้องระงับไว้เพราะไม่สบายใจ เขาไปทำคนเดียว เกิดอะไรขึ้นมาจะรู้ได้ไหมว่าใครทำ พูดยาก ขนาดเราเจอคดีอย่างนี้ อยู่กับบ้านเฉยๆ ยังมาหาอีก แต่เราก็ต้องอยู่” พาดีละห์ ระบายความอัดอั้น
เจ๊ะมุเสริมว่า เขาไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับการเปิดศูนย์สันติธรรมชุมชน
“ทางโครงการเขาประสานโต๊ะอิหม่าม ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่เอง ผมไม่มีความสามารถที่จะไปทำอย่างนั้นได้ เจ้าหน้าที่เขาเข้าใจผิดว่าผมควบคุมโต๊ะอิหม่าม ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านไว้ทั้งหมด ทั้งที่ความจริงไม่มีอะไร ผมเป็นชาวบ้านคนหนึ่ง แค่ช่วยสอนตาดีกาเด็กๆ เป็นความเข้าใจผิดของเจ้าหน้าที่ เรื่องเก่ายังไม่เคลียร์ มาเหมารวมอีก ถ้าผมจะก่อเหตุจริง อยู่ที่ไหนผมก็ทำได้ ใครจะคิดอย่างไรก็ตามใจเขา เราไม่ได้ทำ”
เจ๊ะมุฝากถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ชายแดนใต้ว่า ถ้าจะเชิญตัวใครไปสอบสวน ขอให้ประสานผ่านผู้ใหญ่บ้านตามลำดับ ดีกว่ามาล้อมบ้านแล้วเอาตัวไป เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และปัจจุบันยังมีการใช้วิธีการเช่นนี้อยู่
“นึกจะไปหาใคร ล้อมจับใครก็ทำ หากมีการประสานในพื้นที่ ชาวบ้านก็ไม่ตกใจ เมื่อเกิดเหตุอะไรขึ้นก็มีพยานหลักฐานที่จะหักล้างข้อมูลกันได้” เจ๊ะมุ กล่าวเสียงเครียด
แม้หลายๆ ครั้งความสูญเสียจากความรุนแรงจะเปลี่ยนชีวิตใครหลายคนไปมากจนยากที่จะทวงคืนให้เหมือนเดิมได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เกือบไม่เปลี่ยนแปลงเลยคือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่ชายแดนใต้ และความรู้สึกของคนที่นี่ที่มีต่อพวกเขาเหล่านั้น
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 และ 3 เจ๊ะมุกับลูกสาว
2 พาดีละห์ ภรรยาของเจ๊ะมุ